ในโลกนี้มีแมลงประมาณ 800,000-1,000,000 ชนิด เป็นแมลงศัตรูพืชประมาณ 1,000 ชนิด (และน้อยกว่า 10,000 ชนิดที่อาจสร้างความรบกวนเล็กน้อยเป็นครั้งคราว) ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับแมลงที่เป็นประโยชน์ เช่น เฉพาะแมลงกลุ่มแตนเบียน (parasitic wasps) ซึ่งเป็นแมลงที่เป็นประโยชน์คอยควบคุมแมลงศัตรูพืชนั้นมีความหลากหลายมากกว่า 500,000 ชนิด

แมลงตัวเบียน (parasitoids) กลุ่มแตนเบียน ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเกาะกินแมลงชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้แมลงที่ถูกเกาะกินอ่อนแอและตายไปในที่สุด โดยจะมีช่วงการเติบโตที่ต้องอาศัยอยู่ภายในหรือภายนอกของแมลงชนิดอื่นในระยะต่างๆ เช่น

  • แมลงเบียนไข่ หมายถึง แมลงเบียนที่ทำลายตัวอาศัยในระยะไข่ โดยตัวเต็มวัยตัวเมียจะวางไข่เข้าไปในไข่ของตัวอาศัย ไข่ของตัวเบียนเมื่อฟักเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินภายในไข่ และเข้าดักแด้อยู่ภายใน เมื่อถึงระยะตัวเต็มวัยก็จะเจาะเปลือกไข่ออกมา ตัวอย่างของแมลงเบียนไข่ เช่น แตนเบียน Trichogramma ซึ่งทำลายไข่ของผีเสื้อศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ และแตนเบียน Anastatus ซึ่งทำลายไข่ของมวนลำไย เป็นต้น
  • แมลงเบียนที่ทำลายตัวหนอนหรือตัวอ่อนของตัวอาศัย เรียกว่า แมลงเบียนหนอน หรือแมลงเบียนตัวอ่อน ซึ่งตัวเต็มวัยตัวเมียของแมลงเบียนจะวางไข่ไว้บนหรือในตัวหนอน โดยตัวเต็มวัยจะต่อยแมลงอาศัยให้เป็นอัมพาตก่อนวางไข่ ไข่เมื่อฟักออกมาเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินอยู่ภายนอก หรือภายในตัวหนอนของตัวอาศัย เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะเข้าดักแด้อยู่ภายนอกตัวอาศัย แต่บางชนิดก็เข้าดักแด้อยู่ในตัวอาศัย ตัวอย่างของแมลงเบียนหนอน เช่น แตนเบียน Cotesia plutellae ซึ่งทำลายหนอนใยผัก แตนเบียน Apantales spp. ซึ่งทำลายหนอนกระทู้ผักและหนอนคืบผัก และแตนเบียนตัวอ่อน Aphidius sp. ทำลายเพลี้ยอ่อนผักกาด
  • แมลงเบียนที่ทำลายตัวอาศัยในระยะดักแด้เรียกว่า แมลงเบียนดักแด้ ตัวอย่างของแมลงเบียนกลุ่มนี้ได้แก่ แตนเบียน Brachymeria spp. ซึ่งทำลายดักแด้ของหนอนผีเสื้อศัตรูพืชหลายชนิด
  • แมลงเบียนตัวเต็มวัย จะเข้าทำลายตัวอาศัยตัวเต็มวัยซึ่งจะพบน้อยชนิด เช่นแตนเบียน Pseudogonotopus hospes ที่ทำลายตัวเต็มวัยของเพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียวและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลของข้าว นอกจากนี้จะมีแมลงเบียนหลายชนิดที่ทำลายตัวอาศัยในระยะหนอน แต่จะเจริญเติบโตครบวงจรชีวิตในระยะดักแด้ เราเรียกแมลงเบียนกลุ่มนี้ว่า แมลงเบียนหนอนดักแด้

ตัวอย่างวงค์ของแตนเบียนที่พบในประเทศไทย

  1. แตนเบียน superfamily Chalcidoidea ในธรรมชาติอาจมีมากกว่า 500,000 ชนิด แต่เป็นที่รู้จักแล้วประมาณ 22,500 ชนิด ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมาก โดยทั่วไปมีขนาด 2-3 มิลลิเมตร เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการควบคุมทางชีวธี (มีส่วนน้อยที่เป็นแมลงศัตรู) โดยมีมากว่า 800 ชนิดที่ถูกนำไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี โดยเฉพาะในวงศ์ Aphelinidae และ Encyrtidae ส่วนใหญ่จะเบียนโฮสต์ในระยะไข่และตัวอ่อนของแมลงในกลุ่มผีเสื้อ แมลงวัน ด้วง และมวน ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของพืช
  2. แตนเบียนวงศ์ Ichneumonidae (ichneumon wasps หรือ ichneumonids) มีความหลากหลายสูงมาก โดยคาดว่าจะมีมากกว่า 100,000 ชนิด แต่นักกีฎวิทยารู้จักเพียงประมาณ 25,000 ชนิดเท่านั้น แตนกลุ่มนี้จะทำลายแมลงศัตรูพืชกลุ่มผีเสื้อ ด้วง แมลงวัน ในระยะก่อตัวเต็มวัย นิยมนำมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืชในการเกษตร
  3. แตนเบียนวงศ์ Braconidae เป็นวงศ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก Ichneumonidae คาดว่ามีอยู่ราวๆ 30,000-50,000 ชนิด แต่เป็นที่รู้จัก 17,000 ชนิดเท่านั้น ส่วนใหญ่จะมีสีน้ำตาล น้ำตาลส้ม น้ำตาลเข้มถึงดำ จะมี่มีสีสันสดใสมากนัก เป็นแตนเบียนกลุ่มที่นิยมนำมาใช้ในการควบคุมแมลงศัตรู โดยใช้วิธีเบียนแมลงในกลุ่มผีเสื้อ ด้วง แมลงวัน ผึ้ง เพลี้ยอ่อน เป็นต้น
  4. แตนเบียนวงศ์ Evaniidae เท่าที่รู้จักมีอยู่ราวๆ 400 ชนิด เป็นปรสิตต่อแมลงสาบ โดยจะวางไข่บนไข่แมลงสาบหรือโฮสต์อื่น แล้วกินไข่หรือเปลือกไข่เป็นอาหาร พบได้ตามอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่่มีแมลงสาบอาศัยอยู่
  5. แตนเบียนวงศ์ Stephanidae (crown wasps) มีการศึกษาแล้วประมาณ 345 ชนิด บางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้ว เป็นแตนเบียนของตัวอ่อนด้วงที่อาศัยอยู่ในไม้ (wood-boring beetle)

เกษตรกรรมของเราห่างไกลจากธรรมชาติมากแค่ไหน ดูได้จากคนในแวดวงเกษตรกรรมที่รู้จักชนิดและยี่ห้อสารเคมีการเกษตร มากกว่าการรู้จักและจดจำแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง