หากเราต้องการทราบสภาพการดำรงชีวิตประจำวัน ลักษณะนิสัย ตลอดจนความรู้ และความนิยมในการหาอยู่หากินของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโฮโลซีนตอนปลาย คือตั้งแต่ราวหนึ่งหมื่นปีที่แล้วเป็นต้นมาในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน เราคงต้องสืบหาเค้าเงื่อนนี้จากหลักฐานด้านโบราณคดี และพยายามเติมเต็มภาพรวมในสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ลงมาด้วยหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์และวรรณคดีโบราณ

แม้งานค้นคว้าด้านนี้ของนักโบราณคดีไทยยังมีไม่มากนัก แต่ก็สามารถให้ภาพกว้างๆ ได้ว่า ในยุคแรกเริ่มหาของป่าล่าสัตว์ มนุษย์เก็บพืชผักจากป่าธรรมชาติมากินถึงกว่าร้อยละ 80 ของสัดส่วนอาหารทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นช่วงยุคก่อนเกษตรกรรม (ราว 3,000 B.C.) ซึ่งยังไม่มีการเพาะปลูกข้าวด้วยแล้ว การเก็บหาพืชที่สะสมอาหารในรูปของแป้ง เพื่อชดเชยความต้องการคาร์โบไฮเดรตคงกระทำกันอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะขุดเผือก มันชนิดต่างๆ หัวกลอย โดยเฉพาะลูกสาเก ซึ่งเป็นพืชยืนต้นที่พบหลักฐานในชั้นดินว่าขึ้นอยู่ในดินแดนแถบนี้มานานหลายพันปีแล้ว

การขุดค้นของ Chester F Gorman นักโบราณคดีอเมริกันเมื่อ ค.ศ. 1972 ที่ถ้ำผี แม่ฮ่องสอน ได้พบหลักฐานเมล็ดพืชทั้งพืชล้มลุกและยืนต้นหลายชนิดบริเวณด้านในสุดของถ้ำ ซึ่งคงเป็นแหล่งสะสมอาหาร หรือ “ก้นครัว” นั่นเอง และจากการวิเคราะห์เมล็ดอย่างละเอียดของนักวิชาการญี่ปุ่น คือ ดักลาส เยน พบว่ามีพืชหลายชนิด เช่น

Canarium album มะเกิ้ม มะกอกเลื่อม หรือมะกอกเกลื้อน

Madhuca pierrei มะซาง หรือละมุดสีดา

Prunus percica อัลมอนด์ หรือท้อ 

Areca catechu L. หมาก

Piper nigrum พืชจำพวกพลู ดีปลี และพริกไทย

Aleurites มะยาวหรือมะเยา

Castanopsis ภาคเหนือเรียก “ก่อหยุม”

นอกจากนี้ Gorman ยังขุดค้นเพิ่มเติมที่ถ้ำผาชัน ในบริเวณใกล้เคียงกัน และได้พบ Mangifera คือมะม่วงพันธุ์หนึ่งด้วย ความรู้เกี่ยวกับการกินพืชธรรมชาติในสมัยโบราณคงเป็นที่รู้กันอย่างปกติธรรมดา ตัวอย่างที่บ่งชี้ให้เห็นนี้อยู่ในพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ที่ว่า

“…อนึ่งเมื่อท่านมาถือฤๅษีพรตในที่ห่างไกลมนุษยพิสัย ไม่มีที่พิขาจารย์อันย่อมแสวงหามูลผลาหาร ซึ่งเปนของเกิดในป่าดงพงไพร ไม่มีใครหวงครองเปนเจ้าของรักษานั้นๆ มาบริโภคฉันอยู่ฤๅ ข้าพเจ้าคาดการว่า ท่านจะถือเช่นนี้จึงอยู่ได้ ก็มันต่างๆ อย่างน้อยใหญ่ และรากไม้ที่ควรเป็นอาหาร และผลไม้ใหญ่น้อยมีตระการต่างๆ มีอยู่มาก หาไม่ยาก มีพอเก็บได้ตลอดทั่วไปมีอยู่มากฤๅเจ้าข้า…”

โดยเฉพาะผักธรรมชาติซึ่งเก็บกินได้ในภูมิประเทศนั้น การหาเก็บคงเป็นไปอย่างที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้เขียนหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์  ระบุว่า ใช้ได้ทั้ง “…บรรดาที่เปนพืชน์คามเปนไม้ที่ไม่มีพิศม์ให้มึนเมาเปนของแสลงแล้ว ซึ่งเกิดมีอยู่ธรรมดาโดยมากใช้ได้แทบทั้งนั้น ตลอดถึงดอกและผลลำต้นมูลรากด้วย…” (แม่ครัวหัวป่าก์, 2451)

