เมื่อปลายปี 2550 และต้นปี 2551 มีรายงานระดับโลกออกมา 2 ฉบับที่เกี่ยวกับการเกษตรโดยเฉพาะ ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อเส้นทางในอนาคตของการพัฒนาชนบท โดยเฉพาะในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งตั้งแต่จุดแรกเริ่มของยุคแห่งการพัฒนาตกอยู่ใต้อิทธิพลของสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่นำโดยธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มาตลอด ที่น่าสนใจยิ่ง คือ ธนาคารโลก มีบทบาทเกี่ยวข้องกับทั้งสองรายงาน คือด้านหนึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการประเมินความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเพื่อการพัฒนา (International Assessment of Agriculture Knowledge, Science and Technology for Development – IAASTD) ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติ รวมทั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ซึ่งเปิดตัวรายงาน ชื่อ “การเกษตรอยู่ที่ทางแยก” (Agriculture at a Crossroads) ก่อนหน้านี้เพียงไม่นานธนาคารโลกก็ออกรายงานของตนเอง คือ รายงานการพัฒนาโลกปี ค.ศ. 2008 (World Development Report 2008) ภายใต้ชื่อว่า “การเกษตรเพื่อการพัฒนา” (Agriculture for Development) ในเดือนตุลาคม 2550
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ต้นปี 2551 ยังปรากฎเหตุการณ์ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษในด้านอาหารและการเกษตรอีกอย่างหนึ่งด้วย เราได้เห็นภาพข่าวผู้คนหลายร้อยหลายพันคนในหลายสิบประเทศออกมาเดินประท้วงราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นประวัติกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารหลักคือ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี และน้ำมันพืช ยังความงุนงงให้กับองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลายที่มองเห็นแต่ราคาอาหารลดลงมาโดยตลอด ในขณะที่สื่อมวลชน นักวิชาการ และนักการเมืองออกมาช่วยกันออกความเห็นถึงสาเหตุต่าง ๆ นานา ตั้งแต่การหดตัวของภาคเกษตรเมื่อที่ดินถูกผันไปสร้างหมู่บ้านจัดสรร การเปลี่ยนแปลงนิสัยการกินเมื่อคนจีนและอินเดียรวยขึ้นเป็นจำนวนมาก การผันเอาที่ดินไปปลูกพืชเพื่อทำเชื้อเพลิงแทนน้ำมัน การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อปริมาณผลิตผลที่ได้
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนให้ชาวโลกได้ตระหนักว่า ระบบการผลิตและการกระจายอาหารที่เกี่ยวพันกันทั่วโลกในยุคโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การที่อาหารราคาแพงขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบแก่คนจนในระยะสั้นทันทีแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงความมั่นคงและเสถียรภาพของสังคมมนุษย์ในระยะยาว ที่ผ่านมา การที่ราคาสินค้าเกษตรและอาหารมีแต่แนวโน้มที่จะลดลง ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรงมาตลอด เกษตรกรรายย่อยทั่วโลกได้พยายามต่อสู้มาหลายเวทีกับการที่สินค้าเกษตรที่ได้รับการอุดหนุนอย่างมากของประเทศพัฒนาถูกนำมาทุ่มขายตัดราคาในตลาดภายในประเทศของตน แต่สถาบันทางการเงินระหว่างประเทศเช่นธนาคารโลก มิได้ให้ความสนใจเท่าไร เพราะถือว่าเป็นปกติวิถีของการแข่งขัน ตราบใดที่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเมื่อความมั่นคงด้านอาหารถูกสั่นคลอนอย่างแท้จริงให้เห็นประจักษ์เป็นครั้งแรกนี้เอง ประเด็นเรื่องการจัดการอุปทานอาหารของโลกจึงได้รับความสนใจขึ้นมา
ความเป็นจริงที่ขัดแย้งกัน
ประวัติกาลอาหารแพงสุดในปี 2551 อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุระยะสั้นหลายประการที่ประดังกันขึ้นมาในเวลาเดียวกัน คือประมาณ 9-10 เดือนในปี 2550 ต่อถึงต้นปี 2551 แต่ความเป็นจริงก็คือเรากำลังอยู่ในยุคที่มีความขัดแย้งที่ลึกล้ำ และกำลังเลวร้ายลง นั่นคือ แม้ว่าเราจะผลิตอาหารในปริมาณที่มากมายขึ้นมากกว่าที่เคยผลิตมาในอดีต แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากในโลกนี้ที่ยังอดอยากหิวโหย ตัวเลขของเอฟเอโอในปี 2549 จำนวนคนที่ยากจนและหิวโหยทั้งหมดในโลกคือ 854 ล้านคน และประมาณ 60% ของคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเขตชนบท ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก
สาเหตุพื้นฐานที่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งดังกล่าว คือการมอบให้ตลาดเป็นกลไกหลักในการกระจายอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สิทธิที่จำเป็นพื้นฐานตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิในอาหาร รายงานว่า “เรากำลังจ่ายค่าที่ทำผิดไว้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา” ความผิดพลาดดังกล่าวเกี่ยวพันอย่างมากกับแนวทางการพัฒนาที่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นผู้บงการผ่านเงื่อนไขของเงินกู้ที่สองสถาบันนี้เป็นผู้ปล่อยกู้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในนามของการลดความยากจน
แนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวย่อมต้องเกี่ยวพันกับกลไกการควบคุมตลาดอาหารในอันที่จะปกป้องประชากรจากการผกผันขึ้นและลงของราคาอาหาร และการเสริมสร้างสมรรถภาพในการผลิตอาหารภายในประเทศอย่างยั่งยืนขึ้น เป็นที่น่าสนใจว่าในรายงานการพัฒนาโลกปี 2551 ธนาคารโลกกล่าวถึง “มือที่มองเห็นได้” คือกลไกของภาครัฐ ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีในการพัฒนาการเกษตรเพื่อการพัฒนา น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นครั้งแรกในช่วง 20 ปี ที่ธนาคารโลกใช้คำพูดดังกล่าว
บทบาทธนาคารโลกในการเกษตรที่ผ่านมา
ช่วง 30 ปีทีผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนากว่า 80 ประเทศ ถูกบังคับให้ดำเนินนโยบาย “การปรับโครงสร้าง” (Structural Adjustment) โดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟเป็นหัวโจก ตามด้วยธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) สำหรับภูมิภาคเอเชีย
