“……หอมเอยหอมดอกกระถิน
รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง
เห็ดตับเต่าขึ้นอยู่ริมเถาย่านาง
มองเห็นบัวสล้างลอยปริ่มริมบึง ….”
เสียงเพลงดัง มนต์รักลูกทุ่ง ของไพรวัลย์ ลูกเพชร ลอยข้ามผ่านคลองอ้อมนนท์ ชวนให้นึกถึงบรรยากาศสมัยก่อน กลิ่นหอมของไม้ดอกหอม ความร่มรื่นของหมู่พฤกษาไม้ผลตลอดสองฝั่งคลอง เหล่าสกุณาและสรรพสัตว์ส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ ถึงตอนนี้จะยังคงอยู่แต่ก็เริ่มลดน้อยถอยลงตามกาล ในเพลงยังกล่าวถึงพันธุ์พืชที่พบเห็นได้ทั่วไป ดอกกระถิน เห็ดตับเต่า เถาหญ้านาง บัว เป็นต้น
ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมคลองอ้อมนนท์ส่วนใหญ่เป็นชาวสวน ทำสวนปลูกพืชหลายชนิดตามภูมินิเวศ พื้นที่ริมน้ำหรือที่เรียกว่า จิงเลน น้ำจะท่วมถึงทุกปี จะมีการทำสวนแบบยกร่อง มีคันดินไม่สูงมาก จึงปลูกพืชล้มลุก เช่น ถั่ว งา อ้อย และมีไม้ยืนต้นที่ทนน้ำท่วมได้ปลูกเป็นแนวรอบ เช่น ชมพู่มะเหมี่ยว มะม่วงยายกล่ำ ละมุดไทย มะดัน มะไฟ ลิ้นจี่ใบขิง เป็นต้น ถัดขึ้นมาจะเป็นที่ดอน ชาวสวนนิยมปลูกทุเรียน มังคุด เป็นไม้ประธาน และมีไม้อื่นปลูกร่วม เช่นทองหลางน้ำ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มซ่า เพื่อเป็นเพื่อนให้กับทุเรียน และเป็นรายได้เสริมตลอดทั้งปี นอกจากนี้ในสวนทุเรียนยังมีเห็ดที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ คือเห็ดตับเต่า
เห็ดตับเต่าเป็นเห็ดธรรมชาติ ขึ้นได้ดีทั่วทุกภาค ในสภาพดินที่มีความชื้นสูง ดังในเนื้อเพลงที่เห็ดตับเต่าขึ้นอยู่ริมเถาหญ้านาง เห็ดตับเต่ายังขึ้นกับไม้ชนิดอื่นๆได้อีกมากมาย โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง มักพบขึ้นในทุ่งโสน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่สวนทุเรียนนนท์ ขึ้นอยู่กับต้นทองหลางน้ำ พืชตระกูลส้ม มะดัน เป็นต้น
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปช่วยพี่เทิดหรือคุณเทิดพงษ์ ทัศนียะเวช เก็บเห็ดตับเต่าในสวนทุเรียนนนท์ บางรักน้อย ได้ฟังเรื่องราวที่มาที่ไปของเห็ดตับเต่าในสวนทุเรียน ที่เช้าวันนั้นเราสามารถเก็บเห็ดได้มากถึง 15 กิโลเพียงไม่ถึงชั่วโมง พี่เทิดเล่าว่าคุณแม่ “ไสว ทัศนียะเวช” ผู้ที่พลิกฟื้นชื่อเสียงทุเรียนนนท์ หลังน้ำท่วมปี 2538 ร่วมกับคุณลุง “แสวง นาคนาค” และคุณลุง “สมพงษ์ สกุลดิษฐ์” เป็นเสาหลักพลิกฟื้นทุเรียนนนท์ ชาวสวนจึงมักเรียก 3 ท่านว่า “สสส.”