เรียกว่าภูมิปัญญาในการเก็บของกินจากธรรมชาติของคนโบราณนั้นแทบไร้ขีดจำกัดเลยทีเดียว ดังคำบอกเล่าเก่าชุดหนึ่งซึ่งมีนัยบ่งบอกถึงจำนวนอันนับประมาณมิได้ของพืชกินได้ในป่าธรรมชาติ คือบอกว่า หากหลงป่า แล้วไม่รู้จะเก็บพืชผักใดมากิน (คือไม่รู้ว่าชนิดไหนกินได้บ้าง) ให้ลงนั่งยองๆ ยื่นมือควานไปรอบตัว เมื่อคว้าหยิบจับอะไรได้ก็ให้เด็ดมากินได้เลย ดังนี้เป็นต้น

ยิ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับตัวบทในวรรณคดีโบราณบางบท ก็จะเห็นว่า ความรู้เรื่องการจัดจำแนก เรียกชื่อพืช โดยเฉพาะพืชยืนต้นนั้นละเอียดลออจนน่าอัศจรรย์ เช่น บทชมไม้ในลิลิตตำนานพระชิณศรี สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ว่า

“…หวดเหียมหาดแหนหัน  จันทร์จวงจันทร์แจงจิก  ปริงปรงปริกปรูปราง  คุยแคควงค้อเค็จ  หมู่ไม้เพล็ดไม้พลอง  หมู่ไม้ฟองไม้ไฟ  ไม้ไผ่ไพรไม้โพธิ์  ไม้ตะโกตะกู  ไม้ลำพูลำแพง  หมู่ไม้แดงไม้ดัน  ไม้สมพันสารภี  ไม้นนทรีการบูร  คูนกำกูนกำยาน  ไม้พิมานเขลงขลาย  ไม้กำจายกะจับบก  ไม้กะทกรกสักสน  วิวันดลหมู่ไม้  กล่าวแต่ที่จำได้  อื่นนั้นยังเหลือ แหล่นาฯ”

นอกจากนี้ หลักฐานในคัมภีร์พุทธวงศ์ และตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งระบุชนิดของควงไม้ที่พระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ประทับใต้ต้นขณะตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขนั้น แสดงให้เห็นถึงความรู้ของคนโบราณเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ยืนต้นได้อย่างชัดเจน

ในขณะที่พระสมณโคดมประทับใต้ควงไม้โพธิ์ศรีมหาโพธินั้น พระอดีตพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ก็เลือกประทับใต้ควงไม้ต่างๆ กันไป เช่น

พระทีปังกร ประทับใต้ควงไม้เลียบ

พระปทุมะ ประทับใต้ควงไม้อ้อยช้าง

พระสุเมธะ ประทับใต้ควงไม้สะเดาป่า

พระปิยทัสสี ประทับใต้ควงไม้กุ่ม

พระสิขี ประทับใต้ควงไม้มะม่วงป่า

พระกะกุสันธะ ประทับใต้ควงไม้ซึก

พระโกนาคมนะ ประทับใต้ควงไม้มะเดื่อ

พระกัสสปะ ประทับใต้ควงไม้กร่าง

และพระศรีอาริยเมตไตรย์ พระอนาคตพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้เป็นองค์ต่อไปนั้น คัมภีร์ระบุว่าจะประทับใต้ควงไม้กากระทิง คือต้นกระทิง (Alexandrian laurel) นั่นเอง

ร่องรอยใน “ชื่อบ้านนามเมือง”

หลักฐานสำคัญอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความหมายและการยึดโยงอย่างสำคัญระหว่างพืชยืนต้นกับชีวิตทางสังคมของชุมชนหมู่บ้านไทยแต่เดิม ก็คือ “ชื่อบ้านนามเมือง”

ส่วนใหญ่ของชื่อบ้านนามเมืองในดินแดนประเทศไทยนั้น หากไม่แสดงถึงลักษณะภูมิประเทศเด่นๆ เช่น บ้านจอมบึง เขากลางตลาด บ้านโคกสูง บ้านกระทุ่มแบน คลองขวาง เขาขาด ฯลฯ ก็มักจะใช้ชื่อสัตว์ เช่น โป่งกระทิง หนองงูเหลือม หนองงูเห่า บ้านไก่เตี้ย หนองเอี่ยน แต่ที่มีมากที่สุด คือใช้ชื่อต้นไม้ใบไม้ซึ่งคงเคยมีมากในพื้นที่นั้นมาแต่เดิมมาเป็นชื่อเรียกตำบลหมู่บ้าน หรือชื่อแม่น้ำลำคลอง ห้วยหนองคลองบึงด้วย