ธนาคารโลกเริ่มปล่อยกู้ด้านการเกษตรในช่วงทศวรรษ 2500 โดยประธานของธนาคารในขณะนั้น คือ โรเบิร์ต แมคนามาร่า ประกาศว่าจะเริ่มสนับสนุนการเกษตร ซึ่งได้ถูกละเลยมาก่อนหน้านั้นจนกลายเป็น “ลูกเลี้ยงของการพัฒนา”1 เพราะเป็นที่รู้กันว่าผลตอบแทนของการผลิตในภาคเกษตรอยู่ในอัตราต่ำกว่าโครงการพัฒนาอื่น ๆ ในช่วงนั้นธนาคารโลกได้ปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่องค์การตลาดสินค้าเกษตร ระบบการส่งเสริมการเกษตรอันประกอบด้วยการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการก่อสร้างที่ทำการ ซึ่งยังปรากฏแพร่หลายอยู่ในประเทศไทยในรูปของบ้านพักของเกษตรตำบลที่รกร้าง นอกจากนั้นยังมีการบริการยุ้งฉางเพื่อเก็บและแจกจ่ายพืชผล ซึ่งปรากฏมากในอัฟริกา อย่างน้อยความช่วยเหลือดังกล่าวก็เป็นการตอบสนองความต้องการของรัฐบาลด้อยพัฒนาที่มีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร
เมื่อการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลในละตินอเมริกาหลายประเทศก่อให้เกิดวิกฤตหนี้สินในช่วงต้นทศวรรษ 2520 ธนาคารโลกเปลี่ยนนโยบายไปเป็นแนวเสรีนิยมใหม่ ตามแนวของรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในช่วงนั้น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคาร แก่นสารของนโยบายเสรีนิยมใหม่ คือการลดบทบาทของภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจ ปล่อยให้กลไกตลาดหรือ “มือที่มองไม่เห็น” ทำงานอย่างอิสระเพื่อที่จะกำหนดราคาที่มีดุลยภาพตามปริมาณความต้องการซื้อกับปริมาณที่มีขาย ที่จะทำให้เกิดการขยายการผลิตและการบริโภคในระดับที่สูงสุด อันจะนำไปสู่การเติบโตสูงสุดของเศรษฐกิจ อุดมการณ์นี้มาจากสำนักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโกที่ทรงอิทธิพลในช่วงนั้น
ชุดนโยบายของการปรับโครงสร้างที่สรุปได้ 3 ประการ คือ การเปิดเสรี (liberalization) การแปรรูปวิสาหกิจของรัฐเป็นธุรกิจเอกชน (privatization) และการยกเลิกกฎระเบียบที่ควบคุมตลาด (deregulation) กลายมาเป็นนโยบายที่รู้จักกันดีในเมืองไทย เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 เพราะกองทุนไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย นำเข้ามาบังคับใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกพร้อมกับเงินกู้ช่วยแก้การขาดดุลการชำระเงินของประเทศ
การเปิดเสรีด้านการเกษตรในองค์การการค้าโลก
การลงทุนในการเกษตรในช่วงทศวรรษ 2510 เน้นไปเพื่อการส่งออก เนื่องจากประเทศที่กู้เงินจากธนาคารโลกต้องผูกพันที่จะจ่ายคืนด้วยเงินตราต่างประเทศ และการส่งออกเป็นวิธีเดียวที่จะได้เงินตราต่างประเทศมาจ่ายคืนเงินกู้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (แกตต์) รอบอุรุกวัย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเจรจาเพื่อเปิดเสรีสินค้าเกษตร โดยความหวังว่าการลดภาษีศุลกากร และลดการอุดหนุนเกษตรกรของประเทศพัฒนาแล้วจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงตลาดในประเทศร่ำรวยเหล่านี้ และจะส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น
ถ้าประเทศกำลังพัฒนาฟังคำกล่าวของนายจอห์น บล็อก รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงเริ่มต้นการเจรจาให้ดี ๆ ก็น่าจะทำให้ได้สังวรถึงผลกระทบจากการค้าเสรีมากกว่าที่เป็นอยู่ เขาประกาศว่า “ความคิดที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาควรจะผลิตอาหารเลี้ยงตนเองนั้น เป็นความคิดที่ล้าสมัยของยุคที่ผ่านเลยไปนานแล้ว พวกเขาจะสามารถดำรงความมั่นคงด้านอาหารได้ดีกว่าโดยการพึ่งพาผลิตผลการเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งมีให้ซื้อหาได้ส่วนใหญ่ในราคาที่ต่ำกว่า”2 ทั้งนี้เพราะในความเป็นจริง ไม่ว่าใครจะเก่งแค่ไหนก็คงจะแข่งขันกับสหรัฐฯ เพื่อขายสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ยาก เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ผลิตได้ในราคาต่ำนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการอุดหนุนของรัฐที่จ่ายให้เกษตรกรจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ที่สำคัญคือ ประเทศใดที่หลงเชื่อลมปาก แล้วปล่อยให้ตนเองต้องพึ่งพาตลาดโลกเป็นแหล่งซื้อหาอาหารเลี้ยงปากท้องประชากร ย่อมจะประสบความเดือดร้อนมากที่สุดในช่วงวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว
การเจรจาเปิดเสรีสินค้าเกษตรลงเอยด้วยข้อตกลงว่าด้วยการเกษตร (Agreement on Agriculture – AOA) ซึ่งเริ่มบังคับใช้พร้อมกับการก่อตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) ขึ้นเป็นสถาบันถาวรในปี 2538 ให้ทำหน้าที่ดูแลติดตามการเปิดเสรีทางการค้าตามข้อตกลงที่ประเทศสมาชิกได้ลงนามไว้ และเปิดการเจรจาต่อเนื่องในทุกสาขาของการผลิต
ผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร
ในระดับประเทศลูกหนี้ของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟทั้งหลาย แนวนโยบายที่ลดบทบาทของรัฐในการส่งเสริมการเกษตร คือการรื้อถอนองค์กรและสถาบันที่ดูแลการเกษตรและอาหารของประเทศ เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรของเอกชนเข้ามาแข่งขันกันผลิตและซื้อขายอย่างเสรี ในหลาย ๆ ประเทศ นี่หมายความถึงองค์กรและหน่วยงานของรัฐที่สร้างขึ้นโดยธนาคารโลกในยุคพัฒนาก่อนหน้านั้นจะถูกทำลายไปโดยธนาคารโลกเอง โดยความเชื่อของธนาคารโลกว่าภาคธุรกิจเอกชนจะสามารถทำการผลิตและค้าขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และเกิดการรั่วไหลน้อยกว่าภาครัฐ
