หนังสือเล่มนี้ประพันธ์โดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตั้งแต่ พ.ศ.2427 (ในภาพเป็นฉบับพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2471) โดยรวบรวมชื่อต้นไม้ต่างๆ คิดเป็นกลอนขึ้น จัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เด็กฝึกอ่านและติดตามที่เล่า แจกไว้ตั้งแต่แม่ ก กา ไปจนแม่เกย ส่วนสัตวาภิธาน เป็นการแบ่งประเภทสัตว์ในโลกเป็น 4 ประเภท คือ พหุบาท (สัตว์มีเท้ามากเกิน 4 เท้าขึ้นไป) จัตุบาท (สัตว์ 4 เท้า) ทวิบาท (สัตว์ 2 เท้า) และอปาทะกะ (สัตว์ไม่มีเท้า) แต่งเป็นกลอนตั้งแต่แม่ ก กา ไปจนแม่เกย เช่นกัน
พระยาศรีสุนทรโวหาร ยังเป็นผู้เขียนตำราเรียนมูลบทบรรพกิจ ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีผลงานหนังสือทางภาษาไทยอีกจำนวนมาก เช่น อนันตวิภาค เขมรากษรมาลา นิติสารสาธก ปกีรณำพจนาตถ์ (คำกลอน) ไวพจน์ประพันธ์ วรรณพฤติคำฉันท์ คำนมัสการคุณานุคุณ เป็นต้น
ตัวอย่างสายพันธุ์ทุเรียน ท่านบันทึกไว้ด้วยกาพย์ยานี 11 ดังนี้
“จักร่ำพันธุ์ทุเรียน ชื่อเพี้ยนเปลี่ยนมากสาธารณ์
ทองสุก ทองย้อยยาน อีกทองหยิบยังทองทา
ทองคำก้านต่อต้น นางทองย่นใหญ่สาขา
กระปุกสุวรรณา กระปุกนากหลากผิวพรรณ
ทุเรียนตลับทอง สีเรืองรองดูฉายฉัน
ตลับนากผิวมัน สีนากนั้นพรรณหนึ่งมี
ทุเรียนกบแม่เฒ่า เป็นต้นเค้าแต่เดิมที
กบเล็บเหยี่ยวปักษี กบเม็ดในกบกิ่งแข็ง
ตั้งต้นเหราเดิม ตอนต่อเติมมาปลูกแปลง
เห-ราใบมันแสง เป็นมันยับจับนัยนา
ทุเรียนเหราง่อย ดูหงอยก่อยไม่แน่นหนา
หนึ่งเรียกชื่อเห-รา พันสมุดสุดหวานมัน
เรียกการะเกดพุ่ม ผลปุ้มลุ่มงามตระการ
การะเกดแดงลำสาน การะเกดเหลืองเรืองรังสี
การะเกดสีเขียวสด งามปรากฏนิลมณี
การะเกดตาเหมือนมี ชื่อตามเค้าเจ้าของสวน
หนึ่งชื่อสาวสวรรค์ เหลือจะกลั้นจะอดออม
แพงถูกก็จะยอม จนหมดมือ ซื้อสาวสวรรค์
ทุเรียนนางแดงโศก ต้องวิโยคจึงจาบัลย์
แดงเถาเข้าพัวพัน นางชมพู่ดูสุดใส
หนึ่งนามนางกะเทย ใครมิเคยพบแคลงใจ
เมล็ดตายทุกเมล็ดไป ไม่มีเพาะเสาะสืบพันธุ์
นางหนักคู่นางล่า แดงตาสา นางเขียนมัน
นางตลับวิไลวรรณ นางกระท้อนอ่อนละมุน
นางกระเทียมอีกนางลือ ทั้งสองชื่อเหม็นเฉียวฉุน
สีเทียมนพคุณ ยวงใหญ่หนาน่าพิศวง
ทุเรียนแดงแม่เฒ่า เป็นต้นเค้าอันใหญ่ยง
แดงเปียกเรียกนามคง แดงช่างเขียนทุเรียนจร
ทุเรียนเขียวตำลึง ทุเรียนหนึ่งนามมังกร
อีกชื่องากุญชร เพราะเหลืองอ่อนดุจสีงา
กำปั่นและอีมาตร โดยรสชาติก็โอชา
จำปีและจำปา เทียบด้วยสีมาลีสอง
จระเข้ยวงยาวใหญ่ สีประไพเหลืองเรืองรอง
ปลัดคำชื่อเจ้าของ ปลากะโห้ เทโพผล
ปักโข โมรานี้ สองชื่อชี้ดูชอบกล
ปักเปาแขนอ่อนปน นางปากท่อธรณีไหว
สนั่นสนิทเนื้อ ผลโตเหลือยิ่งใครใคร
สองนางงามไสว ผลน่าชมนมสวรรค์
หนึ่งชื่อพระสมุทร อีกละมุดรสหวานมัน
หมอนทองพ้องนามกัน กับมะม่วงหมอนทองมี
ทุเรียนรูปโป้งโล้ง เรียกหอยโข่งเขียวขจี
รูปรัดไม่เรียวรี อีกหอยขมกลมย่อมเยา
ทุเรียนชื่อสายหยุด เรียกสมมุติด้วยกลิ่นเกลา
สีลานต้นเสลา สีนวลหวายคล้ายสีสาน
หนึ่งชื่อนกกระจิบ ผลห่ามดิบดูตระการ
ก้านยาวผลย้อยยาน อีกยวงปลิ้นกลิ่นฉุนแรง
นางเป็ดรูปคล้ายเป็ด ท้ายเฟ็ดเฟ็ดเรื่อสีแดง
พันธุ์หนึ่งชื่อแมลง ป่องท้ายงอนช้อนเชิดชู
ทุเรียนชื่อมีหลาย แยกขยายออกให้ดู
นักเลงเล่นตัดพู เขามักรู้รูปพรรณ
เพราะเขาเคยสังเกต ผลพูเภทเหตุสำคัญ
จึงกล้ามาพนัน ชนะกันด้วยแม่นหมาย”
บันทึกชื่อสายพันธุ์มะม่วง ได้เขียนเป็นเป็นกาพย์ยานี 11 ดังนี้
“จักกล่าวพรรณมะม่วง ท่านทั้งปวงจงรู้ความ
มะม่วงเมืองสยาม จะนับนามเอนกนัก
จะจัดที่จำได้ พอคนไทยแจ้งประจักษ์
มีหลากโดยเลสลักษณ ประเภทพรรคอัมพาผล
พิมเสนมีดาดื่น เปนภาคพื้นทุกตำบล
รู้จักแทบทุกคน ยังประดนพิมเสนมัน
หมอนทอง อกร่องรส หวานปรากฏรสสวรรค์
แมวเซามีสองพรรณ แมวเซาขาว แมวเซาดำ
พรวนขออีกพรวนควาย แก้วๆกลายมีประจำ
ควันเทียนแลทองดำ มลิอ่อง ทองปลายแขน
น้ำตาลปากกระบอก ขานนามออกทุกดินแดน
มะม่วงนายขุนแผน ปลูกเมื่อทัพกลับคืนมา
การเกดอีกไข่ไก่ ทุเรียนใหญ่ สังขยา
ลิงโลด มลิลา แก้วลืมรัง หนังกลางวัน
กระสวยรสสนิธ อินทรชิต ทศกรรฐ์
แขนอ่อนอีกนวนจันทร์ น้ำตาลจีน เทพรำจวน
ไข่เหี้ย ไข่นกกระสา กะล่อนป่า กะล่อนสวน
อีกสาวละห้อยหวน สาวสกิดมารดาดู
มะม่วงเทพรำลึก แขกขายตึกอีกคราบหมู
กะละแมมีช่อชู หนึ่งชื่อว่าชาละวัน
มะม่วงพราหมณ์ขายเมียนี้ ดูท่วงทีรสขยัน
เมียรักดังชีวัน ยังสู้ขายจ่ายอำพา
มะม่วงสาวกระทืบหอ นี่ก็ส่อรสโอชา
สาวอยากจะโภชา จนโกรธากระทืบเรือน
มะม่วงพิมสวรรค์ ชื่อทั้งนั้นไม่มีเหมือน
ล่วงชั้นตวันเดือน ถึงสวรรค์ชั้นวิมาน
มะม่วงชื่อรำพึง คนคนึงด้วยรสหวาน
ม่วงเศียรคชสาร อีกหัวป้านมะม่วงเนย
กระแตลืมรังเรียก โดยสำเหนียกกันตามเคย
ค้างคาวลืมลูกเลย หลงกินเพลินเนิ่นนานวัน
ทองขาว ทองดำดู ขึ้นเป็นคู่แข่งเคียงกัน
แก้วขาว แก้วดำปัน เปนระยะคละกันไป
สุวรรณหงสเห็น แต่เขาเล่นละคอนไทย
เปนม่วงเสียเมื่อไร อยากใคร่รู้ดูหงสทอง
โสนน้อย ผอบนาก เจ้าเงาะหลากเพื่อนทั้งผอง
