ราคาข้าวและพืชผลเกษตรที่ทำเอทานอลได้ กำลังพุ่งขึ้นสูงสุดขีดในขณะนี้ และมีแนวโน้มที่จะพุ่งต่อไปอีกหลายปี นับเป็นข่าวดียิ่งสำหรับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะสำหรับชาวนา เนื่องจากราคาข้าวได้ตกต่ำมาเป็นเวลาหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ เกษตรกรทั้งหลายขานรับเป็นอย่างดี ทุกคนยินปรีดาว่า ถึงคราวที่ชาวนาไทยจะรวยกันเสียที ก็คงจะมีชาวนารวยขึ้นบ้าง แต่คงต้องตั้งคำถามด้วยว่า ในท้ายที่สุด ใครเล่าจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากราคาข้าวและผลิตผลเกษตรที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างแท้จริง อีกคำถามก็คือ ในภาวะราคาน้ำมันแพงและสินค้าอาหารขาดแคลนนี้ เกษตรไทยจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิงหรือไม่? เพียงใด?

ทั้งนี้สิ่งที่จะเกิดเป็นคู่ขนานกันก็คือ ราคาที่นาที่ถีบตัวสูงขึ้นและพลังตลาดนี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนมือเจ้าของนา จากชาวนารายเล็กไปสู่เกษตรกรและนายทุนรายใหญ่อย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งภาวะการณ์เช่นที่ว่านี้ได้ก่อหวอดขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยเศรษฐกิจบูมทศวรรษ 1990 คงจำกันได้ว่าครั้งนั้นคนรวยจากในเมืองไปกว้านซื้อที่ดินชนบท เพื่อการเก็งกำไรกันเป็นว่าเล่น และอีกทั้งในช่วงหลังฟองสบู่แตก (พ.ศ.2540) นายทุนที่หลุดรอดจากเศรษฐกิจวิกฤตและมีเงินสดเยอะ ก็ได้ฉวยโอกาสกว้านซื้อที่ดินที่ราคาตกอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำผนวกกับเศรษฐกิจเมืองที่เฟื่องฟูในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ก็ยังได้ผลักดันแรงงานเกษตรให้ออกจากชนบทเข้าทำงานในเมืองกันอย่างไม่ขาดสายมาโดยตลอด พวกเขาละทิ้งอาชีพทำนากับเป็นแถว จนในขณะนี้มีรายงานจากกระทรวงเกษตรฯ ว่า อายุเฉลี่ยของชาวนาไทยอยู่ในช่วงมากกว่า 50 ปีขึ้นไป คือเป็นช่วงกลางคนแล้ว สถิตินี้บอกเราว่า ชาวนาไทยกำลังขาดผู้สืบทอด ราคาข้าวที่พุ่งกระฉูดอาจจะดึงดูดคนรุ่นใหม่บางส่วนให้หันกลับไปทำนาได้บ้าง แต่จะให้หลั่งไหลกลับไปอย่างเป็นกอบเป็นกำอาจจะยาก อีกทั้งราคาพืชผลเกษตรที่พุ่งสูง น่าจะดึงดูดให้นายทุนรายใหญ่ เข้าลงทุนเพาะปลูกกันอย่างคึกคักเสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าราคาสินค้าเกษตรดีมากๆ อย่างนี้ จะเอื้อกับการลงทุน แบบที่เรียกว่า การทำไร่ขนาดใหญ่ (plantation) ใช้เงินลงทุนสูงและจ้างคนงานประจำ ซึ่งรวมทั้งจะเกิดขึ้นในการทำนาข้าวแบบอุตสาหกรรม ที่มีการลงทุนด้านชลประทาน การปรับที่ดิน การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง การเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนและสัตว์ และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่

