ไม้ยืนต้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบการปลูกพืชของประเทศเขตร้อน ซึ่งเดิมพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ล้วนเคยเป็นเป็นป่ามาก่อน

มีวิธีการหลากหลายวิธีในการฟื้นฟูระบบนิเวศเกษตรโดยเพิ่มไม้ยืนต้นกลับเข้าไปสู่พื้นที่ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงที่เป็นประโยชน์ ให้ร่มเงา กันลม ดูดแร่ธาตุอาหารระดับลึกมาเป็นปุ๋ยธรรมชาติแก่พืชปลูก ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ สมุนไพร หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มากน้อยแตกต่างๆกัน แล้วแต่การคัดเลือกชนิดไม้ยืนต้นที่ปลูก ระบบการปลูก และการจัดการ

ตัวอย่างที่นิเวศเกษตรยกมาให้เห็น เป็นตัวอย่างทั้งในประเทศไทย และประเทศเขตร้อนอื่นๆ ทั้งที่เป็นระบบการจัดการแบบใหม่ และระบบแบบดั้งเดิม

สามารถนำมาปรับใช้ในแต่ละภูมินิเวศ และจัดการให้เหมาะสมกับสภาพทางกายภาพ เศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ

แต่ละแนวทางล้วนมีข้อดี ข้อจำกัด และควรค้นคว้า ศึกษา เพราะการปลูกไม้ยืนต้นต้องอาศัยเวลาและการจัดการที่เหมาะสม

ไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปใดๆที่เหมาะสมกับพื้นที่ของเรา เท่ากับรูปแบบ/ระบบที่ปรับปรุงพัฒนาขึ้นในพื้นที่ของเราเอง

คันนาต้องกว้างเพียงพอ และความสูงของคันนาต้องป้องกันน้ำท่วมถึง และการระบายน้ำดีไม่ให้รากแช่น้ำ
เหมาะกับที่นาน้ำน้อย หรือจัดการระบายน้ำได้ดี ถ้าน้ำท่วมสูง ต้องไปใช้ระบบยกร่องแบบสวนทุเรียนเมืองนนท์ ซึ่งมีคันโอบสูงเกินระดับน้ำท่วมใหญ่ป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง
การปลูกไม้ยืนต้นในคันนา มีผลกระทบต่อการติดรวงไม่มากก็น้อย คัดเลือกไม้ที่มีลำต้นตรงเปลา หรือต้องจัดการกิ่งไม่ให้แผ่กว้างเกินไป
ชั่งผลประโยชน์ที่ได้จากนาข้าวและไม้ยืนต้น/ไม้ผลบนคันนา เพื่อให้ได้ผลประโยชน์(ทั้งทางเศรษฐกิจและนิเวศ)จากทั้งสองทาง
ตาลในนาข้าวเป็นรูปแบบเก่าแก่ที่สุดของการปลูกไม้ยืนต้นบนคันนา
ตาลเป็นตัวอย่างของไม้ยืนต้นที่เหมาะสมกับผืนนา ระบบรากลึกแต่ไม่แผ่กว้าง ลำต้นสูง ร่มเงาน้อย อายุยืนยาว
หัวใจอยู่ที่การจัดการเพื่อให้ได้ประโยชน์จากตาลให้มากที่สุดในยุคสมัยปัจจุบัน
นี่เป็นรูปแบบของการเหลือพื้นที่ป่าดั้งเดิมเอาไว้ในนา
ประโยชน์สำคัญที่สุดคือการเก็บเนื้อไม้ไว้ใช้งานในระยะยาวอย่างถาวรในนา และบริการทางนิเวศอื่นๆ
การจัดการ เช่น ตัดสาง ไปจนถึงการจัดการลิดกิ่งก้านมีความจำเป็นเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าว
มะพร้าวมีระบบรากค่อนข้างกว้างเมื่อเปรียบเทียบกับตาล และมีร่มเงามากกว่า การปลูกมะพร้าวต้นเตี้ยซึ่งร่มเงาของใบไม่มีพื้นที่มากเกินไปก็สามารถจัดการให้ปลูกในนาข้าวได้
ในภาพเป็นการปลูกตามร่องคูคลองในนา เป็นการช่วยรักษาคันคลอง และในด้านหนึ่งก็เป็นการตัดระบบรากที่จะไปรบกวนนาข้าวอีกแปลงได้ด้วย
เกาะป่าไม้ในแปลงพืชไร่ หรือแม้กระทั่งนาข้าว เป็นการสร้างแนวกันลมให้กับที่อยู่อาศัย การเหลือพื้นที่ทางนิเวศให้แมลงและสัตว์ที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะ pollinators ได้หลบภัยอยู่อาศัยท่ามกลางพื้นที่กว้างใหญ่ของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ต้องมีวิธีการจัดการให้มีะะยะห่างที่จะตัดแต่งใบไผ่ให้ดูโล่งได้ดี แสงลงถึง ข้าวงาม เพราะระบบดินเป็นดินขุยไผ่ ไผ่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพราะให้ปุ๋ยข้าวไปแล้ว พอถึงวันเก็บเกี่ยวข้าว ไผ่ก็เขียวพอดี เข้าฤดูทำหน่อไผ่นอกฤดู

