ภายใต้สถานการณ์การเปิดเสรีทางการค้าอาเซียนที่จะเกิดขึ้นปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้ ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวต้องเผชิญกับภาวะแข่งขันอย่างสูงเรื่องการตลาด และต้นทุนการผลิตกับประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกข้าว เช่น เวียดนาม พม่า และกัมพูชา
การปลูกข้าวคุณภาพสูง หลากหลายสายพันธุ์ เพื่อการบริโภคภายในชุมชนท้องถิ่น และการทำการตลาดผ่านคุณค่า เรื่องราวที่ผูกโยงกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นและข้อมูลทางโภชนาการของข้าวพื้นบ้าน เชื่อมโยงกับการรักษาฐานพันธุกรรมของตนเอง คือทางออกภายใต้สถานการณ์อันบีบรัดต่อเกษตรกรรายย่อย

การขยายตัวของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ จะนำไปสู่การผูกขาด ครอบงำตลาดเมล็ดพันธุ์การเกษตร และห่วงโซ่อาหารของสังคมในที่สุด ในวาระที่พวกเราเกษตรกรรายย่อยได้มารวมตัว หล่อหลอมรวมจิตวิญญาณ และแสดงพลังร่วมกัน ณ โรงเรียนบ้านนาคำ ตำบลคอนสาย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ขอประกาศว่า
เราจะร่วมกันอนุรักษ์ พัฒนาพันธุกรรมท้องถิ่นอย่างหลากหลาย และใช้พันธุกรรมท้องถิ่น เพาะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพสร้างเศรษฐกิจ
เราจะยกระดับการพัฒนา การผลิตเมล็ดพันธุ์สู่มาตรฐาน พร้อมกับการจัดการตลาดร่วมกันโดยเครือข่ายวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ชุมชน
เราจะผนึกกำลังกันค้นคว้า ทดลอง พัฒนาผลิตภัณฑ์ของครอบครัวชุมชน พัฒนาแบบแผนการผลิตอย่างหลากหลาย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตวัฒนธรรม
เราจะหลอมหลวมพลังเกษตรกรรายย่อยอย่างเป็นเอกภาพที่จะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างพลัง ปกป้อง คุ้มครอง สิทธิประโยชน์ อันพึงมีพึงได้ของเกษตรกรรายย่อยร่วมกันสืบไป
ประกาศ ณ เวทีรวมพลคนอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้าน ต.คอนสาย อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
แผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร
มูลนิธิชีววิถี
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน
เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม
ที่มา: มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน