จันทน์เทศ เป็นเครื่องเทศที่ได้จากพืชในวงศ์ Myristicaceae 3 ชนิด คือจันทน์เทศสามัญหรือจันทน์เทศหอม (M. fragrans) ที่มาจากหมู่เกาะบันดาในอินโดนีเซีย (ซึ่งรวมทั้งจันทน์เทศที่ปลูกในภาคใต้ของประเทศไทย) อีก2 ชนิดที่มีความสำคัญน้อยกว่าคือ จันทน์เทศปาปัว (M. argentea) จากนิวกินี และจันทน์เทศบอมเบย์ (M. malabarica) จากอินเดีย
โดยส่วนสำคัญของจันทน์เทศที่ให้ความหอมคือ “เมล็ดจันทน์เทศ” (nutmeg) ที่มีลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดยาวประมาณ 20 ถึง 30 มิลิเมตร กว้าง 15 ถึง 18 มิลิเมตร และน้ำหนักแห้ง 5 ถึง 10 กรัม และ “ดอกจันทน์เทศ” (mace) ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นรกหุ้มเมล็ด เป็นเส้นสายสีแดงที่งอกคลุมอยู่รอบเมล็ดรอบเมล็ด เมล็ดและรกจันทน์เทศใช้ปรุงแต่งรสอาหาร ดับคาวจากเนื้อสัตว์ เป็นเครื่องเทศที่มีราคาสูงในปัจจุบัน
จากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีอ็อกแอว (Óc Eo) ทางตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในอาณาจักรฟูนัน ที่รุ่งเรืองระหว่างศตวรรษที่ 1-7 โดย ดร.หง เสี่ยวฉุน หัวหน้าคณะนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) พบเครื่องเทศหลากหลายชนิด เช่น ขมิ้น ขิง กระชาย เปราะหอม ข่า กานพลู เม็ดจันทน์เทศ และอบเชย จากการวิเคราะห์เศษพืชที่ติดอยู่กับเครื่องมืดหินโบราณสำหรับใช้บด 12 ชิ้น ในแหล่งโบราณคดีดังกล่าว แต่สิ่งที่นักวิจัยประหลาดใจมากที่สุดคือ พวกเขาพบว่าเมล็ดจันทน์เทศที่ขุดค้นพบยังมีกลิ่นหอมอยู่แม้ผ่านเวลามาเป็นพันปี
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advance เมื่อเร็วๆนี้ ยังเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ยืนยันว่า จันทน์เทศและเครื่องเทศต่างๆเป็นสินค้าที่มีอยู่ในเครือข่ายการค้าโพ้นทะเลทั่วโลกเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน ก่อนหน้ายุคค้าเครื่องเทศที่นำโดยโปรตุเกสและสเปนนับพันๆปี