ชื่อบ้านนามเมืองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการกำหนดจดจำพื้นที่ที่มีพืชลักษณะเด่นพิเศษ และยังเป็นหลักฐานให้สืบค้นได้ในภายหลังถึงร่องรอยพันธุ์ไม้ที่เคยมีมากในภูมิประเทศนั้นๆ แม้ว่าปัจจุบันจะสูญพันธุ์หมดไปจากพื้นที่แล้วก็ตาม

ตัวอย่างเช่น

บ้านทุ่งกระถิน อำเภอจอมบึง ราชบุรี

บ้านชะมวง อำเภอควนขนุน พัทลุง

บ้านอีหล่ำ อำเภออุทุมพรพิสัย ศรีสะเกษ

บ้านมะเดื่อหวาน อำเภอเกาะพงัน สุราษฎร์ธานี

บ้านทุ่งมะส้าน อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน

บ้านหนองกันเกรา อำเภอบ้านนา นครนายก

บ้านโนนส้มกบ อำเภอแก้งคร้อ ชัยภูมิ

บ้านคลองมะงั่ว อำเภอบ้านค่าย ระยอง เป็นอาทิ

เสาะหาเสาะเก็บ

งานประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ ซึ่งศึกษาสภาพสังคมไทยช่วงต้นรัตนโกสินทร์บางชิ้น เสนอภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนเริ่มพุทธศตวรรษที่ 26 ว่า ในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะเมืองหลวง เริ่มมีคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น มีการยกร่องทำแปลงผักสวนครัวและพืชสวนหลายชนิดเพื่อขาย เช่น พริกไทย ยาสูบ กาแฟ และผัก โดยเฉพาะ “ผักจีน” ที่เป็นที่รู้จักกันดี และต้องการการดูแลรักษาในอีกแบบหนึ่ง ดังที่หนังสือตำรับสายเยาวภา ระบุไว้ชัดเจนว่า ผักจีนประกอบด้วยต้นหอม ผักชี ผักกาดขาว ผักกาดปลี ใบคะน้า ใบกุยช่าย ผักตั้งโอ๋ ผักปวยเล้ง เป็นอาทิ

แม้ผักจีนจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและประกันปริมาณผลผลิตได้มากขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่ก็คงไม่ใช่ผักที่คนส่วนใหญ่จะซื้อหามากินได้ ซึ่งคงเนื่องจากทั้งข้อจำกัดของการติดตลาด การขนส่ง ความคุ้นชินรสชาติ และราคา ดังที่มีบันทึกเก่าๆ ของผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในต่างจังหวัด ห่างไกลความเจริญ ว่า “..สมัยก่อนตื่นมายังไม่ได้ทำ (กับข้าว) ต้องไปหาผักก่อน เพราะไม่มีตลาด แล้วจึงมาทำ..” (คำบอกเล่าของคุณยายเสาวลักษณ์ รามสูต, หนังสือจานอร่อยจากปู่ย่า สูตรโบราณ 100 ปี, 2557)

การ “หาผัก” ของคนสมัยครึ่งศตวรรษก่อนคงหมายถึงการหาเก็บตามป่าข้างบ้าน ตามพื้นที่ที่มีพืชทั้งที่เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น พืชล้มลุกอายุยืน และพืชยืนต้นขึ้นอยู่ แน่นอนว่าขอบเขตการหานี้ย่อมสัมพันธ์กับระยะทางและเงื่อนไขด้านความปลอดภัยด้วย ทั้งจากแมลงสัตว์กัดต่อย และสัตว์ผู้ล่า เช่นเสือ หมาไน งูพิษ จระเข้ ซึ่งแต่ก่อนย่อมมีมากมายชุกชุมทั้งบนบกและในน้ำ ยังให้เกิดอันตรายได้มากกว่าปัจจุบัน

ดังนั้น แม้ว่าพื้นที่ป่าบางประเภท บางพื้นที่ จะเคยอุดมสมบูรณ์จนมีผักยืนต้นให้เก็บกินได้มาก อย่างเช่นคำบอกเล่าของปรีดา ข้าวบ่อ ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในป่าเขตอีสานตอนล่างในช่วงสั้นๆ ของต้นทศวรรษ 2520 ที่เล่าว่า บางบริเวณยังมีป่าสะตอกินพื้นที่กว้างขวาง จนสามารถปีนขึ้นไปเก็บกินและกักตุนเป็นเสบียงได้จำนวนมาก แต่ในสมัยนั้น ด้วยปัญหาความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมือง การเดินป่าที่แม้มีสภาพค่อนข้างเป็นป่าดงดิบก็ใช่ว่าจะกระทำได้เป็นปกติวิสัย

