มะเขือเทศหรือชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum lycopersicum มีต้นกำเนิดจากบรรพบุรุษมะเขือเทศป่าที่เรียกว่า currant tomato หรือ pimp (ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum pimpinellifolium) ซึ่งมีผลขนาดเล็กพอๆกับมะเขือพวง
โดยมะเขือเทศป่ามีความแตกต่างจากมะเขือเทศทั่วไปเพียง 0.6% ของคู่เบส (ซึ่งแตกต่างจากมันฝรั่งพืชในวงศ์เดียวกัน ที่มีวิวัฒนาการแยกออกจากกันเมื่อ 7.3 ล้านปีที่แล้ว มีความแตกต่างประมาณ 8%) ทำให้พันธุกรรมของมะเขือเทศชนิดนี้สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ได้ทั้งในเรื่องการต้านทานโรค และคุณสมบัติอื่นๆ เช่น มีไลโคปีน วิตามินซี กรดฟีนอล รวมทั้งต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่ามะเขือเทศชนิดที่เป็นรู้จักกันทั่วไปในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่าการปลูกมะเขือเทศเริ่มขึ้นจากการปลูกมะเขือเทศป่าซึ่งมีผลขนาดเล็กมากๆเมื่อประมาณ 7,000 ปีที่แล้วในอเมริกาใต้ หลังจากการเพาะพันธุ์เพื่อให้ได้ผลที่ค่อนข้างใหญ่กว่า ขนาดประมาณมะเขือเทศเชอรี่ จึงถูกนำไปปลูกในตอนเหนือที่เรียกว่า “เมโสอเมริกา”
อย่างไรก็ตาม การวิจัยทางพันธุศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า มะเขือเทศซึ่งพัฒนาขึ้นและมีขนาดเท่าผลเชอรี่และมีถิ่นกำเนิดในเอกวาดอร์เมื่อประมาณ 80,000 ปีที่แล้วนั้น พัฒนาขึ้นตามธรรมชาติในอเมริกาใต้มานานแล้ว และค่อยๆเคลื่อนย้ายไปสู่ตอนเหนือในเมโสอเมริกา ทั้งจากการเคลื่อนที่ของมนุษย์ โดยนก หรือสาเหตุทางธรรมชาติอื่นๆผสมผสานกัน
มะเขือเทศที่ปลูกในเมโสอเมริกาในระยะแรกมื่อประมาณ 7,000 ปีที่แล้วก็เป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในแหล่งกำเนิด ก่อนที่จะค่อยๆได้รับการคัดเลือกโดยอารยธรรมเก่าแก่เหล่านั้นให้กลายเป็นมะเขือเทศแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
บันทึกของ Bernardino de Sahagun ชาวสเปน รายงานเกี่ยวกับความหลากหลายของมะเขือเทศในตลาด Aztec ที่ Tenochtitlán (เม็กซิโกซิตี้ปัจจุบัน) โดยพบว่ามี “มะเขือเทศลูกใหญ่ มะเขือเทศลูกเล็ก มะเขือเทศใบ มะเขือเทศหวาน มะเขือเทศยาวเหมือนงูขนาดใหญ่ มะเขือเทศรูปหัวนม” และ “พบมะเขือเทศทุกสีตั้งแต่สีแดงที่สว่างที่สุดไปจนถึงสีเหลืองที่เข้มที่สุด” ทั้งมีอาหารที่ทำจากซอสต่างๆที่ประกอบไปด้วยมะเขือเทศ ซอสพริก และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก แสดงว่าการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์และการใช้ประโยชน์ของชุมชนดั้งเดิมนั้นดำเนินการมาเนิ่นนาน กว่าการเดินทางมาถึงของชาวยุโรป
หลังจากค้นพบทวีปใหม่โดยโคลัมบัส สเปนนำมะเขือเทศเข้าไปสู่ยุโรปครั้งแรก ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังการเข้ายึด Tenochtitlán เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1521
ชาวสเปนพบว่ามะเขือเทศเจริญเติบโตได้ไม่ยากในสภาพอากาศแบบเมดิเตอเรเนียน โดยเริ่มมีการเพาะปลูกนับตั้งแต่ปี 1540 เป็นต้นมา โดยในชั้นแรกนั้น มีการปลูกเป็นไม้ประดับก่อนเช่นเดียวกับพริก ก่อนจะมีการนำไปใช้ประกอบอาหารอย่างกว้างขวางในช่วงศตวรรษที่ 17 ในสเปน
หลังจากการล่าอาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกา ชาวสเปนได้กระจายมะเขือเทศไปทั่วอาณานิคมของพวกเขาในทะเลแคริบเบียน พวกเขายังนำมันไปยังฟิลิปปินส์ที่ตนเองยึดครอง ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปเอเชียทั้งหมดในเวลาต่อมา
ชาวจีนที่ได้รับมะเขือเทศผ่านฟิลิปปินส์หรือมาเก๊าในช่วงทศวรรษที่ 1500 เรียกมันว่า fānqié ซึ่งแปลว่า “มะเขือเถื่อน”
มะเขือเทศเดินทางมาถึงอินเดียโดยนักสำรวจชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 16 โดยในภาษาเบงกาลีเรียกพืชอาหารชนิดใหม่นี้ว่า บิลิตีเริ่ม ซึ่งแปลว่า “มะเขือต่างประเทศ” (เช่นเดียวกับที่คนไทยเรียกว่า “มะเขือเทศ”)
ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะรับมะเขือเทศจากความสัมพันธ์กับชาวโปรตุเกสในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับการนำพริกและมะละกอมาปลูก
ในหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของ “แดน บีช แบรดลีย์” (Dan Beach Bradley) หรือคนไทยนิยมเรียก หมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2416 กล่าวถึงมะเขือเทศว่า “มะเขือเทศ : เป็นชื่อมะเขือเขาเอาพันธุ์มาแต่เมืองเทศปลูกไว้ในเมืองไทยจึงเรียก มะเขือเทศ” นั่นหมายความว่าคนไทยรู้จักมะเขือเทศมาอย่างน้อยประมาณ 150 ปีที่แล้ว
ปัจจุบันมะเขือเทศเป็นพืชสำคัญที่อยู่ในเมนูอาหารของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญในส้มตำ เมนู “อาหารไทย” รสจัดจ้าน ที่วัตถุดิบหลักสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพริก หรือมะละกอ ที่มาจากแหล่งกำเนิดเดียวกันในอีกซีกโลกหนึ่ง
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
Yuling B. and P. Lindhout, 2007. Domestication and Breeding of Tomatoes: What have We Gained and What Can We Gain in the Future? Annals of Botany 100: 1085–1094.
Maroto J.V. 2002. Horticultura Herbácea Especial 5ª Ed. Ediciones Mundi-Prensa Madrid
Raziard et al. 2020 .Genomic evidence for complex domestication history of the cultivated tomato in Latin America. Mol. Biol. Evol. 37(4):1118–1132.
Hamid Razifard et al. 2020 Genomic Evidence for Complex Domestication History of the Cultivated Tomato in Latin America
Molecular Biology and Evolution, Volume 37, Issue 4, April 2020, Pages 1118–1132