ตัวอย่างอันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่เข้าโครงการการปรับโครงสร้างของธนาคารโลกที่อยู่ใกล้กับเราหน่อยคือฟิลิปปินส์ ที่พลิกผันจากการเป็นผู้ส่งออกข้าวสุทธิถึงล่าสุดเมื่อปี 2536 กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวสุทธิรายใหญ่ที่สุดในโลก ในปัจจุบันต้องซื้อข้าวจากตลาดโลกมากินปีละ 1.2 ล้านตัน เมื่อรัฐบาลเผด็จการมาร์คอสล่มลง ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟในนามของเจ้าหนี้ระหว่างประเทศกดดันให้รัฐบาลอาคีโนเน้นดำเนินมาตรการที่จะลดรายจ่ายและหารายได้มาชำระหนี้ งบประมาณด้านการเกษตรถูกตัดลงกว่าครึ่งหนึ่ง โดยหวังว่าภาคเอกชนจะเข้ามาลงทุนเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น ดอกไม้ และผักฝรั่ง ทดแทนการปลูกพืชอาหารดั้งเดิมคือข้าวและข้าวโพด ซึ่งถูกผลกระทบจากการเปิดตลาดให้มีการนำเข้าได้ตามกติกาขององค์การการค้าโลก ผลปรากฏว่าในขณะที่ภาคการผลิตดั้งเดิมอ่อนเปลี้ยลงอย่างมากทั้งจากการยกเลิกการอุดหนุนจากรัฐ และจากการที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูกกว่าได้ ชาวไร่ข้าวโพดพากันล้มละลาย ส่วนชาวนาก็หมดกำลังใจเพราะข้าวที่นำเข้าจากไทยและเวียดนามราคาต่ำกว่า ทำอย่างไรก็แข่งสู้ไม่ได้ แต่อุตสาหกรรมเกษตรส่งออกแบบใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาชดเชยการผลิตแบบเดิมก็ไม่ปรากฏโฉมให้เห็น เห็นได้ชัดว่าการปรับโครงสร้างที่เจ้าหนี้บังคับให้ทำควบคู่กับกติกาการเปิดเสรีสินค้าเกษตรของดับบลิวทีโอ ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองเป็นส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์ ไปเป็นเศรษฐกิจพึ่งพาการนำเข้าอย่างรวดเร็ว เพราะทำให้เกษตรกรกลายเป็นคนด้อยโอกาสอย่างถาวร
ในช่วงวิกฤตอาหารแพงปี 2551 รัฐบาลฟิลิปปินส์ประสบปัญหาหนักในการหาซื้อข้าว เมื่อราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นไปเกือบ 3 เท่าตัว ในขณะที่เพื่อนคู่ค้าข้าว ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ด้วยกันแท้ ๆ ยังปิดประตูใส่หน้า เวียดนามประกาศห้ามส่งออกข้าวเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชนของตน ส่วนไทยก็ถือโอกาสเล่นตัวจะขายให้เฉพาะลูกค้าที่ให้ราคาสูงที่สุด
ส่วนในอัฟริกานั้น รายงานการประเมินผลโดยกลุ่มอิสระที่ธนาคารโลกเองดำเนินการจัดทำขึ้นในปี 2550 ระบุถึงความล้มเหลว 2 ประการหลัก ประการที่หนึ่ง คือธนาคารโลกได้ละเลยภาคการเกษตร ความไร้พัฒนาการอย่างที่ควรเป็นในภาคเกษตรเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของการพัฒนาในอัฟริกา ส่วนใหญ่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและแหล่งทุนต่าง ๆ รวมทั้งธนาคารโลกล้วนแต่ได้ละเลยภาคการผลิตนี้ การสนับสนุนจากธนาคารโลกมีจำกัดและมีแต่จะลดลง และยังมิได้นำไปใช้ในกิจกรรมการแทรกแซงเชิงยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของภาคนี้ ประการที่สอง การรื้อถอนบทบาทของภาครัฐในการเกษตรมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสให้แก่ภาคเอกชน แต่ไม่ปรากฏว่ามีมือที่มองไม่เห็นใดที่จะเข้ามาใช้โอกาสนั้น
คนส่วนใหญ่ที่เคยเห็นแต่ภาพของความอดอยากยากไร้ในอัฟริกา คงจะนึกไม่ถึงว่า เมื่อได้รับอิสรภาพใหม่ ๆ ในทศวรรษ 2500 ทวีปอัฟริกาไม่เพียงแต่พึ่งตนเองได้ด้านอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ส่งออกอาหารอีกด้วย ปัจจุบันนี้ต้องนำเข้าอาหารถึง 25% ของปริมาณการบริโภคภายใน แทบทุกประเทศในอัฟริกากลับกลายเป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น การที่ธนาคารโลกสนับสนุนการผลิตเพื่อส่งออกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวกันทำให้ผลผลิตล้นเกิน และทำให้ราคาในตลาดโลกตกต่ำ เช่น การขยายการผลิตโกโก้ (ทำช็อคโกแลต) ในประเทศกานา ทำให้ราคาตกลง 48% ในช่วงปี 2529-2532 และการผลิตกาแฟในเอธิโอเปีย สร้างความอดอยากให้แก่แรงงานในภาคเกษตรเป็นระยะ ๆ เมื่อใดก็ตามที่กาแฟราคาตก
นอกจากธนาคารโลกจะเพิกเฉยไม่ได้ให้ความสนใจต่อภาคเกษตรในช่วงของการปรับโครงสร้างแล้ว ยังบังคับให้รัฐบาลลูกหนี้รื้อถอนระบบการส่งเสริมหรืออุดหนุนใด ๆ ของรัฐที่มีอยู่เท่ากับเป็นการลอยแพภาคเกษตรไปตามยถากรรม เท่านั้นยังไม่พอ การเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตรตามข้อตกลงว่าด้วยการเกษตรขององค์การการค้าโลก ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขเงินกู้ของธนาคารโลก ยังมีผลซ้ำเติมให้แพภาคเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องเผชิญกับกระแสการแข่งขันกันขายในตลาดโลกที่เชี่ยวกราก ที่ประกอบด้วยผู้เล่นรายใหญ่ ๆ ทั้งเกษตรกรรายใหญ่ในสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และบรรษัทธุรกิจการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลของตน
รายงานการติดตามผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าของเอฟเอโอปี 2546 กล่าวถึงปรากฏการณ์การทะลักเข้ามาของสินค้านำเข้า (import surge) บางประเภทที่ราคาถูกกว่าที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งผู้ผลิตภายในประเทศไม่สามารถสู้ราคาได้ ต้องล้มหายตายจากกันไป ยังผลให้การผลิตภายในประเทศหดตัวลง ผลลัพธ์คือหลายประเทศที่เคยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นปริมาณที่สูงกว่าการนำเข้า หรือที่เรียกว่าประเทศส่งออกอาหารสุทธิ กลายเป็นประเทศนำเข้าอาหารสุทธิไปเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีประเทศนำเข้าอาหารสุทธิถึง 70 ประเทศ รวมถึงประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเพื่อนบ้านของไทยเราเอง
หลายกลุ่มและองค์กรประชาสังคมที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรีในองค์การการค้าโลกได้แสดงความห่วงใยถึงผลกระทบจากการค้าเสรีที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหาร จากตัวอย่างที่เอฟเอโอได้รายงานตั้งแต่ปี 2546 แต่ตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่นี่เป็นผลลัพธ์ที่ยอมรับได้ เพราะการแข่งขันย่อมมีผู้ได้และผู้เสีย การเปิดเสรีทำให้ผู้ที่สามารถผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ผลิตได้ราคาถูกกว่าเท่านั้นจึงจะขายได้ วิธีการที่จะให้แข่งขันได้คือต้องหันไปทำการผลิตอย่างอื่นที่มีความได้เปรียบ หรือไม่ก็จัดการปรับปรุงการผลิตให้ราคาถูกกว่า อีกทางเลือกหนึ่งคืออย่างที่รัฐมนตรีการเกษตรสหรัฐฯ ว่า ถ้าไม่สามารถจะผลิตอาหารได้ราคาถูกกว่าประเทศอื่นก็หันไปผลิตอย่างอื่นที่ตนมีความได้เปรียบ แล้วซื้ออาหารกินเอาจากประเทศที่เขาผลิตได้ อย่างสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศที่จะทำเช่นนี้ได้ง่าย ๆ คือประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบีย หรือเกาะเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ ที่มีที่ทำการเพาะปลูกได้น้อยมาก ทำให้เลือกที่จะพึ่งตนเองทางด้านอาหารไม่ได้