อย่างไรก็ดี คุณสมบัติของผักยืนต้น ในฐานะที่เป็นพืชอายุยืน ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยน้ำและอาหารจากใต้ดินระดับลึกนั้น เอื้ออำนวยให้การเก็บเกี่ยวนอกฤดูกาลปกติทำได้มากกว่าผักล้มลุกที่ต้องอาศัยแร่ธาตุและความชุ่มชื้นของน้ำผิวดินเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโต

วิธีที่มักใช้กันก็คือ เมื่อกำหนดพื้นที่ที่จะเก็บได้แล้ว ก็ตัดฟันกิ่งขนาดใหญ่ กระทั่งตัดลำต้นลงหนึ่งในสาม หรือครึ่งหนึ่ง เพื่อให้แตกยอดอ่อนจำนวนมากในระยะอันสั้น โดยมากใช้ได้ดีกับไม้เนื้ออ่อน เช่น มะรุม ซึก มะกล่ำตาช้าง (อีหล่ำ) วิธีนี้จะได้ยอดอ่อนที่ใหญ่ อวบน้ำ รสชาติดี จะสังเกตได้ว่ายอดผักยืนต้นส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายตามรอบนอกตลาดสด โดยพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นคนพื้นเมือง จะมีลักษณะดังกล่าวนี้ ซึ่งน่าจะแสดงถึงการวางแผนและจัดเตรียมตามขั้นตอนกระบวนการ เพื่อให้ได้มาซึ่งผักที่มีคุณภาพดี นั่นก็คือ แม้จะเก็บหาได้ทุกฤดูกาล แต่ก็จำเป็นต้องมี “ความรู้” บางอย่างกำกับการหาการเก็บด้วย

ส่วน “ความรู้” และการเพิ่มพูนความรู้ว่าพืชผักชนิดใดกินได้ กินไม่ได้ รสชาติดีหรือไม่ดี น่าจะได้กระทำกันต่อเนื่องโดยตลอดช่วงเวลานับร้อยนับพันปี ตัวอย่างกรณีนี้มาจากการสอบถามผู้คนในชุมชนกะเหรี่ยงโพล่วง เขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี ในช่วงหนึ่งของการเก็บข้อมูลภาคสนามของอาจารย์บัณฑิต ไกรวิจิตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี)

คำตอบที่คนกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ตอบอาจารย์บัณฑิตนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา สะท้อนให้เห็นวิธีที่ง่ายและรวบรัดที่สุดในการทดลองเพื่อหาอยู่หากินในเขตพื้นที่ป่าดงดิบชายแดนตะวันตก

ขอคัดข้อความในบันทึกภาคสนามที่อาจารย์บัณฑิตเคยเผยแพร่ไว้ในโซเชียลมีเดีย (พฤศจิกายน 2558) มาแสดงในที่นี้ โดยตัดทอนบางส่วนเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น

“….ทางเดินค่อนข้างลำบาก เราใช้ถนนที่องค์การบริหารส่วนตำบลทำไว้ ช่วงที่ตัดออกไปจากถนนก็จะพบพืชอาหาร เช่นหวายหลายชนิด มีหวายน้ำผึ้ง หวายขม สะตอป่า”

“ช่วงขณะหนึ่งผมเห็นละเหมี่ยเด็ดใบไม้บางชนิดมาเคี้ยวชิม แล้วพ่นทิ้งไป เลยถามว่านั่นผักอะไร ละเหมี่ยว่าในป่ามีผักเยอะมาก จึงถามต่อว่า อะไรเป็นผักและอะไรไม่ใช่ผัก ละเหมี่ยบอกว่า ผักก็กินได้ ที่ไม่กินไม่ใช่ผัก (ผักเรียกว่า “ชะดู”)

“ถามต่อว่า ที่ไม่กินคือเป็นพิษหรือเปล่า ละเหมี่ยขยายความให้ฟังว่า ที่ไม่กินเพราะไม่อร่อย ถ้าไม่มีอะไรกินก็กินได้เยอะแยะไปหมด ตอนเดินป่าด้วยกันเห็นมั้ยว่าหลายอย่างมันก็ไม่อร่อย แต่มันเยอะ ถ้ารีบก็กินที่เก็บง่ายๆ นั่นแหละ เราต้องชิมไปเรื่อยๆ รู้จักชื่อมั่งไม่รู้จักมั่ง แต่เคยกินแล้วก็จำได้ว่ามันเป็นผักกินได้ สังเกตว่าใบไม้ที่กินได้สัตว์อื่นมันก็กิน