ภาพและข้อมูล : บ้านสวนธนาคารดิน-เกษตรพอใจ
อ่านประสบการณ์เพิ่มเติมได้ที่นี่
https://www.facebook.com/photo?fbid=804801808107283&set=a.606474364606696
แคฝรั่งเป็นไม้ยืนต้นตระกูลถั่วที่ถูกจัดการ ตัดกิ่งก้านและใบเพื่อให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน มีพืชที่ทำหน้าที่ได้แบบเดียวกัน เช่น กระถิน และถั่วมะแฮะ เป็นต้น
พืชตระกูลถั่ว กับ พืชไร่ เป็นระบบการปลูกที่เข้าคู่กันได้ดี เพราะพืชตระกูลถั่วเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดการตัดกิ่งเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ย
รากที่ลึกกว่าของกระถินก็ช่วยนำแร่ธาตุชั้นล่างมาไว้บนดิน ผ่านการร่วงหล่นหรือการตัดกิ่งใบมาคลุมผิวดินบริเวณปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด เป็นต้น
เป็นระบบการปลูกพืชที่เรียกว่า Alley cropping โดยปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับแถวพืชไร่ ในกรณีนี้คือการปลูกกระถินสลับกับแถวถั่ว ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วทั้งคู่ เป็นการเพิ่มไนโตรเจนให้กับดิน และป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
ในกรณีนี้ใช้ถั่วมะแฮะเป็นแนวกันลมสำหรับแปลงมะเขือและพืชผักอื่นๆ มีการจัดการลิดกิ่งก้านด้านล่างของถั่วมะแฮะเพื่อให้มีการะบายอากาศ อย่างเหมาะสมพร้อมกับกันลม ใบจากถั่วยังใช้คลุมดินและให้ปุ๋ยธรรมชาติแก่แปลงพืชผัก
สะตอเป็นพืชตระกูลถั่ว ช่วยกันลม ค้ำจุนระบบนิเวศ และเป็นพืชอาหารและเศรษฐกิจสำคัญ
การปลูกสะตอเป็นแนวกันลม แนวรั้ว หรือปลูกเป็นแถวสลับกับมันสำปะหลัง/พืชไร่ เป็นแนวทางที่จะกลายเป็นระบบการปลูกพืชสำคัญ ที่สร้างความยั่งยืนให้มากขึ้นกับการปลูกพืชไร่ในอีสานและพื้นที่อื่นๆในอนาคต
เหมียงไม่ยืนต้นกึ่งเลื้อยที่ปลูกแซมสวนยางมีอายุยาวนานยิ่งกว่ายางพาราเสียอีก
มีพืชอื่นอีกมากมายที่สามารถปลูกร่วมกับยางพาราได้ เช่น ระกำ สละ หวาย หรือไม้ผลอื่นๆ
เมื่อราคายางพาราตกต่ำ ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต พืชแซมระหว่างร่องยางจะกลายเป็นพืชหลักต่อไป
ตัวอย่างหนึ่งของรูปแบบเกษตรนิเวศเก่าแก่ที่ควรมาแทนที่การปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวในพื้นที่ลาดชัน บนพื้นที่สูง
การปลูกกาแฟในอดีตเป็นการ “ทำสวนกาแฟ” ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ แต่เมื่อ 2-3 ทศวรรษที่แล้ว การปลูกกาแฟปรับเปลี่ยนเป็นการ “ทำไร่กาแฟ” เชิงเดี่ยวในพื้นที่โล่งเพื่อให้ได้ผลผลิตเยอะๆ แต่ก็ไม่ยั่งยืน
การปลูกกาแฟแบบใต้ร่มเงา ( Shade-grown coffee) แม้จะให้ผลผลิตช้า แต่ได้กาแฟที่มีคุณภาพ และยั่งยืนกว่า
เทรนด์การบริโภคกาแฟและอื่นๆของผู้บริโภคจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบการปลูกพืชที่ยั่งยืนมากขึ้นๆเป็นลำดับ
ในประเทศไทยมีไม้ยืนต้นตระกูลถั่วเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาปลูกเพื่อให้ร่มเงา และให้ผลผลิตไปด้วย
ระบบยกร่องและปลูกทองหลางเป็นพืชพี่เลี้ยงเป็นหนึ่งในระบบเกษตรนิเวศเก่าแก่ที่ซับซ้อนและมีคุณค่ามากที่สุดระบบหนึ่งในโลก เช่นเดียวกับ Chinampas ที่พัฒนามาตั้งแต่อาณาจักรเอซเท็ก ของเม็กซิโก
ทองหลางให้ร่มเงา ให้ปุ๋ยธรรมชาติ บังลม รักษาคันดินยกร่อง และยังเป็นที่อยู่ของแมลงที่มีประโยชน์ สำหรับทุเรียน
ชื่อเสียงของทุเรียนนนท์ แยกไม่ออกจากไม้พี่เลี้ยงอย่างทองหลางในระบบยกร่อง
สวนสมรมเป็นหนึ่งในระบบนิเวศเกษตรที่ทรงคุณค่า เพราะให้บริการทางนิเวศแทบไม่แตกต่างจากป่าธรรมชาติ แต่ยังสามารถสร้างผลผลิตหลากหลายให้กับเกษตรกรไปได้พร้อมๆกัน
ในอนาคตเมื่อผู้คนบนโลกตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของระบบนิเวศเขตร้อนมากกว่านี้ สวนเกษตรสมรมอาจเป็นรูปแบบเกษตกรรมในอนาคตหลักของประเทศก็เป็นไปได้