ออสเตรียเป็นประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มีสัดส่วนมากที่สุดของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 25% ของพื้นที่การเกษตรของประเทศ (ไม่นับประเทศเล็กๆอย่างซามัวร์ และลิกเค่นสไตน์ ที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 38% ของพื้นที่เกษตรของประเทศ) รวมพื้นที่ประมาณ 600,000 แฮกตาร์ หรือ 3.75 ล้านไร่

เกษตรกรรมอินทรีย์ของออสเตรีย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่ปี 1924-1927 จากขบวนการเกษตรชีวพลวัต หรือ “Biodynamic farming” ที่ก่อตั้งโดย Rudolf Steiner ซึ่งเป็นทั้งนักปรัชญา สถาปนิกสังคม นักการศึกษา ฯลฯ คนสำคัญของออสเตรีย-เยอรมนี โดยเกิดขึ้นก่อนยุคเกษตรอินทรีย์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อังกฤษหลายปี

อย่างไรก็ตาม ความเฟื่องฟูอย่างมากของการทำเกษตรอินทรีย์เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นยุค 90 โดยในระหว่างปี 1990-1995 มีฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 เท่า เกษตรกรกว่า 5,000 รายเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์

ในตอนเริ่มต้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของการทำเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นในออสเตรียตะวันตกซึ่งมีการเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก เพราะการจัดการทุ่งหญ้าแบบดั้งเดิมให้สามารถเปลี่ยนเป็นการจัดการแบบเกษตรอินทรีย์นั้นทำได้ง่าย

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา พื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยขยายออกไปในพื้นที่การปลูกองุ่น ธัญพืช และผักผลไม้ชนิดต่างๆ

กระทรวงการเกษตร ภูมิภาค และการท่องเที่ยว (Federal Ministry for Agriculture, Regions and Tourism) ของรัฐบาลออสเตรียระบุว่า หัวใจความสำเร็จของการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นจากการมีโครงการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรโดยรัฐบาลออสเตรียซึ่งเริ่มต้นในปี 1991 และขยายออกไปเมื่อออสเตรียเข้าร่วมสหภาพยุโรปในปี 1995

เกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมอินทรีย์จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาล โดยได้รับเงินอุดหนุนคิดเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรทั่วไป ทั้งยังได้รับ Bio-bonus เพิ่มอีก 20% สำหรับการลงทุนเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์

รัฐบาลออสเตรียยังได้บรรจุหลักสูตรการสอนเรื่องเกษตรอินทรีย์ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยในโรงเรียนที่สอนเกษตรในระดับมัธยมศึกษานั้นวิชาเกษตรอินทรีย์ถือว่าเป็นวิชาบังคับสำหรับเด็กนักเรียนทุกคน เพื่อเตรียมการสำหรับเด็กที่จะโตไปทำเกษตรหรือการเป็นผู้บริโภคที่มีจิตสำนึกเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การวิจัยเรื่องเกษตรอินทรีย์ยังเป็นเรื่องสำคัญของออสเตรีย เพื่อขยายพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการขยายตัวของการทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีสถาบันการศึกษาระดับสูง 5 แห่งมีบทบาทในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น Federal Research and Education Centre Raumberg-Gumpenstein, Federal Institute for Less-favoured and Mountainous Areas, University of Natural Resources and Applied Life Sciences, Bioforschung Austria และ Vienna University of Veterinary Medicine

อย่างไรก็ตามแรงกระตุ้นสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์เกิดจากการมีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่เริ่มทำการตลาดผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในปี 1994 ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ได้ รวมทั้งความตระหนักของผู้บริโภคเกี่ยวกับระบบนิเวศ และการมีส่วนร่วมของพวกเขาในการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ แม้อาจจะต้องจ่ายในราคาที่แพงกว่าผลผลิตทั่วไปบ้างก็ตาม

ออสเตรียผนวกเรื่องเกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเป็นเรื่องเดียวกัน (แม้จะเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ เช่น ถั่วเหลือง ไวน์ และเนื้อหมู รายสำคัญของยุโรปก็ตาม) โดยถือว่าการเกษตรของประเทศไม่ใช่แค่เพียงการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แต่เป็นทั้งเรื่องของ สิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ การท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม และวิถีชีวิต โดยผลประโยชน์จากภาคการเกษตรได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดที่สนับสนุนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคน มาเยือน

แม้จะแตกต่างด้านภูมินิเวศและวิถีวัฒนธรรม รวมทั้งโครงสร้างประชากรที่ภาคเกษตรที่ประเทศไทยมีสัดส่วนมากกว่า แต่ออสเตรียกับไทยก็มีหลายสิ่งที่เหมือนกัน เช่น การเป็นประเทศที่มีอัตลักษณ์ในทางวัฒนธรรม มีทรัพยากรการท่องเที่ยว เป็นผู้ผลิตอาหารสำคัญของภูมิภาค รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เช่นเดียวกัน

เราควรจะได้เรียนรู้จากออสเตรีย ในการพัฒนาเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และการให้ความสำคัญของเกษตรกรรมที่มากไปกว่าการผลิตวัตถุดิบราคาถูกอย่างที่เคยเป็นมา



เอกสารประกอบบทความ : Federal Ministry for Agriculture, Regions and Tourism (2020) Organic Farming in Austria