“ผมเลยถามต่อว่า เมื่อกี้นี้ที่พี่ชิมแล้วมันอร่อยมั้ย เขาบอกว่าไม่อร่อย ผมถามว่าถ้าอร่อยจะทำยังไง เขาบอกก็เอาไปกิน ลูกเราได้กินมันก็จะรู้ บางทีตอนเดินป่าทำไร่ด้วยกันก็ชิม แล้วก็ให้ลูกกินด้วย แล้วก็บอกชื่อไว้ให้มันรู้

“ผมถามอีกว่า ถ้าไม่รู้จักชื่อล่ะ เขาบอกก็เอาไปถามคนอื่นที่เขารู้จัก บางชนิดเราไม่รู้จัก แล้วเอาไปถามก็ไม่มีใครรู้จัก เราก็ต้องตั้งชื่อ ก็แล้วแต่เรา ว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร”

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการหาผักเพิ่มอยู่ตลอดเวลา คนกะเหรี่ยงไม่ได้กินพืชผักที่รู้จักแล้วเท่านั้น แต่ค้นหาผักใหม่ๆ อยู่เสมอ ถ้าพบว่าพืชชนิดใดกินได้ ก็จะนับเป็น “ชะดู” ถ้ากินแล้วไม่ชอบ ก็ไม่ใช่เพราะกินไม่ได้ แต่เพราะไม่อร่อย ไม่ถูกใจ

อาจารย์บัณฑิตถามคำถามที่ได้รับคำตอบน่าสนใจไม่น้อย คือเมื่อถามว่า “พี่มีผักกี่อย่าง”  คำตอบของคนกะเหรี่ยงคือ

“ใครจะไปจำได้ ที่ลืมไปก็ลืมไปนั่นแหละ พอเราไปกินข้าวบ้านอื่น เขาเอามากิน เราก็จำได้ มันก็กินเหมือนกันนั่นแหละ ไอ้ที่อร่อยๆ มันก็จะรู้จักกันเยอะ ตอนผักมันขึ้น ยอดออก หน่อออก ก็กินกันทุกบ้าน แต่เราก็หาผักใหม่เพิ่มตลอด”

แน่นอนว่าความรู้เหล่านี้ถ่ายเท บอกต่อกันได้ อยู่ที่ว่าจะเลือกกินหรือไม่ เช่น คนกะเหรี่ยงที่บ้านสะเนพ่อง ทางตะวันตกของทุ่งใหญ่นั้นไม่กินดอกและเกสรทุเรียน แต่รู้ว่าคนกะเหรี่ยงฝั่งพม่ารู้จักกิน และยังยอมรับว่า ทางฝั่งพม่านั้น เขา “กินหลากหลายกว่าเรา” เป็นต้น

ร่องรอยในหลักฐานเอกสารเก่าจำนวนมากยังยืนยันถึงความรู้ของคนโบราณที่จะใช้ประโยชน์จากต้นไม้ใหญ่และไม้ยืนต้นชนิดและขนาดต่างๆ ลำพังการเลือกใช้เนื้อไม้เพื่อทำฟืนนั้นก็มีรายละเอียดแจกแจงชัดเจนมากมายว่าควรใช้ฟืนไม้ชนิดใดทำการใดจึงจะเหมาะสม ในทำนองเดียวกันคนโบราณจึงย่อมรู้จักกินพืชผักยืนต้นเหล่านี้ด้วยวิธีต่างๆ อันน่าจะเป็นความรู้ที่สั่งสมสืบทอดมาอย่างยาวนานแล้ว

ดังเช่น ตำรับสายเยาวภา ตำราอาหารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท มีระบุในความรู้ชุดหมวดผักใบและยอด ถึงวิธีการกินดอกไม้ใบไม้ ฝัก และผลของผักยืนต้นที่คนปัจจุบันส่วนใหญ่แทบไม่รู้ว่ากินได้แล้ว เช่น ยอดโศก ใบคูน (ราชพฤกษ์) ดอกพะยอม ดอกทุเรียน ดอกทองกวาว ดอกนุ่น ดอกงิ้ว ฝักหางนกยูง ผลมะตูมอ่อน ผลสมอทะเล ผลตาลเสี้ยน ผลกะเบา ผลมะเดื่อ เป็นอาทิ

แน่นอนว่า ความรู้ที่เคยมีมากมายเหล่านี้คงสาบสูญไปไม่น้อย ดังที่เรายังไม่อาจเข้าใจกลอนวรรคหนึ่งในงานเขียนนิราศผลงานของสุนทรภู่ กวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ว่า “อร่อยนักรักอ่อนปลาช่อนย่าง”  ได้ ว่าสุนทรภู่ท่านได้ไปกินยอดรักชนิดไหน รักที่ใช้น้ำยางในกระบวนการลงรักปิดทอง หรือรักที่ใช้ดอกตูมประดับตกแต่งพานพุ่ม

หรือว่ากลอนวรรคนี้เป็นเพียงแค่ “ความเปรียบ” กันแน่..

