เกษตรกรรมเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเป็นฐานรองรับระบบเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จำนวนประชากรในภาคการเกษตรจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 4.18 แต่เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 แต่ยังมีเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.30 ของประชากรทั้งหมด และมีแรงงานในภาคเกษตรทั้งหมด 17.41 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.42 ของแรงงานทั้งหมด ภาคเกษตรกรรมจึงเป็นภาคที่มีความสำคัญสูงต่อสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม แบบแผนการผลิตเชิงเดี่ยว ที่พึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากเชื้อเพลิงดึกดำบรรพ์(Fossil fuel) ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาอาหารสัตว์ ปุ๋ย และสารเคมีการเกษตรในสัดส่วนที่สูงมาก โดยในการผลิตพืชทั่วไปมีต้นทุนการผลิตที่เป็นปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรคิดเป็น 35% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ในขณะที่เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสัตว์ และพันธุ์สัตว์สูงถึง 90 % ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
ระบบการผลิตที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรมีราคาสูงและไม่สามารถแข่งขันได้กับผลผลิตราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาหนี้สินที่ยากจะชำระคืนได้ ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ในขณะที่การแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งเน้นการใช้กลไกการสนับสนุนด้านราคาเป็นหลัก ไม่สามารถแก้ปัญหาประสิทธิภาพการผลิตของการเกษตรได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ความเสื่อมโทรมของดินและน้ำ ปัญหาการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังที่พบว่าผักและผลไม้มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน จนถูกตีกลับจากต่างประเทศ และผู้บริโภค 36% มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย
ฐานคติของเกษตรกรรมยั่งยืน
เกษตรกรรมที่ยั่งยืนมีฐานคิดอยู่บนการคำนึงถึงการที่เกษตรกรและผู้บริโภคมีสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดี เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอื่น เกษตรกรต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเกษตร เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ประเทศชาติและประชาชนทุกคนมีความมั่นคงทางอาหาร
เป้าหมาย
ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การขยายการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืน ขยายการตลาดท้องถิ่นและรูปแบบการตลาดอื่นๆ ของเกษตรกรรายย่อย พร้อมทั้งการขยายจำนวนผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์จากเกษตรกรรมยั่งยืนให้เพิ่มขึ้น
แนวทางหลัก
เกษตกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆเกิดขึ้นจากริเริ่มของภาคประชาชน และปัจจุบันภาคประชาชนยังคงเป็นกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนในด้านต่างๆ ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นไปได้จริงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องดำเนินการโดยให้ภาคประชาชนเป็นกลไกหลักในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน โดยหน่วยงานของรัฐต้องปรับบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุน
ยุทธศาสตร์
1. ยุทธศาสตร์เพื่อขยายผู้ผลิตผู้บริโภคและการตลาด โดยมีบทบาทภาคประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก
ความล้มเหลวและการไม่บรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนเป้าหมายเกษตรกรรมยั่งยืนนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ เป็นต้นมา เป็นผลเนื่องจากการให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์
การขยายพื้นที่และจำนวนผู้ผลิตเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดจนตลาดที่กระจายผลผลิตจากเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆควรดำเนินการโดยใช้กลไกของภาคประชาชน เช่น เครือข่ายขององค์กรสาธารณะประโยชน์ กลุ่มเกษตรกร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ดำเนินการ โดยหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ในการสนับสนุนและตรวจสอบการใช้งบประมาณและทรัพยากรอื่นๆให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พื้นที่เกษตรยั่งยืนในระดับท้องถิ่น
การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพต้องกำหนดเป้าหมาย แผนงาน และมีกลไกการดำเนินงานในระดับชุมชนและพื้นที่คู่ขนานไปกับการมีกลไกในส่วนกลาง ทั้งนี้โดยต้องมีการจัดการงบประมาณที่ลงไปสู่พื้นที่เป้าหมาย หรือพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ การกระจายอำนาจการบริหารเพื่อขับเคลื่อนให้กลไกระดับพื้นที่ เช่น อปท. สถาบันการศึกษาในพื้นที่ องค์กรภาคสังคม องค์กรเกษตรกร และองค์กรชุมชน มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกัน
3. ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐเพื่อสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนของภาคประชาชน
ภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลกฎหมายและนโยบาย มีบุคลากรที่มีความรู้ และมีทรัพยากรต่างๆ ที่ได้จากงบประมาณประจำปี อย่างไรก็ตามบทบาทของภาครัฐควรปรับมาเป็นการสนับสนุนภาคประชาชนในรูปแบบต่าง เช่น
3.1 สนับสนุนการวิจัยหรือการพัฒนานวัตกรรมแบบมีส่วนร่วม เช่น สนับสนุนทางวิชาการและทรัพยากรให้เกษตรกรรายย่อยพัฒนาจนกลายเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ (Farmer As Breeder) ส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ของชุมชน ร่วมกับเกษตรกรในการพัฒนาเครื่องจักรกลเพื่อทดแทนแรงงาน กำหนดโจทย์การวิจัยที่มาจากเกษตรกรและพื้นที่ ไปจนถึงการปรับการวิจัยที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้มีบทบาทหลักมาเป็นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกษตรกรมีส่วนร่วม (Participatory Technology Development) เป็นต้น
3.2 สนับสนุนการแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานให้กับเกษตรกรรายย่อย เช่น การแก้ปัญหาพื้นฐานเรื่องที่ดินทำกิน การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก การส่งเสริมและขยายผลการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน เพื่อขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์
4. ยุทธศาสตร์การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และลดอุปสรรคในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน
4.1ดำเนินการให้มีการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการผลิตเชิงเดี่ยวและผลที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการเกษตรของรัฐ เนื่องจากการเริ่มต้นเกษตรกรรมยั่งยืนสามารถดำเนินการและขยายผลได้หากเกษตรกรไม่ตกอยู่ภายใต้วงจรของเกษตรกรรมเคมี
4.2 แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของภาครัฐซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์ เช่น การแก้ปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมซึ่งเกิดขึ้นในหลายชนิดพืช การแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งหลายประเทศที่เป็นอันตรายร้ายแรง หลายประเทศห้ามใช้ หรือสารเคมีที่เป็นพิษภัยต่อแมลงที่มีประโยชน์และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4.3เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่มีบทบาทในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น
4.4 แก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรรายย่อย
5. ยุทธศาสตร์จัดตั้งสถาบันเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของภาคประชาชน
นอกเหนือจากมียุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน 4 เรื่องหลักแล้ว การจัดตั้งกลไกและสถาบันที่เป็นทางการเพื่อสนับสนุนบทบาทการทำงานของภาคประชาชนก็มีความจำเป็นในระยะยาว โดยสถาบันดังกล่าวต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐในจำนวนงบประมาณที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่ในการการสนับสนุนการศึกษาวิจัย สนับสนุนนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการขยายผล สนับสนุนระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และมาตรฐานที่ประชาชนร่วมกำหนด (PGS) การสนับสนุนงบประมาณเท่าที่จำเป็นที่จะทำให้เกิดการหล่อลื่นในการขับเคลื่อนกลไกหลักต่างๆ หรือการเผยแพร่เพื่อขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนให้สามารถขยายผลและเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้