นักลงทุนรายใหญ่กระเป๋าหนัก ที่เข้ามาลงทุนด้านการเกษตรและได้ประกาศชัดเจนถึงแผนการในอนาคตที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อผลิตเอทานอลอย่างขนานใหญ่ คือ เจ้าสัวเจริญ ศิริวัฒนภักดี ราชาน้ำเมานั่นเอง เจ้าสัวเจริญมีที่ดินกว่า 100,000 ไร่ ใน 54 จังหวัดทั่วประเทศรวมทั้งกรุงเทพฯ ในจำนวนนี้ประมาณ 20,000 ไร่ ปลูกยางพารา บริษัทในเครือเจ้าสัวมีแผนการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นไร่ขนาดใหญ่อีก 20,000 ไร่ ภายในปี 2553 ที่หนองคาย กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี และเลย และมีแผนจะทำไร่ขนาดใหญ่เพื่อปลูกน้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าว (10,000 ไร่ ที่พระนครศรีอยุธยาและหนองคาย) และอ้อย (10,000 ไร่ ที่กำแพงเพชรและสุโขทัย) นี่เฉพาะในเมืองไทย ที่เขมรและลาวก็ได้ลงทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อผลิตพืชน้ำมันและกาแฟ อีกทั้งสร้างโรงงานผลิตน้ำมันพืช อีกเป็นจำนวนมหาศาล ใครจะคิดว่าราชาน้ำเมาเช่นเจ้าสัวเจริญจะผันตัวเองเป็นเจ้าที่ดินทำไร่ขนาดใหญ่แบบคลาสสิค ประเภทเดียวกับลาติฟันเดีย (Latifundia) ที่ละตินอเมริกาไปได้
แน่นอนว่าจะยังมีนายทุนรายใหญ่อื่นๆ อีกมากมายที่มีเงินทุนและแรงหนุนจากธนาคารและรัฐบาลให้เข้าลงทุนทำไร่ขนาดใหญ่เพื่อปลูกพืชที่จะผลิตเอทานอลได้ และเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีความต้องการสูงเช่นยางพาราอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนรายใหญ่จะมีภาษีเหนือกว่าเกษตรกรรายเล็กอย่างแน่นอน ในด้านการลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำ และอื่นๆ ซึ่งราคาก็สูงเช่นกัน กระนี้แล้วเกษตรกรรายย่อยจะสู้นักลงทุนรายใหญ่ไปได้สักกี่น้ำ อีกทั้งราคาที่ดินเกษตรก็จะพุ่งขึ้นตามเป็นเส้นขนาน หากปรากฏการณ์นี้ส่งแรงจูงใจให้เกษตรกรรายย่อยขายที่ดินเพื่อจะรวยเสียที หรือเพื่อเอาทุนไปเปลี่ยนอาชีพ เราก็จะได้เห็นการเปลี่ยนมือของที่ดินเกษตรจากเกษตรกรรายย่อยสู่นายทุนทำไร่ขนาดใหญ่กันอย่างกว้างขวางทีเดียว

นอกจากนั้นก็จะมีแรงกดดันจากภาคธุรกิจไปยังรัฐบาลให้สัมปทานแก่เอกชน นำที่ดินที่ถูกจัดเป็นป่าเสื่อมโทรมไปปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ หรือมีการลักลอบนำที่ป่ามาทำพืชไร่ อย่างที่เกิดขึ้นในอดีต และได้นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งด้านที่ดินระหว่างชาวบ้านกับเอกชนกับรัฐบาล ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จะปะทุขึ้นมาอีก เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า การเกษตรไทยจะเปลี่ยนโฉมอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จากเกษตรที่ชาวนาส่วนใหญ่เป็นชาวนารายเล็ก กลายเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง (รวมทั้งกรณีข้าวด้วย)

ดังนั้น ในกระบวนการนี้ ผู้ได้ประโยชน์เป็นอย่างมากโดยเปรียบเทียบก็จะเป็นเกษตรกรรายใหญ่ หรือนายทุนทำกิจการเกษตรขนาดใหญ่นั่นเอง
ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรไทยนั้น ความเห็นของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ นักลงทุนชั้นเซียนด้านธุรกิจการเกษตร ซึ่งแสดงในการบรรยายเรื่อง ‘ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย’ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดในภาคการเกษตรของไทยได้เป็นอย่างดี เจ้าสัวธนินท์เปรียบผลผลิตเกษตรไทยว่าเป็น ‘น้ำมันบนดิน’ ภาวะอาหารขาดแคลนเนื่องจากการเอาที่ดินที่เคยปลูกธัญญพืชไปปลูกพืชที่ทำเอทานอลได้ และภาวะอากาศแล้งจากปัญหาโลกร้อนที่ทำให้พื้นที่ลุ่มปลูกข้าวได้ลดลง ได้ส่งผลให้ราคาพืชอาหารถีบตัวสูงอย่างชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประเทศที่มีพื้นที่เกษตรแถบภูมิภาคอากาศร้อนแบบไทย จึงจะได้ประโยชน์มหาศาล เสมือนมีน้ำมันบนดิน แต่จะทำการเกษตรแบบชาวนารายเล็กลงทุนน้อยอยางที่ผ่านมาในอดีตถือว่าหมดสมัย เพราะผลิตผลต่อไร่ต่ำ ทำไปไม่คุ้ม จะต้องปรับเป็นการทำนาไร่แบบอุตสาหกรรมคือ การทำไร่ขนาดใหญ่ ทำทีเป็นหมื่นๆ แลนๆ ไร่ ลงทุนด้านการชลประทาน การปรับที่ดินให้เป็นมาตรฐาน ใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อย่างเต็มที่ ใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน กอร์ปกับต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนด้านกฎระเบียบให้เอื้อกับการทำไร่ขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยจัดการด้านสถาบัน