กระบุ่ม กระเบาปอง เป็นเหมือนเงาะ เยาะรจนา
มะม่วงชื่อการเวก นามนกเอก ในเวหา
หอยแครง แลแตงกวา หัวกิ้งก่า เหนียงนกกระทุง
คิ้วนาง ดูน่ากิน เทพสิน เหมือนชื่อกรุง
แลเห็น เปนหมู่มุง ม่วงสาวน้อย เยี่ยมห้องหวน
หัวโต ต้นต่ำเตี้ย ผัวตีเมีย ร้องไห้ครวญ
สาวน้อย สีน้ำนวล สาวรัญจวน สาวสวรรค์
มะม่วง ผัวพรากเมีย คิดน่าเสีย ใจครันครัน
แก้วพราก แม่จากกัน รสสำคัญ เห็นรุนแรง
สาริกาลืมรังอยู่ วัดวังคู่ กับแก้มแดง
มะม่วงกระแอมแฝง มะม่วงแฟบ แอบพุดไทย
สาวตบอุราร่ำ ด้วยระกำ จะจำไกล
จากม่วง ของชอบใจ ตบอุรา น่าสงสาร
มะตูม อีกตับเป็ด หวานมันเด็ด ดุจน้ำตาล
อ้ายฮวบใหญ่ ใครไม่ปาน สับสำปั้น น้ำตาลทราย
มะม่วง เขียวสะอาด กำเนิดชาติ พิมเสนกลาย
มะม่วง กระจิบลาย อีกม่วงล่า หมาไม่แล
ม่วงสาวกระทืบยอด เดิมนางรอด บุตรตาแห
เดินไป ไม่ทันแล เหยียบม่วงเล็ก เด็กว่าขาน
ม่วงนั้น ครั้นใหญ่มา ดกระย้า ใครจะปาน
จึงตั้ง นามขนาน กระทืบยอด รอดบาทา
มะม่วง มะละลอ สาเกก่อ เปนสมญา
เทพรส รสโอชา อัมพาดื่น พื้นดินดอน
เหลือจะ ร่ำไห้สุด ชื่อสมมุต นามกร
นักเรียน พึ่งแรกสอน อ่านกลอนเล่น เป็นสำราญ”
ส่วนสายพันธุ์กล้วย ท่านแต่งเป็นกาพย์ฉบัง 16 ไว้ดังนี้
“กล้วยกล้าย มีหลายกระบวน กล้วยกรัน จันนวล อีก น้ำว้า น้ำไทย
กล้วยน้ำกาบดำ ก้านใบคล้ายกับน้ำไทย ผลใหญ่และยาวกว่ากัน
กล้วยกุเรียกกล้วยสั้น ผันเพี้ยนนามจำนัน จะหนีที่คำหยาบคาย
ตีนเต่าตีนตานี กลาย กล้วยน้ำเชียงราย กล้วยส้ม หักมุก มูลมี
กล้วยน้ำนมราชสีห์ อีกกล้วยร้อยหวี บายสีก็เรียกนามสอง
หอมเขียวกล้วยค่อมหอมทอง หอมจันนวลละออง อีกกล้วยที่เรียกเปลือกบาง
นี่คือกล้วยไข่คำกลาง ท่านจัดแบบวาง กล้วยกระกล้วยพระก็มี
กล้วยครั่ง ดุจครั่งย้อมสีแดงจัดรูจีทั้งหวีทั้งเครือเจือแดง
กล้วยนากเพียงนากเปล่งแสง กล้วยกรามแรดแดง หนึ่งนามว่ากรามคชสาร
กล้วยสีสะโต โวหารเรียกแต่โบราณ อีกกล้วยประจำพาน
หนึ่งเล็บมือนางนามกร ตีบหอมขจร บ้างเรียกว่ากล้วยกรบูร
นางเงย สีงามจำรูญ กินดีมีมูล ภิมเสร แลสมนมสวรรค์
หอมว้าตานีอารัญ อุบลปนกันกับตาลปัตรฤาษี
กล้วยแข้ หนึ่งเรียกกัทลี กาบก็มีมักมีข้างแดนละว้าป่าไกล
มลิอ่องผิวผ่องอำไพ นางนวลยวนใจ กล้วยไร่กะเหรี่ยงเรียกนาม
พรรณกล้วยมีหลากมากตาม ประเทศเขตคาม นิคมและเขตดงดอน
เหลือจะร่ำนามกร ลัดบทลดทอน แต่ที่รู้แจ้งแห่งนาม”
ที่จริงมีบันทึกความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบอื่นๆ เช่น อยู่ในคำขับสู่ขวัญข้าว เป็นต้น