ความเป็นมา
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนฐานทรัพยากรเขตร้อน มีความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สังคมไทยในอดีตได้ใช้ฐานทรัพยากรเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาของการพัฒนาประเทศในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาของเราเองอย่างเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาการเกษตรและอื่นๆ ที่ละเลยต่อฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อทรัพยากรอันสำคัญนี้ของประเทศ
อย่างไรก็ตามในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 สังคมไทยได้ตระหนักในความสำคัญของประเด็นนี้มากขึ้น ดังที่แผนพัฒนาฉบับดังกล่าวได้บรรจุให้ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ” เป็นหนึ่งในห้ายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญของไทย แต่หากพิจารณาแผนและการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีแผนนี้เป็นต้นมา รัฐบาลไทยยังมิได้ดำเนินการอย่างเพียงพอทั้งในเชิงงบประมาณ การมีแผนปฏิบัติการ การบริหารจัดการ และการปลุกกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญต่อการแปรยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง
ประเทศไทยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ 3 ประการในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คือวิกฤติการณ์ด้านอาหาร พลังงาน และวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งวิกฤติการณ์ทั้งสามประการจะส่งผลกระทบต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า
วิกฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ได้แก่การมุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจแบบการค้าที่ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิตที่แท้จริง การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของเชื้อเพลิงดึกดำบรรพ์จนเกือบหมดสิ้นในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ ปัญหานี้ยังก่อผลเป็นลูกโซ่ที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหารและวิกฤติสังคม ดังที่มีผู้ตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้นเป็นลำดับในปัจจุบัน
ข้อเสนอแนะ
เสนอแนะให้รัฐบาลผลักดันนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพให้กลายเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญทั้งในระยะเวลาที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศและขับเคลื่อนให้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญระยะยาวของประเทศ ยุทธศาสตร์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งภายใต้บริบทระดับโลกและระดับประเทศเพราะ
- พลังงานขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกกำลังจะย้ายจากฐานของการใช้พลังงานดึกดำบรรพ์เป็นพลังงานในรูปแบบอื่นๆโดยเฉพาะพลังงานจากฐานทรัพยากรชีวภาพ เช่น พืชพลังงานชนิดต่างๆ การใช้จุลินทรีย์และทรัพยารกรชีวภาพในกระบวนการผลิตพลังงาน เป็นต้น รัฐบาลต้องตระหนักว่าแม้แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเองก็กำลังปรับเปลี่ยนฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของตนไปสู่ฐานด้านอื่นๆแล้ว ในปัจจุบัน
- ประเทศไทยยังมีฐานทรัพยากรชีวภาพในระดับสูง มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถนำมาต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาของชาติและท้องถิ่นในเรื่องอาหาร และสมุนไพร ถึงแม้ว่าทรัพยากรและภูมิปัญญาดังกล่าวกำลังเผชิญกับภัยคุกคามในหลายรูปแบบก็ตาม พึงตระหนักว่าภูมิปัญญาและฐานทรัพยากรของไทยกำลังถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยต่างชาติ เช่น ยาที่ได้จากเปล้าน้อยของไทยมีมูลค่าการตลาดหลายร้อยล้านบาท สารสกัดกวาวเครือที่ต่างชาตินำไปใช้ประโยชน์มีมูลค่ามากกว่าพันล้านบาท มีข้าวสายพันธุ์อื่นของต่างชาติที่มิใช่ข้าวหอมมะลิถูกจำหน่ายในนามข้าวหอมมะลิในตลาดต่างประเทศมูลค่าปีละกว่าสองหมื่นล้านบาท และน้ำสกัดจากมังคุดและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องถูกพัฒนาเป็นการค้าที่ต่างชาติครอบครองตลาดซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาท/ปี
- การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของชาติที่จะสร้างฐานการศึกษาและการพัฒนาที่สำคัญอีกหลายเรื่องสืบเนื่องต่อไปคือ
- สร้างความเข้มแข็งของการศึกษาและพัฒนาวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืนบนรากฐานของสังคมไทย เป็นวิทยาศาสตร์ที่ไม่แปลกแยกกับสังคมไทย เป็นวิทยาศาสตร์ที่เป็นรากฐานให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีที่พัฒนาจากเทคโนโลยีท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน
- สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับภาคชนบทอย่างยั่งยืน มิใช่เป็นนโยบายที่แจกจ่ายเงินให้กับชุมชนต่างๆ โดยปราศจากกระบวนการพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคชนบทในระยะยาว การใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพจะเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนให้ภาคเกษตรในชนบทค่อยๆปรับจากการผลิตวัตถุดิบการเกษตรราคาถูกมาเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ
- วางนโยบายการพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพของไทยซึ่งที่ผ่านมานั้นได้ให้ความสำคัญกับการเดินตามประเทศอุตสาหกรรม และต้องพึ่งพาบรรษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีชีภาพ (Life Science Industy) มาเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ฐานทรัพยากร วัตถุดิบ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศ เกิดประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มในประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- เสนอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการเมกะโปรเจกต์เรื่อง “การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ” โดยใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท/ปี ระหว่างปี 2552-2555 หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท/ปี โดยงบประมาณดังกล่าวต้องจัดสรรเพื่อใช้ดำเนินการกิจกรรม 3 ระดับ ดังนี้คือ
- การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นจำนวนเงิน 8,000 ล้านบาท/ปี
- สนับสนุนนักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ นักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรกรรม อาหาร ยา และพลังงาน ทั้งนี้โดยต้องกำหนดให้เป็นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรชีวภาพ หรือต่อยอดจากองค์ความรู้ของท้องถิ่น คิดเป็นงบประมาณ 8,000 ล้านบาท
- สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดย่อม และบริษัทในประเทศในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง หรือนำเอาผลการวิจัย หรือการวิจัยที่เคยมีแต่เดิมโดยต้องสามารถปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ทั้งในระดับตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้งบประมาณ 9,000 ล้านบาท/ปี กระบวนการบริหารกิจกรรมใน 3 ระดับนั้น ต้องเป็นกระบวนการบริหารแบบใหม่ โดยจัดตั้งคณะกรรมการที่ภาคประชาชน ประชาคมวิจัย ผู้ประกอบการ มีอำนาจในการบริหารและจัดการโครงการได้อย่างเป็นอิสระให้มากที่สุดเท่าที่ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน และระบบกฎหมายของเราจะเอื้ออำนวยได้ โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ๆทำหน้าที่กำกับโครงการ และกระทรวงอื่นๆให้การสนับสนุน
- จัดทำโครงการนำร่อง เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น
ผลการศึกษา “เรื่องโครงการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สนับสนุนให้คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ทำการศึกษา ได้เสนอตัวอย่างของโครงการที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการตามเมกะโปรเจกต์ เพื่อเป็นรูปธรรมในการทำงานของรัฐบาลดังต่อไปนี้
- การฟื้นฟูความหลากหลายของพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน โดยเครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ
- การส่งเสริมระบบการเกษตรที่อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ ฯลฯ
- การสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกรในรูปแบบ “โรงเรียนชาวนา” ซึ่งมีประสบการณ์ดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จ ของมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ภายใต้การสนับสนุนของ โครงการวิจัยการจัดการความรู้เพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- การพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี
- การพัฒนาจัดทำระบบเครือข่ายฐานข้อมูลแห่งชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการบริหารจัดการโครงการฯ ควรอยู่ในรูปคณะกรรมการพหุภาคีซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่ประจักษ์
อ้างอิง
- เค้าโครงข้อเสนอนี้จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อ คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล
- ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจาก สุรวิช วรรณไกรโรจน์ และคณะ(2552) โครงการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