ฤดูกาล

เงื่อนไขตามธรรมชาติอีกประการหนึ่งของการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากผักยืนต้น ก็คือ “ฤดูกาล” ยกเว้นผักที่นิยมกินยอดอ่อนและใบ ซึ่งอาจควบคุมด้วยการเลือกตัดฟันกิ่งได้ดังกล่าวข้างต้น ในส่วนของผักกินดอก ผล ฝัก หรือเมล็ด ยังจำต้องอาศัยข้อแม้ คือฤดูกาลเป็นสำคัญ เนื่องเพราะระยะเวลาการออกดอก ติดผล และแพร่เมล็ดพันธุ์ของพืชผักยืนต้นส่วนใหญ่มีระยะเวลาค่อนข้างแน่นอนตายตัว

แต่อย่างไรก็ดี จากการสังเกตที่ใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็พบว่ามีสมมุติฐานเชิงประจักษ์ที่ขัดแย้งกับข้อสรุปดังกล่าวหลายประการ เช่น พืชที่มีระยะออกดอกครั้งใหญ่ครั้งเดียวในรอบปี เช่น ต้นคูน ซึ่งเคยเชื่อกันว่าจะออกดอกพร้อมๆ กันในช่วงกลางฤดูร้อน ราวเดือนเมษายน ทว่าบางครั้งกลับได้พบเห็นดอกคูนหรือราชพฤกษ์หลายแห่งหลายต้นที่บานดอกล่าช้าไปถึงช่วงต้นฤดูหนาว

หรือพืชกินดอกในพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ต้างหลวงนั้น เอกสารทั่วไปมักระบุว่าจะบานดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม แต่เราก็มักพบดอกต้างหลวงช่อใหญ่ๆ ได้ทุกช่วงปลายปีถึงต้นปีใหม่ วางขายตามตลาดสดในเชียงใหม่ เชียงราย และเขตภาคเหนือตอนบน

ดังนั้น ระยะเวลาการบานดอกและติดผลของผักยืนต้นจึงคงระบุได้เพียงช่วงกว้างๆ ของฤดูกาล ทั้งยังขึ้นอยู่กับความแปรปรวน ล่าช้าผิดเวลาของลมฟ้าอากาศในแต่ละปีด้วย

การสูญหาย : ความรู้และความรู้สึก ?

มีตัวเลขประมาณการเกี่ยวกับความหนาแน่นของป่าไม้ทำนองว่า พื้นที่ป่าในประเทศไทยลดลงจากที่เคยมีกว่าร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศ ใน พ.ศ. 2504 เหลือเพียงร้อยละ 31.57 ใน พ.ศ. 2558 การหายไปของพืชผักยืนต้นจำนวนมากพร้อมกับพื้นที่ป่าไม้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ย่อมส่งผลเป็นความสูญหายทั้งต่อจำนวนสูตรอาหาร และการรับรู้รสชาติที่เคยหลากหลาย

เมื่อคนไม่ได้กินสำรับพื้นบ้านอย่างเลียงผักซึก ต้มผักอีหล่ำ (มะกล่ำตาช้าง) แกงดอกนางแลว หรือดอกหมากเค็งลวกนานเข้า ปุ่มรับรสในลิ้นก็ย่อมลืมเลือนรสขมอ่อนๆ ที่มีความมันกรุบกรอบเจือปน จนไม่สามารถขยายเพดานความพึงใจในรสชาติออกไปสู่การสร้างสรรค์ ปรุงแต่ง ผสมผสานกับข้าวจานใหม่ๆ ได้ อย่าว่าแต่ตำรับโบราณที่เคยมีอยู่แต่ก่อนก็ย่อมสูญหายไปตามวัตถุดิบที่หายากหรือไม่รู้จักเอามากินกันแล้ว เช่น พล่าดอกพะยอม หรือแกงส้มดอกอโศกน้ำ เป็นอาทิ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะสำคัญในโลกสมัยใหม่ แม้จะเป็นโดยทางอ้อม ก็คือการหายไปของผักยืนต้น ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ความต้องการบริโภคผักยิ่งทวีขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้น ย่อมบีบบังคับให้คนต้องหันไปบริโภคผักสวน หรือ “ผักจีน” ที่เรียกกันมาแต่เดิมมากขึ้นโดยปริยาย