คุณแม่ไสว สังเกตว่าในสวนทุเรียนนั้นมีเห็ดตับเต่าขึ้นตลอดเกือบทั้งปี สามารถขายเลี้ยงชีพได้ในขณะที่ทุเรียนยังไม่ให้ผล แต่เห็ดตับเต่าในสวนยังมีน้อย จึงศึกษาหาความรู้เพิ่มในงานเกษตรแฟร์ เมื่อปี 2538 และซื้อเชื้อเห็ดตับเต่าจากมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือมา ½ กิโล ในราคา 6,500 บ. มาทดลองใส่ในแปลงที่เพิ่งปลูกทุเรียน 1 แปลง และได้ซื้อมาเพิ่มอีก 3 ครั้ง ขยายไปอีก 4 แปลง ในปี 2544
คุณแม่ไสวได้ให้พี่เทิดเข้ามาดูแลสวนทุเรียน และทำเห็ดตับเต่า ซึ่งขายทำรายได้ระหว่างที่ยังไม่ได้ผลทุเรียน สมัยนั้นราคาหน้าสวนกิโลละ 40 บาท ในแต่ละครั้งที่เก็บกินเก็บขายยังมีไม่มาก จึงคิดเทคนิคการเก็บโดยการปล่อยเห็ดตับเต่าให้แก่เต็มที่และทิ้งสปอร์ในสวนต่อ อย่างน้อย 2 รุ่น ก่อนหยุดเก็บเห็ดก่อนเข้าพรรษา เห็ดตับเต่าจะเริ่มเก็บได้หลังปล่อยสปอร์แล้ว 1 ปี เริ่มเก็บได้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม มักขึ้นกับรากต้นทองหลางน้ำ พืชตระกูลส้ม มะดัน โสน หญ้าไทร ช่วงที่เห็ดขึ้นชุกมาก สามารถเก็บได้ถึงวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ดอกเห็ดจะแก่เร็วภายใน 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความชื้นและแสง การเลือกเห็ดตับเต่าที่ดีคือก้านเห็ดและหมวกเห็ดต้องแน่น ไม่นิ่มเหลว ใต้หมวกเห็ดต้องเป็นสีเหลืองสว่าง ถ้าเริ่มเหลืองเข้มหรือดำ นั่นเห็ดตับเต่าพร้อมปล่อยสปอร์แล้ว
เห็ดตับเต่าสามารถทนต่อน้ำท่วมได้ มีข้อสันนิษฐานว่าเชื้ออาจจะมากับน้ำท่วมก็ได้
เมื่อเห็ดเกิดมากก็เป็นที่ต้องการของขโมยที่เข้ามาเก็บเห็ด สวนของพี่เทิดประสบปัญหากับโจรขโมยเห็ดมาตลอด หลังพี่เทิดเข้าไปเก็บ โจรจะตามเข้ามาทันทีเช่นกัน เหตุเกิดหลายครั้ง บางครั้งเจอกันพบหน้า เป็นคนที่มาจากทั่วทั้งจังหวัดนนท์ บางคนมาไกลจากอำเภออื่นๆของนนทบุรีก็มี
จากที่ได้คุยกับพี่เทิดได้ข้อสรุปที่น่าสนใจมากร่วมกันว่า เห็ดตับเต่าเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดที่สำคัญของสวนทุเรียนนนท์ที่ไม่ใช้สารคเมีเลย เพราะเห็ดตับเต่าอ่อนไหวมากต่อการใช้สารเคมีแม้เพียงเล็กน้อย ทั้งสารเคมีกำจัดหญ้า สารเคมีฆ่าเชื้อรา เช่น เมทาแลกซิล และสารเคมีกำจัดแมลง เช่น ไดโนทีฟูแรม หรือแม้แต่เชื้อไตรโคเดอร์มา ที่เป็นราใช้ควบคุมพืชอื่น ก็มีผลกระทบทำให้เห็ดตับเต่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย
เมนูเห็ดตับเต่าที่พี่เทิดนิยมทำกินในครอบครัวคือ เห็ดตับเต่าจิ้มน้ำพริก โดยนำเห็ดตับเต่าต้มน้ำเดือดให้สุก 10 นาที แล้วรีบมาแช่น้ำเย็นจัด จะได้เห็ดตับเต่าเนื้อแน่น หนึบอร่อย ตามภาพเลยครับ