พืชในกลุ่มโกฐจุฬาลัมภาที่ประชาชนให้ความสนใจอยู่ในสกุล Artemisia อยู่ในวงศ์ Asteraceae หรือ Compositae พืชในสกุลนี้มีมากกว่า 500 สายพันธุ์ แพร่กระจายในทั่วโลกทั้งในเอเชียตะวันออก ยุโรป อเมริกา แอฟริกาเหนือ และออสเตรเลีย

พืชในสกุลนี้เป็นพืชปีเดียว หรือหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก อุดมไปด้วยน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีรสขม (โดยเฉพาะ sesquiterpenoid lactones) เป็นแหล่งที่ดีของฟลาโวนอยด์ คูมาริน และกรดฟีนอลิก

มากกว่าครึ่งหนึ่งของชนิดพืชสกุลนี้พบในเอเชียตะวันออกและสหภาพโซเวียตเดิม

รายงานการศึกษาของ อุทัย โสธนะพันธุ์  ปนัดดา พัฒนวศิน จันคนา บูรณะโอสถ  สุนันทา ศรีโสภณ จากคณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์จากอินเดียและจีนพบว่า โกฐจุฬาลัมภาที่จำหน่ายในร้านขายยาทั่วไปในปัจจุบันมาจาก  Artemisia pallens Wall. ex DC.  และเป็นไปได้ที่เครื่องยาโกฐจุฬาลัมภาแต่ละช่วงเวลาอาจมาจากโกฐจุฬาลัมภาต่างชนิดกัน

บทความของนักวิจัยดังกล่าวให้ข้อมูลว่า โดยแรกเริ่มเมื่อมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของสมุนไพรไทย วิเชียร จีรวงส์ ราชบัณฑิตและศาสตราจารย์ด้านสมุนไพร ระบุว่าโกฐจุฬาลัมภาคือใบและเรือนยอดที่กำลังออกดอกของพืช 3 ชนิด คือ Artemisia vulgaris หรือ A. indica var. heyneana หรือ A. pallens

แพทย์แผนโบราณชื่อ เสงี่ยม พงษ์บุญรอด แต่งหนังสือ“ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย” ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้ศึกษาทางเภสัชพฤกษศาสตร์และเภสัชเวทใช้เป็นเอกสารอ้างอิงอย่างแพร่หลาย ระบุว่าโกฐจุฬาลัมภาเป็นเครื่องยาที่นำเข้าจาก ประเทศอินเดีย ได้จากพืช 3 ชนิด คือ A. pallens (ชื่อพ้อง A. indica) หรือ A. vulgaris หรือ A. absinthium” 

ในขณะที่ เต็ม สมิตินันทน์ ราชบัณฑิตและศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์ แต่งหนังสือ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้ศึกษาทางพฤกษศาสตร์นิยมใช้อ้างอิงชื่อทางวิทยาศาสตร์ ระบุว่าโกฐจุฬาลัมภาคือ พืชที่มาจากต่างประเทศที่มีชื่อว่า A. pallens  ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ก่องกานดา ชยามฤต นักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ระบุในหนังสือ “สมุนไพรไทย ตอนที่4” ว่า ต้นโกฐจุฬาลัมภามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า A. vulgaris

การอ้างอิงชื่อทางพฤกษศาสตร์ของพืชที่ให้เครื่องยาโกฐจุฬาลัมภาถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 เมื่อ วิเชียร จีรวงส์ อธิบายรายละเอียดในหนังสือ “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” ซึ่งเป็นตำราอ้างอิงด้านสมุนไพรที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่งระบุว่าโกฐจุฬาลัมภา คือส่วนใบและเรือนยอด ของ A. annua

ในเอกสารอ้างอิงทางสมุนไพรที่เป็นปัจจุบันที่สุดคือ “ตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย เล่ม 1” (2552) อธิบายว่า โกฐจุฬาลัมภาคือส่วนเหนือดินแห้งในระยะออกดอกของ A. annua ในขณะที่เครื่องยาที่เรียกว่าโกฐจุฬาลัมภาไทย จะเป็นส่วนเหนือดินของ A. pallens หรือ A.vulgaris var. indica และเครื่องยาที่ใช้สำหรับการรักษาด้วยวิธีรมยา(moxibusion)  จะได้จากใบของ A. argyi

ไบโอไทยแนะนำให้ผู้สนใจปลูกและใช้ประโยชน์ตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ และติดตามผลการทดลองการใช้โกฐจุฬาลัมภาต้านโรคระบาดทั้งในและต่างประเทศ และการใช้ประโยชน์ใดๆในปัจจุบันควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของหมอยาพื้นบ้านและแพทย์แผนไทยเท่านั้น

อ่านงานวิจัยของ อุทัย โสธนะพันธุ์ และคณะเพิ่มเติมได้ที่
https://bit.ly/2VtkkQV