การละเมิดสิทธิในอาหาร
รายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิในอาหาร ซึ่งได้นำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตร ที่มีต่อความสามารถของรัฐบาลในอันที่จะปกป้องสิทธิในอาหาร และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลต่าง ๆ นำมาพิจารณาประกอบการวางยุทธศาสตร์และจุดยืนในการเจรจาการค้าขององค์การการค้าโลก ที่กำลังจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2552 รายงานนี้มีข้อสรุปดังต่อไปนี้
การเพิ่มการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งความมั่นคงด้านอาหาร
- เป็นที่มาของภาวะเสี่ยงภัยหลายอย่าง เมื่อราคาตกประเทศผู้ส่งออกจะสูญเสียรายได้ ประเทศผู้นำเข้าอาหารสุทธิจะขาดดุลการชำระเงินเมื่อราคาขึ้น ส่วนผู้ผลิตภายในประเทศจะถูกคุกคามจากสินค้านำเข้าที่ราคาถูกกว่า
- ช่วยตอกย้ำเพิ่มอำนาจให้กับผู้เล่นที่เป็นบรรษัทข้ามชาติ ที่มีการกระจุกตัวอย่างมาก เนื่องจากปริมาณการค้าขายข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นแสดงถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของบรรษัทข้ามชาติมากกว่าผู้เล่นภายในประเทศ เพราะการค้าขายที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มการแข่งขันในหมู่พ่อค้าคือซัพพลายเออร์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกดราคาสินค้าให้ต่ำลง
- ทำให้ห่วงโซ่ของอุปทานยาวขึ้น มีการขนส่งข้ามเขตแดนและข้ามทวีปเป็นระยะทางไกลขึ้น และมีรูปแบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สุขภาพ และโภชนาการของมนุษย์
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะว่าหากจะทำให้ระบบการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ “สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน (human rights – compatible)” จำเป็นต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- รัฐบาลต้องไม่ยอมรับที่จะทำการใด ๆ ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิในอาหารของประชาชน ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำการประเมินผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนก่อนที่จะยอมรับข้อตกลงใด ๆ
- มาตรการปกป้องมีความสำคัญมาก ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องดำรงเสรีภาพที่จะดำเนินมาตรการใดที่จะลดแรงกระแทกของความผกผันของราคาในตลาดโลกที่มีต่อตลาดภายในประเทศ ทั้งนี้เพราะ แม้อาหารที่ค้าขายกันระหว่างประเทศจะมีปริมาณเพียง 15% ของที่ผลิตได้ทั้งหมดในโลก แต่ราคาอาหารในตลาดโลกมีอิทธิพลอย่างมากต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก
- รัฐบาลไม่ควรจะพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในการแสวงหาความมั่นคงด้านอาหาร แต่ควรสร้างสมรรถภาพในการที่จะผลิตอาหารให้พอเพียงต่อการบริโภค โดยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยโดยเฉพาะ เนื่องจากในประเทศที่มีประชากรที่มีระดับโภชนาการต่ำกว่าที่ควรมากกว่า 34% มีประชากรที่มีอาชีพเกษตรกรถึง 70% ของการจ้างงานทั้งหมด
- รัฐบาลควรควบคุมอำนาจของบรรษัทข้ามชาติในห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับโลก (global supply chains) อย่างน้อยก็เมื่อบรรษัทเหล่านี้เข้ามาเล่นบทบาทภายในเศรษฐกิจของประเทศของตน เนื่องจากในระดับโลกยังไม่มีมาตรการพหุภาคีใด ๆ ที่จะควบคุมบรรษัทเหล่านี้
การตอบรับจากธนาคารโลก
ในรายงานการพัฒนาโลก 2551 ธนาคารโลกแสดงการยอมรับว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ตนผลักดันมาตลอดนั้นไม่ได้ผลตามที่คาด แต่ก็แอบ ๆ เขียนไว้ในบทที่ 6 ที่ว่าด้วย “การสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตรายย่อยผ่านนวัตกรรมเชิงสถาบัน” ดังนี้
“การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2520 ได้รื้อถอนระบบที่ซับซ้อนของหน่วยงานสาธารณะที่ทำหน้าที่บริการให้แก่เกษตรกรด้านที่ดิน สินเชื่อ การประกันพืชผล ปัจจัยนำเข้า และการรวมตัวเป็นสหกรณ์ สิ่งที่โครงการนี้คาดหวังคือ เมื่อขจัดภาครัฐออกไปจะปลดปล่อยตลาดให้เสรี และให้ผู้เล่นภาคเอกชนเข้ามาสวมบทบาทเหล่านี้แทนรัฐ ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนลง เพิ่มคุณภาพของบริการให้ดีขึ้น และขจัดความลำเอียงที่มีลักษณะถอยหลัง ทว่าบ่อยครั้งจนเกินไป สิ่งที่คาดหวังนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ในบางแห่งการถอนบทบาทของรัฐเป็นไปอย่างมากที่สุดก็ชั่วครั้งชั่วคราว จำกัดไม่ให้เอกชนเข้ามาได้มาก ในที่อื่น ๆ ภาคเอกชนก่อตัวช้าและไม่เต็มที่ ให้บริการเฉพาะแก่เกษตรกรพาณิชย์เท่านั้น ปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยตกเป็นเหยื่อของความล้มเหลวของตลาด ต้นทุนธุรกรรมและความเสี่ยงที่สูง และช่องว่างในด้านการจัดบริการ ตลาดที่ไม่เต็มรูปและช่องว่างเชิงสถาบันทำให้ต้นทุนที่ต้องจ่ายราคาสูงมากสำหรับเกษตรกรรายย่อยในรูปของการเติบโตและสวัสดิการที่สูญไป ซึ่งคุกคามขีดความสามารถในการแข่งขันของพวกเขา และในหลายกรณียังคุกคามความอยู่รอดของพวกเขาด้วย”
ทว่าพร้อมกันนั้น แม้ว่าธนาคารโลกจะยอมรับว่า การเกษตรยังคงเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลดความยากจน แต่การที่จะใช้การเกษตรเป็นฐานในการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตในกลุ่มประเทศที่มีการเกษตรเป็นฐาน ซึ่งได้แก่ ประเทศส่วนใหญ่ในอัฟริกา ธนาคารโลกยืนยันว่าจำเป็นจะต้องมี “การปฏิวัติผลิตภาพ” ของเกษตรกรรายย่อย ส่วนในกลุ่มประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ประเทศไทยนั้น จะมาปกป้องคุ้มครองการเกษตรต่อไปคงไม่มีทางที่จะยั่งยืนได้ เพราะช่องว่างด้านรายได้ระหว่างเมืองกับชนบทขยายกว้างมาก และคนจนเมืองจำนวนมากต้องการอาหารราคาถูก จึงจำเป็นต้องจัดการกับช่องว่างด้านรายได้ดังกล่าวโดยวิธีการรอบด้าน อันประกอบด้วย “การเปลี่ยนไปทำการเกษตรมูลค่าสูง กระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรลงไปในเขตชนบท และให้ความช่วยเหลือให้ประชาชนชนบทสามารถขยับขยายออกจากภาคเกษตร”
รายงานฉบับนี้สรุปว่า “การเกษตรมีศักยภาพที่จะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ ลดความยากจน และให้บริการด้านสิ่งแวดล้อม แต่การที่จะบรรลุศักยภาพนี้ได้ จำเป็นต้องมีมือที่มองเห็นได้ของภาครัฐ ทำหน้าที่จัดหาสินค้าสาธารณะหลัก ๆ ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน ควบคุมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างหลักประกันของการบรรลุผลทางสังคมที่ปรารถนา”
การประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและทางออกของธนาคารโลก
จากรายงานของธนาคารโลกประชากร 3 พันล้านใน 5.5 พันล้านคน คือกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศกำลังพัฒนาอาศัยอยู่ในชนบท และในจำนวนประชากรชนบทนี้ ครึ่งหนึ่งคือ 1.5 พันล้านคนอยู่ในครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย ซึ่งตามนิยามของธนาคารโลก คือฟาร์มเกษตรที่มีที่ดินน้อยกว่า 2 เฮคตาร์ (1 เฮคตาร์ = 6.25 ไร่) ในขณะเดียวกัน ตัวเลขของธนาคารพัฒนาเอเชียที่คำนวณมาจากสถิติของธนาคารโลกแสดงว่าจำนวนแรงงานในภาคเกษตรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2549 คือ 43.3% ของจำนวนการแรงงานทั้งหมด
สำหรับประเทศไทยไม่ว่าใครจะคิดหรือฝันว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านออกจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมสักเพียงใด ตัวเลขแรงงานในภาคเกษตรก็ยังคงอยู่ที่ 42.3% มากกว่าฟิลิปปินส์ ซี่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรไม่ถึงครึ่งหนึ่งของไทย
ถ้าจะดูตัวเลขความยากจน ธนาคารโลกบอกว่า ถ้าใช้เกณฑ์ของเขาคือ รายได้ต่ำกว่า 1 ดอลล่าร์ (ปัจจุบันประมาณ 35 บาท) ต่อวัน จำนวนคนจนในประเทศกำลังพัฒนาโดยรวมลดลงจาก 28% ในปี 2536 เป็น 22% ในปี 2545 และเป็นการลดลงในเขตชนบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเกือบทั้งหมด ซึ่งธนาคารโลกยืนยันว่ามีสาเหตุมาจากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชนบท มิใช่จากการอพยพออกสู่เมืองอย่างที่เข้าใจกัน ในขณะที่ตัวเลขคนจนของเอเชียใต้ และอัฟริกาส่วนใต้ทะเลทรายซาฮารานั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกือบจะมากกว่าตัวเลขคนจนเมืองด้วยซ้ำ
ในแง่ของระดับการพัฒนา ธนาคารโลกแห่งประเทศกำลังพัฒนาออกเป็น 3 ประเภทตามสัดส่วนของมูลค่าของภาคเกษตรเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และสัดส่วนของคนจนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท ถ้าตัวเลขนี้สูงทั้งสองตัวแปลว่า ประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีเกษตรกรรมเป็นฐาน ส่วนประเทศไทยและส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในระดับกลาง เรียกว่าเป็น “ประเทศที่กำลังแปลงร่าง” (Transforming countries) มีสัดส่วนภาคเกษตรประมาณ 10% ของจีดีพี ซึ่งรวมถึงยักษ์ใหญ่ในเอเชียจีนและอินเดียด้วย กลุ่มสุดท้ายคือ ประเทศที่มีคนจนส่วนใหญ่อยู่ในเมือง มีธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่สร้างมูลค่าสูงถึง 30% ของจีดีพี นี่คือประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกา เช่น บราซิล และในเอเชียกลาง
เห็นได้ชัดว่านี่คือเส้นทางการพัฒนาที่ธนาคารโลกคิดว่าควรจะเป็น คือ การเคลื่อนจากการพัฒนาที่มีการเกษตรเป็นฐานไปสู่การมีธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นฐาน และการเดินทางบนเส้นทางนี้ หมายถึงการเคลื่อนย้ายผู้คนออกจากชนบทมาสู่เมือง แม้ว่าจะเป็นเพียงการย้ายที่อยู่ของคนจนจากชนบทมาเป็นคนจนในเมืองก็ตาม ดูได้จากการที่ธนาคารโลกตอกย้ำในบทสรุปรวมของแนวปฏิบัติในการใช้การเกษตรเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ที่มีการกล่าวถึง “การช่วยเหลือนำพาประชาชนออกจากภาคเกษตร” “การเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตร” และ “การอพยพที่ประสบความสำเร็จ” ถึง 9-10 แห่ง ใน 24 หน้า
ข้อเสนอแนะของธนาคารโลกสำหรับประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างประเทศไทย คือต้องเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนเมืองกับคนชนบท ซึ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้นภายในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนของไทยนั้นคงที่อยู่ที่สัดส่วนประมาณ 2: 1 คือรายได้คนเมืองมากกว่าชนบท 2 เท่า ในขณะที่ของจีนสูงที่สุด 3.3:1 วิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ ธนาคารโลกบอกว่าจะต้องเร่งสร้างรายได้นอกภาคเกษตรให้มากขึ้นในชนบท และพร้อมกันนั้นก็เร่งโยกย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตรไปสู่ภาคการผลิตที่มีพลวัตกว่า
การเกษตรทุนนิยม
ในขณะที่ธนาคารโลกยอมรับหลักฐานข้อเท็จจริงว่า การเกษตรรายย่อยมีประสิทธิภาพในการผลิต แต่ธนาคารโลกก็ยังคงพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่ม “ผลิตภาพ” (productivity) ในการผลิตพืชอาหารหลัก โดยกล่าวว่า “ผลิตภาพเป็นตัวกำหนดราคาอาหาร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดค่าจ้างแรงงานและความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ดังนั้น ผลิตภาพของการผลิตอาหารหลักจึงเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ”
