นิเวศเกษตร (Agroecology) เป็นแนวทางเชิงนิเวศเพื่อการเกษตร ซึ่งมักถูกอธิบายว่าเป็นการทำเกษตรกรรมแบบใช้ปัจจัยภายนอกต่ำ นอกจากนี้ยังใช้คำศัพท์อื่น ๆ เช่น เกษตรกรรมฟื้นฟู (regenerative agriculture) หรือ การเกษตรเชิงนิเวศ (eco-agriculture)

นิเวศเกษตร ไม่ได้เป็นเพียงชุดของแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรเท่านั้น แต่มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคม เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร เพิ่มมูลค่าในท้องถิ่น และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการลดห่วงโซ่คุณค่า (short value chains) ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน พร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

นิเวศเกษตรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ เพราะในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา พันธุ์พืชมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ได้หายไป สายพันธุ์สัตว์เลี้ยงเพื่อการเกษตรหายไปครึ่งหนึ่ง จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตร (FAO) ระบุว่า มีพืชเพียง 9 ชนิดเท่านั้น ที่เราใช้ในการผลิตพืชผลคิดเป็นสัดส่วนถึง 66% ของการผลิตพืชผลทั้งหมด แม้ว่าในโลกนี้จะมีพืชที่กินได้อย่างน้อย 30,000 ชนิดก็ตาม

การสูญเสียความหลากหลายในอาหารของเรานั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน และภาวะทุพโภชนาการ

การพัฒนาและส่งเสริมเทคนิคการเกษตรทางการเกษตรสามารถช่วยให้ดินมีผลผลิตมากขึ้น ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและมลภาวะให้น้อยที่สุด และเพิ่มความหลากหลายให้กับพืชผล สิ่งนี้จะทำให้การเกษตรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องนิเวศเกษตรเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นิเวศเกษตรได้รับการสนับสนุนในทางสากลนั้น เป็นเพราะวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผู้คนได้กลับมามุ่งเน้นที่นิเวศเกษตร ซึ่งนำแนวทางแบบองค์รวมและเป็นธรรมชาติมาใช้เพื่อการเกษตร
เกษตรกรรมมีส่วนรับผิดชอบต่อการสร้างก๊าซเรือนกระจกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก เราจึงจำเป็นต้องค้นหาแนวทางที่แตกต่างในการผลิตอาหาร หากเราต้องบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ

การสูญเสียความหลากหลายของสายพันธุ์ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง 50 ปีก่อนหน้านี้ สิ่งนี้กระตุ้นให้เกิดความตระหนักมากขึ้น เช่น คุณค่าทางเศรษฐกิจของแมลงผสมเกสร ไม่ใช่แค่ผึ้ง แต่เป็นสัตว์อื่นๆ อีกจำนวนมาก ทัศนคติต่อวิธีการทำฟาร์มของเราเปลี่ยนไป และโควิด-19 อาจทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เร็วขึ้น

ภายในปี 2050 โลกของเราจะต้องได้รับอาหารเพียงพอสำหรับประชากรเกือบ 10 พันล้านคน เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเปลี่ยนระบบการเกษตรและอาหารของเราเพื่อให้ทำงานได้โดยไม่ขัดต่อธรรมชาติ ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการยังคงมีอยู่ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีที่เราทำการเกษตรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความอดอยากเป็นศูนย์ภายในปี 2573

นิเวศเกษตรมุ่งเน้นไปที่วิธีการที่อิงกับระบบนิเวศ ซึ่งสามารถกระตุ้นระบบการผลิตทางการเกษตร ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปกป้องโลกที่มีชีวิตของเรา