สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำร่างแผน 12 ใกล้แล้วเสร็จ โดยหลังการประชุมประจำปีของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เป็นประธานเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯจะนำความคิดเห็นที่ได้รับไปปรับปรุงเป็นครั้งสุดท้าย และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แผนฯ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 นี้

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศรวม 10 ยุทธศาสตร์ โดยการพัฒนาด้านการเกษตรนั้นเนื้อหาส่วนใหญ่ถูกบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 “การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน” และบางส่วนที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 4 “การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ทิศทางเกษตรกรรมภายใต้แผน 12 ที่เป็นทิศทางหลักยังคงเป็นการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการเกษตรโดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจภาคการเกษตรขยายตัวปีละ 3% เพิ่มรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรของเกษตรกรเป็น 59,460 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2564

โดยแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ได้แก่การขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจการเกษตรแบบประชารัฐ โดยส่งเสริมรูปแบบการลงทุนแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) สนับสนุนเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม ส่งเสริมการโซนนิ่ง เกษตรแปลงใหญ่และเกษตรกรรมแม่นยำสูง บริหารจัดการผลผลิตอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยมีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการแปรรูปสร้างมูลค่าและความต้องการของผู้บริโภคในตลาด พัฒนากลไกจัดการความเสี่ยงที่กระทบต่อสินค้าเกษตร ได้แก่ ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การจัดตั้งกองทุนประกันภัยพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งสร้างระบบเตือนภัยทางการเกษตรล่วงหน้า และส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปสร้างมูลค่าและโอกาสในด้านการตลาดจากการส่งออกทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน

สำหรับการพัฒนาเกษตรกรรมตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนยังคงเป็นเกษตรกรรมกระแสรอง ทั้งนี้โดยมีการตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้รูปแบบต่างๆ เช่น เกษตรผสมสาน วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ ให้มีพื้นที่เพิ่มเป็น 5,000,000 ไร่ ในปี 2564 โดยอาศัยการขับเคลื่อนตามแนวทางต่างๆ เช่น

– ขับเคลื่อนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีในแต่ละพื้นที่
– ขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยการสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผ่านมาตรการทางการเงินการคลัง พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐาน และการส่งเสริมกระบวนการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม
– การพัฒนาระบบข้อมูลเกษตรกรรมยั่งยืน การสร้างองค์ความรู้ การสนับสนุนเงินทุนในลักษณะสินเชื่อสีเขียวที่จูงใจการผลิตและการส่งเสริมการตลาด
– ควบคุมการใช้สารเคมีการเกษตรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพทดแทนสารเคมีการเกษตรให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
– ตัวอย่างโครงการภายใต้แนวทางนี้ เช่น ส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบ อาทิ จังหวัดยโสธรเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

หากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับนี้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งหมายถึงหน่วยงานราชการและภาคส่วนจัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณไปขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 5,000,000 ไร่ หรือประมาณ 3.3 % ของพื้นที่การเกษตร

ที่มา: BIOTHAI Facebook

2016_SA01

2016_SA02