พืชในวงศ์แตงมีเกือบ 1,000 ชนิดทั่วโลก โดยบรรพบุรุษของพืชวงศ์นี้เกิดเมื่อ 70 ล้านปีที่แล้วในทวีปเอเชีย ก่อนกระจายไปวิวัฒนาการในทวีปต่างๆ เกิดเป็นชนิดพันธุ์ต่างๆหลากหลาย และบางชนิดก็ย้อนกลับมาเผยแพร่ในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกที
แต่เดิมพืชส่วนใหญ่ในวงศ์นี้มีรสขม แต่ก็ได้รับการคัดเลือกพันธุ์จนมีรสขมน้อยลง เนื้อผลเยอะขึ้น มีความหวานมากขึ้น ผลขนาดใหญ่ เป็นต้น แต่น่าสนใจที่ทั้งชนิดพันธุ์ในสภาพดั้งเดิม และชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกสืบต่อมาจนเป็นผักและผลไม้ที่มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายนั้น ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณด้านสมุนไพร ทั้งในการบำรุงร่างกาย และรักษาโรคต่างๆ อาทิเช่น
กระดอม (Gymnopetalum chinensis) ใช้ในตำรับยาสำหรับลดไข้ ถอนพิษ บำรุงธาตุ ผล บำรุงน้ำดี บำรุงมดลูก บำรุงน้ำนม เป็นส่วนประกอบของตำรับยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทจักร์ และตำรับยาแก้ไข้จันทน์ลีลา
ขี้กาแดง (Gymnopetalum integrifolim) เป็นพืชมีพิษ ผลเมื่อกินแล้วทำให้ท้องเดินอย่างแรง ส่วนเมล็ดมีพิษมากกินเพียงเล็กน้อยก็อาจเสียชีวิตได้ มีการใช้ใบตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนังอักเสบ หัว รสขม บำรุงหัวใจ แก้ม้ามย้อย ตับโต หรืออวัยวะในช่องท้องบวมโต ราก รสขม บำรุงน้ำดี แก้ไข้ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้จุกเสียด บดทาฝีฝักบัว แก้ตับโต ม้ามย้อย ผล รสขม บำรุงน้ำดี แก้พิษเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษเสมหะให้ตก แก้พิษตานซาง แก้ตานขโมย ขับพยาธิ เป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้ควันรม แก้หืด ทั้งเถา รสขม ต้มอาบ แก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ไข้หัว ไข้พิษ ไข้กาฬ ต้มดื่ม บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ ดับพิษ แก้ไอเป็นเลือด
กระดิ่งช้างเผือก (Trichosanthes tricuspidata) พบในป่าธรรมชาติ เมล็ดสีน้ำตาลอมดำ ใบใช้ตำพอกฝี รากต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่าย ดอกแก้ไข้ แก้จุกเสียด ผลต้มน้ำดื่มใช้เป็นยาถ่าย
มะระขี้นก (Momordica charantia) เป็นพืชชนิดเดียวกับมะระทั่วไปหรือมะระจีน แต่มีรสขมมากกว่า มะระขี้นก ทั้งใบ ราก ดอก เมล็ด ผล มีมีสรรคุณในทางยามาก อาทิเช่น ผล ใช้แก้ร้อน ร้อนในกระหายน้ำ แก้บิด ตาบวมแดง แผลบวมเป็นหนอง ฝีอักเสบ เมล็ด เพิ่มพูนลมปราณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ใบ แก้โรคกระเพาะ บิด แผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธ ดอกใช้แก้บิด รากใช้แก้ร้อน แก้พิษ บิดถ่ายเป็นเลือด แผลฝีบวมอักเสบ และปวดฟัน ส่วนเถาใช้แก้ร้อน แก้พิษ บิดฝีอักเสบ ปวดฟัน ทั้งใบและผลของมะระขี้นกยังใช้ประกอบอาหารได้เช่นเดียวกับมะระทั่วไป โดยลดความขมด้วยการคว้านเมล็ดออก และลวกในน้ำเดือด
หล่อฮังก๊วย (Siraitia grosvenorii) เป็นพืชวงศ์แตงพบตามธรรมชาติในพื้นที่ภาคเหนือของไทยและตอนใต้ของจีน ในการแพทย์แผนจีนจะนำผลของหล่อฮังก๊วยไปตากแห้งหรือลนไฟจนแห้ง สามารถนำมาต้มหรือผสมกับจับเลี้ยงเพื่อปรุงเครื่องดื่มแก้ร้อนในได้
เจียวกู่หลาน ( Gynostemma pentaphyllum) พบทั่วไปในเอเชีย ในประเทศไทยพบตามธรรมชาติที่ดอยอินทนนท์ ส่วนที่ใช้เป็นยา คือต้นส่วนเหนือดินและ ใบมีรสขม หรือขมอมหวาน โดยมีสรรพคุณหลายประการ เช่น ต้านอักเสบ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน บำรุงสายตา บำรุงร่างกาย
ฟักข้าว (Momordica cochinchinensis) เยื่อหุ้มเมล็ดของผลสุก มีสารที่มีประโยชน์มากมาย เช่น สารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งต่างๆ เช่น ต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร ฯลฯ
แตงกวา เมล็ดอ่อนมีฤทธิ์ช่วยต่อต้านมะเร็ง ช่วยลดความดันโลหิต เถาช่วยรักษาสมดุลต่าง ๆ ในร่างกาย รักษาระดับน้ำตาลในเลือด ระดับภูมิคุ้มกัน ควบคุมระดับความดันเลือด ผลและเมล็ดอ่อนช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ การทำงานของประสาท
แตงไทย ดอกอ่อนตากแห้งต้มดื่มช่วยให้อาเจียน แก้โรคดีซ่าน หรือบดเป็นผงพ่นแก้แผลในจมูก เมล็ดแก่ช่วยในการขับปัสสาวะ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ รากต้มดื่มช่วยระบายท้อง
ตำลึง ใบใช้ในการแก้ไข้ตัวร้อน ตาแดง ตาเจ็บ เถานำน้ำต้มจากเถาตำลึงมาหยอดตาแก้ตาแดง ตาฟาง
ดอกตำลึงช่วยทำให้หายจากอาการคันได้ รากใช้แก้อาการอาเจียน ตาฝ้า น้ำยางจากต้นและใบช่วยลดน้ำตาลในเลือด
ฟักเขียว ผลช่วยลดขนาดของเซลล์ไขมัน รักษาโรคเบาหวานแก้ธาตุพิการ ผลและเมล็ดช่วยบำรุงผิวพรรณ สารสกัดจากเมล็ดสามารถช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและมะเร็งได้
ฟักแม้ว การดื่มน้ำที่ต้มจากผลและใบช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการดื่มน้ำที่ต้มจากผลและใบฟักแม้ว ผลและใบช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน นำมาดองเป็นยาขับปัสสาวะ ยอดฟักแม้วช่วยในการขับถ่าย
บวบ ผล เถา และทั้งต้นของบวบสามารถใช้เข้าในตำรับยาแก้ลม บำรุงหัวใจได้ น้ำคั้นที่ได้จากใบสดใช้เป็นยาหยอดตาเด็กเพื่อรักษาเยื่อตาอักเสบ ใช้รักษาเยื่อจมูกอักเสบ เถาใช้รักษาจมูกมีหนองและมีกลิ่นเหม็น เถาและเมล็ดยังใช้รักษาอาการปวดฟัน ยาขับพยาธิ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว เป็นต้น
ฟักทอง ราก น้ำต้มราก กินเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ไอ และแก้พิษของฝิ่น ต้น ยอดอ่อนกินได้ ผล ใช้เป็นอาหาร สามารถเก็บเอาไว้ได้นานเมื่อแก่จัด เป็นยาระบายอย่างอ่อน เยื่อฟุพรุนภายในผลใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ แก้ปวดอักเสบ น้ำมันผล กินเป็นยาบำรุงประสาท เมล็ดกินเป็นยาขับพยาธิตัวตืด ขับปัสสาวะ และบำรุงร่างกาย
แตงโม เมล็ดช่วยบำรุงสมอง บำรุงร่างกาย บำรุงปอด ยาถ่ายพยาธิ ใบใช้ชงลดอาการไข้
อ่านแล้ว ใครมีที่ทางคงหามาปลูกกัน และหลายท่านคงกินพืชผักวงศ์แตงเพิ่มขึ้นแน่ๆ