แน่นอนว่า ผักล้มลุกใบอ่อนเหล่านี้ประสบปัญหาความอ่อนแอ โรคติดต่อ และแมลงศัตรูพืชมาโดยตลอด จนต้องแก้ไขและกำจัดด้วยวิธีฉีดพ่นสารเคมีพิษ ตลอดจนหลายแห่งเริ่มก้าวล่วงเข้าสู่กรรมวิธีสมัยใหม่ในการตัดต่อดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) เข้าช่วยอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี หากพูดให้ถึงที่สุด การ “สูญหาย” ของบางสิ่งบางอย่างนั้น มันอาจไม่ได้หายไปจริงๆ หากแต่เป็นอาการหายไปจากความรับรู้ ความสนใจของผู้คนก็เป็นได้

ปัจจุบัน หากเราเดินซื้อของจับจ่ายในตลาดสดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จะพบว่ามีแผงจำหน่ายผักพื้นบ้าน (ไม่ใช่ผักจีน) ทั้งที่เป็นผักล้มลุก ยอดไม้เลื้อย และผักยืนต้น อย่างน้อยเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 5 – 10 % ของแผงผักรวมทั้งตลาดเสมอ สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยชัดเจนในช่วงราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้สัมพันธ์โดยตรงกับอัตราการเคลื่อนย้ายเข้ามาทำงานใช้แรงงานในเมืองใหญ่ของคนหนุ่มสาวจากภูมิภาคต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหัวเมืองปักษ์ใต้และอีสาน

ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติบอกเราว่า อัตราส่วนการย้ายถิ่นฐานเข้าทำงานในกรุงเทพฯ และเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในช่วงทศวรรษที่แล้วอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 (ข้อมูล พ.ศ. 2543) ในแง่นี้จึงกล่าวได้ว่า “ตลาด” ได้ติดตาม “ผู้คน” เข้ามานั่นเอง

ผักพื้นบ้านชื่อแปลกๆ หน้าตาไม่คุ้นเคย ที่แต่ก่อนแทบไม่เป็นที่รู้จักในเมืองนั้น ปัจจุบันเริ่มทยอยขึ้นทำเนียบแยกย่อยเป็นกลุ่ม “ผักพื้นบ้าน” ปรากฏตัวเลขราคาซื้อขายขึ้นลงอยู่ในสารบบของกิจการตลาดขายส่งขนาดใหญ่ อย่างเช่นตลาดไท กรุงเทพฯ หรือตลาดศรีเมือง ราชบุรี แสดงถึงการ “เลื่อนชั้น” เปลี่ยนแปลงนิยามความหมายของตัวผักเองไปตามกระแสความต้องการการบริโภคที่เปลี่ยนไป

และดูเหมือนการบริโภคผักพื้นบ้านในระบบตลาดขนาดใหญ่นี้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ

แน่นอนว่า แผงผักพื้นบ้านดังกล่าวนี้ยังไม่ปรากฏในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งซื้อผักของ “คนเมือง” อันได้แก่ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตประจำวันผ่านการให้บริการในรูปแบบต่างๆ ของห้างสรรพสินค้า ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ขณะที่ “ตลาดบน” ไม่มีพื้นที่ให้ผักพื้นบ้าน หากทว่าบรรยากาศใน “ตลาดล่าง” นั้นเต็มไปด้วยกระแสความเคลื่อนไหวอันคึกคัก

ในแง่นี้ การ “หายไป” จึงอาจเป็นเพียงมายาคติที่ถูกมองผ่านกรอบแนวคิดของผู้ศึกษาเอง ซึ่งสนใจสังเกต ค้นคว้าจากคำบอกเล่า เอกสาร และประเมินเฉพาะความคงอยู่ – เปลี่ยนแปลงของอาหารในแวดวงที่ตนเองคุ้นเคย หากทว่ากลับอยู่นอกวัฒนธรรมการกินผักพื้นบ้านในชีวิตประจำวัน หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือยังขาดการสังเกตการณ์เชิงสถิติในครัวเรือนของผู้คนจริงๆ

อาจเป็นไปได้ว่า ผักยืนต้นเหล่านี้อาจหายไปจากที่หนึ่ง หากไปปรากฏอยู่อีกที่หนึ่ง และดูเหมือนเรื่องนี้ยังต้องการการศึกษาเชิงสถิติอีกมากเพื่อยืนยันแนวโน้มที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด

ผักอายุยืน โลกอายุยาว

หากเปรียบเทียบขั้นตอนวิธีการดูแลรักษา หรือ “ค่าใช้จ่าย” ในการปลูกผักจีน กับการหาเก็บผักพื้นบ้านที่เป็นผักยืนต้น แน่นอนว่า ในเบื้องต้น ผักสวนครัวแบบจีนย่อมต้องใช้ต้นทุนและแรงงานคนในการดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ฉีดยากำจัดศัตรูพืช ท่ามกลางการตระเตรียมพื้นที่ที่จำเป็นต้องปรับให้เข้ากับชนิดของผักที่ปลูกแตกต่างกันออกไป ในขณะที่ผักยืนต้นซึ่งดูแลตัวเองด้วยระบบรากที่แข็งแรงผ่านแร่ธาตุและน้ำใต้ดินไม่ต้องใช้ต้นทุนดังกล่าว

ประเด็นสำคัญที่จะกล่าวต่อไปมีลักษณะเป็นความคิดเชิงองค์รวม กล่าวคือ ในขณะที่กระบวนการปลูกผักจีนเป็นการผลิตเชิงปริมาณซึ่งแปลกแยกและเรียกร้องการจัดการพื้นที่ น้ำ และมาตรการป้องกันศัตรูพืชอย่างเคร่งครัด แนวคิดการใช้ประโยชน์จากผักยืนต้นให้ได้ผลผลิตสูงสุดกลับคือการจัดการที่ดินสาธารณะอย่างเป็นธรรม เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เปิดโอกาสให้พืชยืนต้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้เติบโตตามระบบนิเวศธรรมชาติตามแนวคิดเรื่อง “ป่าอาหาร” ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมก็เช่นป่าบุ่งป่าทามในเขตภาคอีสาน และป่าสาธารณะกลางเมืองในทวีปอเมริกาใต้หลายแห่ง ซึ่งบริหารจัดการโดยคณะกรรมการเมืองที่เล็งเห็นประโยชน์ซึ่งคนเมืองจะได้จากป่าในแง่การหาเก็บอาหารที่หลากหลาย

ตัวอย่างที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ป่าสวนสาธารณะ Central park ใจกลางนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่กลางเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ขนาดเล็กมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

การจัดการที่ดูเผินๆ เหมือนไม่ได้จัดการอะไรเลยนี้ เรียกร้องมุมมองใหม่ต่อนโยบายที่มีต่อ “พื้นที่สีเขียว” ของผู้บริหารทั้งระดับเมืองใหญ่และจังหวัด ทั้งในแง่ตัวบทกฎหมายที่ต้องแก้ไขให้เอื้อต่อกิจกรรมสาธารณะมากขึ้น และการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการเก็บเกี่ยวบริโภคที่จะเปลี่ยนไป

ท่ามกลางรายงานที่ชวนให้กังวลใจของหน่วยงานเฝ้าระวังและเตือนภัยสารเคมีในยาปราบศัตรูพืช อย่าง Thai – PAN และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวกับปริมาณสารพิษตกค้างในพืชผักที่จำหน่ายตามท้องตลาด ตลอดจนแม้กระทั่งในผักที่ได้รับการประทับตรามาตรฐานผักอินทรีย์ (organic) เช่น ผักตรา Q ในความควบคุมของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นั้น ผักปลอดภัยสำหรับทศวรรษหน้า อาจมีผักยืนต้นเป็นทางเลือกสำคัญ

ทั้งนี้ หากพ่วงเอาผลพลอยได้ของการสนับสนุนให้มีพื้นที่สีเขียวของป่าอาหาร เข้ากับแผนการเพิ่มปริมาณออกซิเจน ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ โดยเจาะจงเลือกปลูกพืชที่มีคุณสมบัติดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ตามผลงานวิจัยของ ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พบว่าไม้ยืนต้นที่มีคุณสมบัติดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ได้แก่ ราชพฤกษ์ ชงโค มะเกลือ เสม็ดแดง ข่อย หูกวาง ขนุน เสลา แคฝรั่ง มะเดื่อ ฝรั่ง ซึ่งล้วนเป็นไม้ที่กินใบ ผล และเมล็ดได้แทบทั้งสิ้น

แนวคิดเหล่านี้ แน่นอนว่าสอดคล้องกับกิจกรรมสาธารณะของหลายกลุ่มเหล่าที่มีการริเริ่มกันไว้บ้างแล้วด้วย เช่น โครงการธนาคารต้นไม้ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โครงการรณรงค์ปลูกป่าโดยชมรมคนปลูกป่า มูลนิธิเกษตรพอเพียง, มูลนิธิพาช้างกลับบ้าน, มูลนิธิปลูกต้นไม้วันนี้ PATT Foundation, มูลนิธิลดโลกร้อน ฯลฯ เพียงแต่เป้าประสงค์ของการปลูกต้นไม้ – ปลูกป่าในปัจจุบันยังมุ่งเน้นที่การปลูกเชิงอนุรักษ์ และเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งการใช้ไม้จากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีการเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับพืชอาหารให้มากขึ้น ทั้งการปลูกในป่า ในสถานที่ราชการ และในพื้นที่เมืองใหญ่ ก็อาจจะทำให้ประเด็นผักยืนต้นได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมไปพร้อมๆ กันกับกิจกรรมสาธารณะเหล่านี้ด้วย