เจ้าสัวธนินท์บอกว่า ที่นาเราขณะนี้ 67 ล้านไร่ ไม่ต้องทำทั้ง 67 ล้านไร่หรอก หากทำนาแบบนาอุตสาหกรรมอย่างที่กล่าวข้างต้น คือทำเหมือนเลี้ยงไก่ ทำนาปีละ 3 ครั้ง ลงทุนเต็มที่ให้ได้ผลผลิตสูงๆ ถึงระดับสากล ไม่ต้องให้ถึงไร่ละ 1,000 กิโลหรอก เอาแค่ไร่ละ 800 กก. ก็พอ (ขณะนี้ทำได้เพียงไร่ละ 400 กก.) ใช้ที่ปลูกข้าวแค่เพียง 25 ล้านไร่ก็จะได้ข้าวปีละ 60 ล้านตัน คิดเป็น 2 เท่าของที่ผลิตได้ในปัจจุบัน มากพอที่จะเอาไว้กินใช้เอง บวกมีเหลือไว้ขายออกอีกต่างหาก (ขณะนี้ส่งออกประมาณปีละ 10-12 ล้านตัน) พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวยังเหลืออีกตั้ง 40 กว่าล้านไร่ เจ้าสัวธนินท์จึงเสนอให้ปรับที่นาเอาไปปลูกยางพาราเสียสัก 30 ล้านไร่ แล้วเอาอีก 12 ล้านไร่ ไปปลูกปาล์มน้ำมันในที่ลุ่มเพราะชอบน้ำ แล้วเจ้าสัวก็ประมาณการราคาสินค้าต่างๆ บวกลบคูณหาร แจงให้เห็นว่า เฉพาะที่ 67 ล้านไร่นี้ ถ้าวางแผนให้เจ๋งๆ ทำเกษตรอุตสาหกรรม ก็จะได้ผลผลิตคิดเป็นมูลค่า 2.367 ล้านล้านบาท เทียบกับสินค้าเกษตรขณะนี้ทำได้รวมแล้ว 542,000 ล้านบาท

เจ้าสัวสรุปด้วยคำว่า ‘ผมเชื่อมั่น’ สินค้าเกษตรของไทยคือ ‘ทองคำ’ โอกาสทองมาถึงแล้ว เกษตรกรไทยจะลืมตาอ้าปาก สิ่งที่พูดจะเกิดขึ้นและรัฐบาลต้องสนับสนุน ยอมให้เกิดขึ้นอย่าไปอั้นราคาเอาไว้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้ขยายการลงทุนไปสู่พืชเศรษฐกิจสำคัญๆ เหล่านี้แล้ว
ฟังจากเจ้าสัวธนินท์แล้ว ก็ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า แรงกระตุ้นของตลาดจะเป็นตัวเร่งให้ภาคเกษตรไทยเปลี่ยนแปลงจากระบบเกษตรชาวนารายเล็กไปเป็นเกษตรอุตสาหกรรม มีนายทุนรายใหญ่เป็นผู้นำ แนวโน้มนี้ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจพึ่งตนเอง และเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
ราคาข้าวยังพุ่งกระฉูดต่อไป ฤๅเกษตรไทยถึงคราจะต้องถูกปฏิวัติกันเสียแล้วคราวนี้

ที่มา : ผาสุก พงษ์ไพจิตร .. ดุลยภาพดุลยพินิจ มติชน 23 เม.ย. 51