เราเครือข่ายเกษตรกรและพี่น้องเพื่อนมิตรที่เกี่ยวข้องขอประกาศว่า

  • ทรัพยากรพันธุกรรมทั้งหลายคือมรดกที่ชุมชนท้องถิ่นและเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ รุ่นแล้วรุ่นเล่าได้อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์สืบทอดร่วมกันมานานนับพันนับหมื่นปีบนผืนแผ่นดินแห่งนี้
  • การแลกเปลี่ยนพันธุกรรมโดยเสรี ระหว่างเกษตรกร และการเก็บรักษาพันธุ์เพื่อนำไปเพาะปลูกต่อ  คือมูลเหตุแห่งความงอกงามและความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งเป็นหลักประกันสำหรับความมั่นคงทางอาหารและความอยู่รอดของเกษตรกร และประชาชนทั้งมวล
  • สิทธิของเกษตรกร และชุมชนท้องถิ่นต่อพันธุกรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่บทบัญญัติใดของความตกลงระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในใดๆจะก้าวล่วงมิได้

เราทั้งหลายตระหนักชัดว่า

  • ทรัพยากรพันธุกรรมทั้งหลายกำลังเสื่อมโทรม และสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว อันมีสาเหตุหลักมาจาก การมุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด โดยเฉพาะยิ่งผลจากการส่งเสริมให้ใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์สายพันธุ์ใหม่จากบรรษัทข้ามชาติ และรัฐบาลของเราเอง
  • พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเกษตรกรรมและความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารขณะนี้ถูกครอบครองและผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ
  • กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเบ็ดเสร็จโดยบรรษัทข้ามชาติ และบรรษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรภายในประเทศ โดยการสนับสนุนของสถาบันและหน่วยงานรัฐของเรา

เครือข่ายเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และเพื่อนมิตรทั้งหลายขอประกาศว่า เราจะผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างอิสรภาพทางพันธุกรรมให้ปลอดพ้นจากการผูกขาดและครอบครองโดยบรรษัททั้งหลายในทุกรูปแบบ เราจะร่วมมือกับพี่น้องที่ต่อสู้เพื่อการปฏิรูปที่ดินและการจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม ฟื้นฟูศักดิ์ศรีเกษตรกร สร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างประชาชน สมานฉันท์กับประชาชนในทุกประเทศที่ต่อต้านการผูกขาดระบบเกษตรและอาหาร เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น และเพื่อชีวิตที่ดีของประชาชนทั้งมวล

ประกาศ ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2554

ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

โดยเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม

  1. โครงการฮักแพง เบิงแญง คนสารคาม ชุดประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืน
  2. มูลนิธิฮักเมืองน่าน
  3. เครือข่ายเกษตรทางเลือก ขอนแก่นใต้-โคราชเหนือ
  4. เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือ
  5. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านป่าดงลาน
  6. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
  7. เครือข่ายเกษตรทางเลือกยโสธร
  8. สวนลุงโชค จ.นครราชสีมา
  9. ชมรมรักษ์ธรรมชาติ
  10. เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคเหนือ (เชียงราย, แพร่,น่าน, แม่ฮ่องสอน)
  11. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลสร้างมิ่ง
  12. กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมพิษณุโลก / Seed exchange
  13. เครือข่ายเกษตรทางเลือก กาฬสินธุ์-นครพนม
  14. เครือข่ายเกษตรทางเลือก ภาคอิสาน
  15. สมาพันธุ์เกษตรอินทรีย์สุรินทร์
  16. มูลนิธิการจัดการความรู้ และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
  17. เครือข่ายเกษตรทางเลือกทุ่งกุลา
  18. มูลนิธิข้าวขวัญ
  19. สมาคมคนทาม (เขื่อนราศี)
  20. เครือข่ายพวกกัน (ภาคกลาง-ภาคตะวันตก)
  21. สมาคมอีสานวิถี อำเภอเสลภูมิ
  22. เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้
  23. ชุมชนบุญนิยมร้อยเอ็ดอโศก
  24. เครือข่ายเกษตรทางเลือกฉะเชิงเทรา
  25. กลุ่มพัฒนาอาชีพเพื่อทางเลือก บ้านดงดิบ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด
  26. สถาบันชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติ สุรินทร์
  27. อีสานมั่นยืน (กลุ่มอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านอุบล)
  28. สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ISAC
  29. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
  30. โครงการสวนผักคนเมือง
  31. สมาคมเครือข่ายเกษตรกรไทย
  32. กลุ่มพันธุกรรม จ.อุทัยธานี
  33. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
  34. เครือข่ายเกษตรทางเลือก ประเทศไทย
  35. ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่าน
  36. มูลนิธิชีววิถี
  37. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)