เมื่อหลายทศวรรษก่อนเชื่อว่าข้าวปลูกในเอเชียมีแหล่งกำเนิดในบริเวณภาคอีสานไปจนถึงตอนเหนือของประเทศไทยและแพร่กระจายไปสู่เอเชียใต้และจีน จากหลักฐานเก่าแก่ที่พบที่โนนนกทา ตำบลบ้านโคก อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น หลักฐานดังกล่าวยังสอดคล้องกับการพบว่าในพื้นที่ของประเทศไทยยังพบข้าวป่าเก่าแก่อย่างน้อย 2 ชนิด ที่เป็นต้นกำเนิดของข้าวในเอเชีย คือ Oryza rufipogon และ Oryza nivara โดย O. rufipogon เป็นข้าวป่าอายุหลายปีที่เป็นต้นกำเนิดของข้าวปลูกจาปอนิก้า (japonica) ส่วน O. nivara เป็นข้าวปีเดียวต้นกำเนิดของข้าวเมล็ดยาวชนิดย่อยอินดิก้า (indica)
อย่างไรก็ตามในราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ความรู้ในการกำเนิดของข้าวค่อยเปลี่ยนไป เมื่อมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีในการใช้ประโยชน์ของข้าวแถบหุบเขาในลุ่มน้ำแยงซีของจีน และลุ่มน้ำคงคาในอินเดียซึ่งมีอายุราวๆ 8,000-9,000 ปีก่อนคริสตกาล และจนบัดนี้ข้อถกเถียงว่าข้าวปลูก (domesticated rice) ว่ามีแหล่งกำเนิดที่จีนแห่งเดียว หรือว่ามีแหล่งกำเนิดคู่ขนานกับอินเดีย ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงในเวทีวิชาการด้านโบราณคดี แม้ว่าจะมีการใช้หลักฐานทางพันธุศาสตร์ ภาษาศาสตร์ หรือหลักฐานทางมนุษยวิทยาอื่นๆประกอบกันก็ตาม
แต่อย่างน้อยที่สุด ความรู้ล่าสุดของแหล่งกำเนิดข้าว คือการรู้จักการใช้ประโยชน์จากข้าวเมื่อราวๆ 8,000-9,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ข้าวก็ยังไม่ใช่อาหารหลักในขณะนั้น จนกระทั่งเมื่อราวๆ 5,000 ปีก่อนคริสตกาลข้าวจึงได้กลายมาเป็นข้าวปลูก Oryza sativa เมล็ดป้อมที่เรียกว่าชนิดย่อย japonica ในบริเวณลุ่มน้ำแยงซีของจีน ก่อนที่จะแพร่กระจายไปสู่ดินแดนต่างๆของเอเชีย
ในขณะเดียวกันในบริเวณลุ่มน้ำคงคาของอินเดีย บริเวณที่ราบสูง Deccan ในอุตรประเทศ ก็พบหลักฐานเก่าแก่อายุประมาณ 8,000 ปีก่อนคริสตกาลของการใช้ประโยชน์จากข้าวป่า O. nivara หรือข้าวที่เป็นต้นกำเนิดของ Oryza sativa ชนิดย่อย indica (proto-Indica) ซึ่งมีลักษณะเมล็ดยาวต่างไปจากที่พบในเอเชียตะวันออก แต่ก็คงยังมีข้อโต้แย้งอย่างหนักว่า การเปลี่ยนแปลงจากข้าวป่าเป็นข้าวปลูกได้เกิดเมื่อ 5,000 ปีก่อนหรือไม่ เนื่องจากหลักฐานจำนวนมากที่เกี่ยวกับการก่อตัวของหมู่ในบ้านบริเวณลุ่มน้ำคงคา รัฐปัญจาบ และฮารายนะ มีอายุประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับซากข้าวทางโบราณคดี โดยหลักฐานจำนวนมากอยู่ในช่วงกลางสหัสวรรษที่สามก่อนคริสต์ศักราช
เช่นเดียวกับหลักฐานทางพันธุศาสตร์ ซึ่งแม้นักวิชาการจำนวนหนึ่งจะเชื่อว่ามีการพัฒนาเป็นข้าวปลูกที่แยกออกจากกันระหว่างข้าว japonica ในจีน และ indica ในอินเดีย แต่หลักฐานทางพันธุศาสตร์กลับพบว่า O. sativa spp. Indica นั้นกลับมี allele (รูปแบบหนึ่ง ๆ จากหลาย ๆ รูปแบบของยีน) หลายๆ allele ร่วมกันระหว่างข้าวสองชนิดย่อยดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องมีการผสมข้ามพันธุ์กันในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้นักวิชาการบางกลุ่มยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ที่ O. sativa spp. Indica จะเกิดขึ้นได้ โดยปราศจากการเดินทางเข้ามาของ O. sativa spp. Japonica จากเอเชียตะวันออก
นักโบราณคดีเรื่องข้าวระบุว่า หลักฐานของข้าวปลูกในในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่พบในช่วงกลางสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล โดยในประเทศไทยนั้น มีการปลูกข้าวในระยะแรกเป็นข้าวเมล็ดป้อมก่อน โดยปลูกเป็นข้าวไร่หรือในพื้นที่ดอน และต่อมาเป็นข้าวเมล็ดยาว ซึ่งน่าจะมาพร้อมกับการทำนาในที่ลุ่ม
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการแพร่กระจายของข้าวจากจีน และจากอินเดียมายังดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก เช่นเดียวกับที่มีผู้สงสัยว่าความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวป่าในเอเชียอาคเนย์และเอเชียใต้พบแพร่หลายไปทั่ว แต่ข้าวปลูกในพื้นที่นี้กลับมาจากอารยธรรมอื่นๆ ?
เพราะข้าวเป็นส่วนหนึ่งของอารธรรมของหลายประเทศในเอเชีย ความผูกพันและคำถามเกี่ยวกับที่มาของข้าวจะยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ลงตัวทั้งหมด
แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร แต่เราอาจได้ข้อสรุปยืนยันตรงกันว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวนั้นมิได้เกิดขึ้นจากปัจจัยตามธรรมชาติเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากอารยธรรมของมนุษย์ร่วมด้วยเสมอ
ข้อมูลประกอบ
- The Fits and Starts of Indian Rice Domestication: How the Movement of Rice Across Northwest India Impacted Domestication Pathways and Agricultural Stories,Jennifer Bates(2022)
- A Journey to the West: The Ancient Dispersal of Rice Out of East Asia by Robert N. Spengler III et al. (2021)
- Transitions in Productivity: Rice Intensification from Domestication to Urbanisation, Dorian Q. Fuller (2020)
- Modelling the Geographical Origin of Rice Cultivation in Asia Using the Rice Archaeological Database, Fabio Silva1 (2015)
- Rice in Thailand: thearchaeobotanical contribution, Cristina Castillo (2011)