พันธุกรรม เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบบการผลิตอาหารที่มั่นคงยั่งยืน จากนโยบาย4.0 และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐมีแนวโน้มจะยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ และสังคม มากขึ้นเปิดทางให้ทุนและอาจปิดกั้นเกษตรกรรายย่อยขณะเดียวกันพันธุกรรมก็เป็นเครื่องมือสำคัญของการทำธุรกิจการเกษตรที่สามารถสร้างกำไรมหาศาล ดังนั้นพันธุกรรมหรือเมล็ดพันธุ์ จึงตกเป็นเป้าหมายในการครอบครองของบรรษัทการเกษตรต่าง ๆ มาโดยตลอด ทั้งโดยการใช้กลไกด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์เป็นตัวควบคุม ได้แก่ พันธุ์ผลผลิตสูง พันธุ์ลูกผสม ไปจนถึงการดัดแปลงพันธุกรรม และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดขวางการพัฒนาและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย

ในปัจจุบันวิกฤตการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งได้นำพาพิบัติภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น  ประกอบกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี  ที่ใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกับการใช้อำนาจรัฐ   อีกทั้งข้อจำกัดต่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของภาคประชาชน จะยิ่งสร้างภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย       สองทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้ตระหนักถึงภารกิจอันสำคัญในการอนุรักษ์รวบรวมพันธุกรรมท้องถิ่น  และสถาปนาการครอบครองปัจจัยการผลิตอันสำคัญ ความเป็นเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมอันเป็นต้นทุนสำคัญในสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร ของครอบครัวเกษตรกรรายย่อย และชุมชน

เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม และผองเพื่อนพี่น้องเกษตรกรทั้งหลาย ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ณ ที่นี้ว่า

  • เรามีความตระหนักว่าชัยชนะอันยิ่งใหญ่ ณ ผืนดินแผ่นดินของเรา คือ การสถาปนาและการยืนหยัดในการเป็นเจ้าของพันธุกรรมท้องถิ่น และใช้พันธุกรรมท้องถิ่นในการผลิตในวิถีชีวิตและสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
  • เราจะยืนยันในสิทธิ อำนาจ การเข้าถึง และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรพันธุกรรม การมีส่วนร่วมทางการตลาดอย่างเป็นธรรม 
  • เราขอเสนอให้เกิดการพัฒนาการวิจัย ที่มาจากความต้องการของเกษตรกร และการผลักดัน สนับสนุนการอนุรักษ์ ณ ถิ่นที่อยู่
  • เราจะผนึกกำลังกันติดตาม  ตรวจสอบ  กฎหมาย นโยบายที่เป็นภัย คุกคาม ต่อสิทธิชุมชนและสิทธิของเกษตรกรรายย่อย
  • และสุดท้ายเราจะพัฒนา และสร้างความร่วมมือ ระหว่างชุมชนเกษตรกรภายใต้ความหลากหลายของภูมิ นิเวศและวัฒนธรรม เพื่อความมั่นคงในฐานทรัพยากรพันธุกรรมร่วมกัน ผ่านการหลวมรวมจิตวิญญาณสร้างพลังร่วมกันของกระบวนการเกษตรกรรายย่อยทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ

ประกาศ ณ งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านครั้งที่ 10   ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ความหลากหลายทางพันธุกรรม สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สร้างเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

ประกาศไว้ในวันที่ 25พฤษภาคม2560