Carla Guijarro-Real และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิควาเลนเซีย (Universitat Politècnica de València) ประเทศสเปน เผยแพร่ผลการวิจัยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับขมิ้นชันและพืชต่างๆอีก 14 ชนิด โดยพบว่าขมิ้นชันมีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องทดลอง

นักวิจัยสกัดสารจากพืชที่สามารถยับยั้งการทำงานของ  SARS-CoV-2 Chymotripsin-Like Protease (3CLPro) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแพร่ขยายของไวรัสโควิด-19  โดยทำการวิจัยในห้องปฏิบัติการ ปรากฎว่าสารสกัดรวมจากขมิ้น  (Curcuma longa) เหง้ามัสตาร์ด (Brassica nigra) และวอลล์ร็อกเก็ต (Diplotaxis erucoides subsp. Erucoides)  ที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัมต่อmL แสดงผลยับยั้งการทำงานของ  3CLPro ส่งผลให้กิจกรรมโปรตีเอสตกค้าง 0.0%  9.4% และ 14.9% ตามลำดับ

สำหรับขมิ้นซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น มีค่า  IC50 เท่ากับ 15.74 ไมโครกรัมต่อ mL โดยเมื่อเปรียบเทียบสารสกัดรวมจากขมิ้น กับสารเดี่ยว curcumin พบว่าสารสกัดรวมให้ผลในการยับยั้งดีกว่า

ขมิ้นมีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย โดยในประเทศไทยมีขมิ้นมากถึง 30-40 ชนิด ใกล้เคียงกับอินเดีย ขมิ้นจึงเป็นพืชที่เป็นองค์ประกอบในเรื่องอาหาร สมุนไพร เครื่องสำอาง และประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่นมานานในวัฒนธรรมของเรา

ตำรายาไทย ใช้ขมิ้นเป็นยาภายใน ช่วยเจริญอาหาร ยาบำรุงธาตุ ฟอกเลือด แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่น จุกเสียด ลดน้ำหนัก ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการดีซ่าน แก้อาการวิงเวียน แก้หวัด แก้อาการชัก ลดไข้ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องมาน แก้ไข้ผอมแห้ง แก้เสมหะและโลหิตเป็นพิษ โลหิตออกทางทวารหนักและเบา แก้ตกเลือด แก้อาการตาบวม แก้ปวดฟันเหงือกบวม มีฤทธิ์ระงับเชื้อ ต้านวัณโรค ป้องกันโรคหนองใน แก้ท้องเสีย แก้บิด รักษามะเร็งลาม ใช้ภายนอก ช่วยลดอาการฟกช้ำบวม ปวดไหล่และแขน บวมช้ำและปวดบวม แก้ปวดข้อ สมานแผลสดและแผลถลอก ผสมยานวดคลายเส้นแก้เคล็ดขัดยอก แก้น้ำกัดเท้า แก้ชันนะตุ แก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน สมานแผล รักษาฝี  แผลพุพอง  ลดอาการแพ้  อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย  ตำใส่แผลห้ามเลือด รักษาผิว บำรุงผิว

นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา  ปรากฏการใช้ขมิ้นชัน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ตำรับ ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของขมิ้นชันเป็นองค์ประกอบหลัก ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 12 ชนิดในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน และท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ นอกจากนี้ยังจัดอยู่ในบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว เพื่อบรรเทาอาการแน่น จุกเสียด

ท่ามกลางการระบาดใหญ่  ขมิ้นและสมุนไพรไทยที่ถูกมองข้าม และในหลายกรณีกลายเป็นวัชพืชในระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว กลับกลายเป็นความหวังที่พาเราพ้นวิกฤตไปได้ในอนาคต

+++
ลิงค์งานวิจัย https://www.mdpi.com/2304-8158/10/7/1503

++++
สำหรับคำแนะนำการใช้ยาขมิ้นชัน โดยคณะกรรมการอาหารและยามีคำแนะนำไม่ให้ใช้กับผู้ที่ท่อน้ำดีอุดตัน หรือผู้ที่ไวต่อยานี้ และมีข้อควรระวัง ดังนี้

– ควรระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
– ควรระวังการใช้กับหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
– ควรระวังการใช้กับเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย
– ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
– ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450(CYP 450) เนื่องจากสาร curcumin ยับยั้ง CYP 3A4, CYP 1A2 แต่กระตุ้น เอนไซม์ CYP 2A6
– ควรระวังการใช้ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น doxorubicin, chlormethine, cyclophosphamide และ camptothecin เนื่องจาก curcumin อาจมีผลต้านฤทธิ์ยา ดังกล่าว