ในขณะที่เมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ในตลาดเมล็ดพันธุ์ถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติไม่ถึงหยิบมือ และในขณะที่การวิจัยปรับปรุงเมล็ดพันธุ์โดยรัฐบาลไทยกำลังอ่อนแรง ทั้งโดยความเชื่อของรัฐในระบบทุนที่เชื่อว่าการมอบบทบาทการปรับปรุงพันธุ์ให้บรรษัทนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า และด้วยวิสัยทัศน์สั้นๆที่ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไปกับการสนับสนุนราคาสินค้ามากกว่าการสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเกษตรกรรมระยะยาว ขบวนการของชาวนากลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก” ได้เริ่มต้นสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์และปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโดยชาวนาขึ้นเมื่อสองทศวรรษก่อน
บัดนี้เครือข่ายของชาวนาที่เริ่มต้นปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ผลิดอกออกผล “ดาวเรือง พืชผล” และผองเพื่อน “กลุ่มอนุรักษ์และพัฒาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ยโสธร” คือประจักษ์พยานดังกล่าว
วันนี้ดาวเรืองและชาวนาในกลุ่มได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ “พันธุ์ข้าวเหนียวแดงอายุสั้น” พันธุ์ข้าวเหนียวพื้นบ้านที่ผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่ ให้มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นลงเหลือ 120 วัน พัฒนาจากข้าวเหนียวสายพันธุ์เดิมที่เป็นข้าวนาปี ให้เป็นข้าวไม่ไวแสงปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง เป็นผลสำเร็จ โดยคุณภาพและลักษณะของสายพันธฺุ์ข้าวใหม่ยังคงคุณภาพเหมือนกับสายพันธุ์เดิมที่ชาวนาและผู้บริโภคนิยมชมชอบ
การปรับปรุงอายุการเก็บเกี่ยวให้สั้นลงและไม่ไวแสง ทำให้ข้าวเหนียวแดงสายพันธุ์นี้ยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น ความแห้งแล้ง และการขาดน้ำได้ดีขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการวิจัยสายพันธุ์ภายใต้ระบบเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ที่สายพันธุ์ข้าวไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีหรือพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกเหมือนกับการปรับปรุงพันธุ์ส่วนใหญ่ของรัฐ