ผลิตภาพที่ว่านี้วัดได้จากการเปรียบเทียบระหว่างปริมาณผลผลิตที่ต้องการได้กับปริมาณปัจจัยนำเข้าที่จำเป็นในการผลิตผลผลิตนั้น ถ้าคุณสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นโดยปริมาณปัจจัยนำเข้าคงเดิม หรือถ้าคุณสามารถลดปัจจัยนำเข้าลง แต่ยังได้ผลผลิตเท่าเดิม ก็แปลว่าผลิตภาพของการผลิตของคุณสูงขึ้น อีกทางหนึ่งที่จะเพิ่มผลิตภาพ คือการเร่งเวลาให้เร็วขึ้น ผลิตภาพของคุณจะสูงขึ้นถ้าคุณใช้เวลาผลิตน้อยลงกว่าเดิม แม้ว่าปริมาณปัจจัยนำเข้าและผลผลิตจะคงเดิม
ในระบบทุนนิยม เป้าหมายหลักของการผลิตคือการได้มาซึ่งผลตอบแทนในรูปของกำไรจากต้นทุนที่ลงไป ดังนั้นกิจกรรมการผลิตเพื่อขาย ซึ่งต้องลงทุนและแรงงาน จึงต้องพยายามเพิ่มผลิตภาพด้วยการลดต้นทุน เช่น ลดจำนวนคนงานลง หรือจ่ายค่าแรงให้น้อยลง ใช้เครื่องจักรกลมาช่วยให้ผลิตได้เร็วขึ้น หรือปรับวิธีการผลิตให้ง่ายขึ้น เช่น ลดประเภทของผลิตภัณฑ์ ทำให้กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน นี่คือวิถีการผลิตปกติของการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในโรงงาน
การเพิ่มผลิตภาพของการเกษตรในระบบทุนนิยมในภาพรวม จึงมีทางเลือกไม่มากเท่าไร คือ
ลดปริมาณแรงงานในภาคเกษตรลง
นี่คือทางเลือกที่นักวางแผนเศรษฐกิจระดับประเทศดูจะชอบกันมาก แสดงให้เห็นว่า ข้อเสนอแนะของธนาคารโลกจะยังคงมีอิทธิพลอยู่ต่อไปไม่เสื่อมคลาย รัฐบาลไทยเคยประกาศไว้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ว่าการที่จะพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ จะต้องลดแรงงานให้ภาคเกษตรให้เหลือเพียง 15% จากตอนนั้นยังมีอยู่กว่า 50% แต่เมื่อประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกในเอเชียเมื่อปี 2540 ทุกคนก็ได้ตระหนักรับรู้กันทั่วไปว่าภาคเกษตรสามารถเป็นหลังพิงให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร เพราะการเกษตรดำรงอยู่ได้ในขณะที่โรงงานและบริษัทพากันล้มละลายไปเป็นแถว ตอนนี้จึงไม่มีใครกล้าตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขชัดเจน ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกครั้งนี้ก็ชี้ให้เห็นอีกว่า การหันไปพึ่งพาการส่งออกสินค้าหัตถอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่นั้น มีความเสี่ยงเพียงใด ถึงแม้จะเป็นภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่า ซึ่งเห็นได้จากการที่มูลค่าของภาคการผลิตหัตถอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วกว่าสัดส่วนแรงงานที่ย้ายออกจากภาคเกษตรมาสู่ภาคนี้
ปัญหาหลักของวิธีการลดจำนวนแรงงานในภาคเกษตรนี้ คือจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเคลื่อนออกจากภาคเกษตรได้อย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้ทำอะไรในเรื่องนี้ นักวิชาการชั้นนำแห่งสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหมือนกับจะบอกว่าภาคชนบทไทยเปลี่ยนไปเองโดยตามแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ความยากจน ยังผลให้รายได้หลักในครัวเรือนชนบทไม่ได้มาจากภาคเกษตรอีกต่อไปแล้ว “ในอีสานเวลานี้หลายพื้นที่กลายเป็นภาคบริการที่รับเลี้ยงหลานให้ลูกที่ไปหางานทำใน กทม. หรือจังหวัดอื่น หลายหมู่บ้านกลายเป็น long stay service ของชาวต่างชาติที่มาเกษียณ แต่ต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไปตรงที่มีภรรยาเป็นคนไทย”
เร่งให้ดินทำงานให้เร็วขึ้น
หมายถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีการเจ้าประจำที่นิยมใส่ไว้ในทุกแผนพัฒนาการเกษตร ล่าสุดยังมีระบุชัดเจนอยู่ในร่างยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยระบุวัตถุประสงค์ “เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านพื้นที่เกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน…” แม้ว่าจะขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับวิสัยทัศน์ที่บอกว่าต้องการเห็น “เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงยั่งยืนบนพื้นฐานแห่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นี่คือการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมโดยแท้ เป็นการเพิ่มปริมาณผลผลิตของพืชอย่างเดียวหรือ 2 อย่างต่อหน่วยของที่ดินไม่ได้นับผลผลิตอาหารอย่างอื่น ๆ ที่เกษตรกรรมปลูกตามหัวไร่ปลายนาหรือปลูกนอกฤดูการผลิต เพราะส่วนใหญ่ปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน และไม่นับพืชที่ปลูกเพื่อปรับปรุงดินหรือทำปุ๋ยพืชสด
การเพิ่มผลิตภาพโดยวัดจากปริมาณผลผลิตที่ได้ต่อหน่วยของที่ดิน หมายถึงการเพิ่มปัจจัยนำเข้า ได้แก่ ปุ๋ย พันธุ์ที่ “ปรับปรุง” แล้ว การชลประทาน และยังหมายถึงการเลือกใช้พันธุ์เฉพาะหนึ่งหรือสองพันธุ์ ที่เชื่อว่าให้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด
เกษตรกรไทยและองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทมานานต่างรู้ดีว่า การเพิ่มผลิตภาพด้วยวิธีนี้มีปัญหาตามมาหลายประการ คือ การใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนสูงขึ้น การปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีเร่งการทำงานของดินเป็นเวลานานเกือบตลอดปีเนื่องจากมีการชลประทานเข้ามาช่วย ทำให้คุณภาพของดินเสื่อมลงในระยะยาว ในขณะที่ถ้าเป็นการผลิตสินค้าในโรงงาน คุณก็ยังสามารถทยอยตัดค่าเสื่อมราคาไป พอระยะหนึ่งก็สร้างโรงงานใหม่ แต่ในการเกษตรคุณสร้างที่ดินใหม่ไม่ได้ นอกจากนั้น การปลูกพืชเชิงเดี่ยวยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคพืชและศัตรูพืชจึงต้องเพิ่มการกำจัดศัตรูพืชตามไปด้วย
นอกจากนั้น การเพิ่มผลิตภาพการเกษตรโดยการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ตามปกติคือ วิธีการผลิตเพื่อขายในตลาด ซึ่งหมายความว่าผลตอบแทนที่จะได้เป็นตัวเงินนั้น ขึ้นอยู่กับราคาตลาดของผลิตผลที่ขายได้ ซึ่งเกษตรกรจะรู้ดีว่าราคามีความผกผันอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าเหตุใดยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างภาคเกษตรของสภาพัฒน์ จึงระบุว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะช่วย “สร้างภูมิคุ้มกันจากการทำงานของระบบตลาด ลดผลกระทบจากความผันแปรของราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาด” ได้ ในเมื่อนี่คือสภาพการณ์ที่ทำให้ชาวไร่ชาวนาเป็นหนี้เป็นสินกันอยู่ทุกวันนี้การใช้ที่ดินปลูกพืชเชิงเดี่ยว ยิ่งผืนใหญ่เท่าไรก็ยิ่งดี
วิถีการเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมอีกวิธีหนึ่งคือ เลือกผลิตสินค้าอย่างเดียวแทนที่จะผลิตหลายอย่าง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสินค้าลดลง จากการที่คุณสามารถใช้เครื่องจักรเพียงประเภทเดียวให้มันทำงานเต็มที่ตลอดเวลา และให้คนงานที่จ้างมาทำงานอย่างเดียวไปตลอดเวลา ซึ่งจะทำงานได้เร็วขึ้นเพราะไม่ต้องหันไปทำอย่างอื่น คุณก็จะสามารถผลิตสินค้าชนิดเดียวนี้ในปริมาณที่มากขึ้นในขณะที่ต้นทุนคงที่ยังคงเท่าเดิม ทำให้คุณสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง เท่ากับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของคุณ
ในภาคการค้าขายสินค้าเกษตรในระดับตลาดโลก ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ได้มาจากการประหยัดจากขนาดการผลิต (economies of scale) ในลักษณะนี้ เป็นของประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวางสามารถขยายการผลิตเชิงเดี่ยวได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นหลายร้อยหลายพันเฮคตาร์ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เป็นต้น ประเทศในละตินอเมริกา เช่น บราซิลกำลังไล่ตามมาด้วยวิธีการเดียวกันโดยการแผ้วถางป่าอเมซอนของบริษัทธุรกิจการเกษตร
ส่วนประเทศที่มีเกษตรกรรายย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศไทย ธนาคารโลกบอกว่า การประหยัดจากขนาดการผลิตจะทำได้โดยการเข้าร่วมกับห่วงโซ่ของการเพิ่มมูลค่า (value chains) ในด้านการผลิตและการตลาดที่บริษัทธุรกิจการเกษตรเป็นผู้นำ ซึ่งตามประสบการณ์ในไทย ก็คือระบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มิ่ง นั่นเอง
การลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยโดยการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ประเภทเดียว หมายถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วยพันธุกรรมหลากหลายที่อาจเป็นประโยชน์ในการผสมพันธุ์ใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันศัตรูพืชได้ รวมทั้งที่สามารถทนต่อสภาพอากาศที่แตกต่างกันได้ นอกจากนี้ การทำลายป่าขนานใหญ่เพื่อขยายพื้นที่การเกษตรยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่เก็บกักอยู่ในต้นไม้
โดยสรุปแล้ว การเกษตรเพื่อการพัฒนาของธนาคารโลกที่สาธยายไว้ในรายงานการพัฒนาโลกปี 2551 ยังมองการเกษตรเป็นภาคการผลิตหนึ่งของระบบทุนนิยม ที่เน้นเป้าหมายที่การเพิ่มผลตอบแทนต่อการลงทุนเป็นหลัก เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจคือความหมายของการพัฒนาในมุมมองของธนาคารโลกที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงแต่ไหนแต่ไรมา
IAASTD ขอคิดต่าง
มาเชีย อิชีอิ-ไอท์แมน หนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานการประเมินความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อการพัฒนา (The IAASTD Report) ภายใต้ชื่อว่า “การเกษตรอยู่ที่ทางแยก” มีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่ารายงานฉบับนี้อยู่บนฐานของความเป็นจริง และเป็นตัวแทนความหวังของผู้คนชาวโลกที่ต้องการเห็นการเกษตรเป็นที่พึ่งของทุกคนทั้งจนและรวยได้อย่างยั่งยืน
ความเป็นจริงที่ว่านี้ก็คือ หลักฐานที่เก็บสะสมรวบรวมมาโดยนักวิทยาศาสตร์และนักพัฒนา ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นตัวแทนของจากทุกภูมิภาคและสาขา รวมกันถึง 400 คน แสดงว่า “รากเหง้าของวิกฤตอาหารทุกวันนี้อยู่ที่การละเลยของภาครัฐต่อการเกษตรรายย่อย การส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบของการสกัดที่ไม่ยั่งยืน สั่นคลอนเสถียรภาพของระบบนิเวศเกษตร (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขของเงินกู้และสถาบันการพัฒนา เช่น ธนาคารโลก) รูปแบบการจัดการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และการที่รัฐบาลในซีกโลกเหนือใช้วิธีทุ่มตลาดด้วยสินค้าเกษตรส่วนเกินในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของท้องถิ่น เป็นการบั่นทอนความสามารถของชุมชนชนบทในการผลิตและซื้ออาหาร”
ในขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างของความสำเร็จมากมายในโลกที่ทำให้ทุกคนมีความหวัง “ถ้าเราเสริมสร้างองค์กรของเกษตรกร สนับสนุนภาคการผลิตรายย่อย ลงทุนในการผลิตที่สอดคล้องกับระบบนิเวศเกษตร สร้างข้อตกลงทางการค้าที่เป็นธรรม และเท่าเทียมมากขึ้น และเพิ่มการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการวางนโยบายและกระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ เราจะสามารถเริ่มแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรให้แก่ชุมชนชนบท และปูทางไปสู่อธิปไตยด้านอาหารในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ”
เธอสรุปข้อค้นพบที่สังเคราะห์ได้จากรายงานนี้ไว้ 7 ประการ ดังนี้
- การเกษตรเกี่ยวพันกับหลายสิ่งที่กว้างไกลกว่าพืชผลที่ผลิตได้ มีผลกระทบหลากหลายทางด้านสังคม การเมือง วัฒนธรรม สถาบัน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นไปในทางที่เป็นอันตราย หรือเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของระบบนิเวศของโลกที่ชีวิตมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยก็ได้
- อนาคตของการเกษตรอยู่ที่การทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในลักษณะที่หลากหลายทางชีวภาพ (biodiverse) และอยู่บนฐานของนิเวศเกษตร สนับสนุนโดยเป้าหมายผลได้สุดท้าย 3 ด้าน (triple-bottom-line) ได้แก่ ทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจพร้อมกันไป
- การพึ่งพาการเกษตรอุตสาหกรรมที่สกัดทรัพยากรธรรมชาติ เป็นรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังเผชิญกับวิกฤตภูมิอากาศ พลังงาน และน้ำ ที่กำลังเลวร้ายลง การแก้ปัญหาระยะสั้นที่ราคาแพงโดยใช้เทคโนโลยีนำ รวมทั้งพืชข้ามพันธุกรรม (transgenic crops) ไม่สามารถแก้ปัญหาท้าทายที่ซับซ้อนในภาคเกษตรได้ ทั้งบ่อยครั้งยังเป็นอันตรายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
- การบรรลุความมั่นคงด้านอาหารและวิถีการทำมาหากินที่ยั่งยืนสำหรับประชาชน ที่ปัจจุบันอยู่ในภาวะยากจนเรื้อรัง จำเป็นต้องสร้างหลักประกันการเข้าถึงและการควบคุมทรัพยากรโดยเกษตรกรรายย่อย
- ระบบการค้าขายที่ยุติธรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก สามารถจะช่วยสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น ลดความยากจน และปรับปรุงความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้
- การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระบบการเกษตรต่าง ๆ จะช่วยปรับปรุงสมรรถภาพของเราในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ ภูมิปัญญาพื้นเมืองและนวัตกรรมในระดับชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่หาค่ามิได้ของทางแก้ปัญหา
- การตัดสินใจที่ดีจำต้องมาจากการสร้างกลไกธรรมาภิบาลที่ดีกว่าเดิม และสร้างหลักประกันให้มีการส่วนร่วมอย่างเป็นประชาธิปไตยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
รายงาน IAASTD ฉบับนี้ ถือเป็นความสำเร็จขององค์การพัฒนาอิสระร่วมกับชุมชนเกษตรกรในท้องที่ที่ได้ทำการรณรงค์ยกปัญหาของการเกษตรทุนนิยม และนำเสนอทางออกที่เป็นการเกษตรยั่งยืนของชุมชนเอง มาเป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้ว คำว่า “อธิปไตยด้านอาหาร” ที่เป็นคำที่ใช้ครั้งแรกในการประกาศทางเลือกขององค์กรชาวไร่ชาวนาสากล ลาเวียกัมเปซินา (La Via Campesina) ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยจากทั่วทุกภูมิภาคของโลก รวมทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
ปัจจุบันรายงานนี้มีรัฐบาล 50 กว่าประเทศลงนามร่วม ที่น่าสนใจคือประเทศยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ปฏิเสธไม่ลงนามในชั้นแรก ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้ ซึ่งทำเกษตรอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่เห็นด้วยกับรายงานนี้ น่าจะเป็นข้อสรุปที่ว่าพืชตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified – GM) ไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง
ภาวะโลกร้อนกับการเกษตร
ภัยคุกคามที่จะมีผลกระทบมากที่สุดต่อการเกษตรในอนาคต คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยน้ำมือมนุษย์ ไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกตั้งแต่เริ่มการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ยังผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชัดว่า การเกษตรจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่าภาวะโลกร้อน อย่างแน่นอน เพราะการเกษตรมีความเกี่ยวพันกับธรรมชาติอย่างแน่นแฟ้น เพียงแต่จะมากเพียงใดยังไม่มีใครบอกได้ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่มีการพยากรณ์กันมาคือ พื้นที่ดินทำการเกษตรของทวีปเอเชียจะหดตัวลง 2 ใน 3 ภายใน 50 ปีข้างหน้า เพราะผลจากปริมาณน้ำฝนและน้ำในแม่น้ำลำคลองที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่แล้งจัดก็อาจจะน้ำท่วม และในที่ต่ำใกล้ทะเล ดินจะถูกน้ำเค็มไล่ที่ เนื่องจากระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น
ในขณะเดียวกัน การเกษตรปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เมื่อรวมการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว ภาคเกษตรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ มีเทน ไนตรัสอ็อกไซด์ และอื่น ๆ รวมเป็นประมาณ 15% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ถ้าคิดรวมกับการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม ตัวเลขขึ้นสูงถึง 35% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ความคาดหวังของทุกฝ่ายที่ห่วงใยโลก และต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจึงอยู่ที่การจัดการแก้ปัญหาในภาคเกษตรมากพอควร
ช่วงปี 2 ปีก่อนหน้านี้ มีความคาดหวังกันมากว่าการเกษตรจะเข้ามามีบทบาทช่วยผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นอกจากจะเป็นตัวการสำคัญที่ก่อภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะหมดไปจากโลกในระยะยาว การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศอุดหนุนเกษตรกรที่ผันเอาที่ดินไปปลูกข้าวโพดเพื่อเอาไปทำเชื้อเพลิงเอธานอล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตราคาอาหารในปี 2551 แม้เกษตรกรรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกายังคงหวังพึ่งพืชพลังงานเพื่อทำกำไร โดยคิดว่าจะได้มากกว่าพืชอาหาร แต่ปัจจุบันมีการพิสูจน์แล้วว่า การปลูกพืชเพื่อนำมาผลิตเชื้อเพลิงแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ได้เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างที่คิด ทั้งยังไม่ยั่งยืนเพราะจะต้องใช้ต้นทุนทางนิเวศสูง
สิ่งที่เห็นชัดว่าสมควรเริ่มกระทำได้ทันที คือการเคลื่อนย้ายการเกษตรออกจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิต คือ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและเครื่องจักรกล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการเกษตรแบบอุตสาหกรรม นอกจากการพัฒนาเทคนิควิธีในการเปลี่ยนผ่านไปทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง การริเริ่มพัฒนาเทคนิควิธีการในการทำเกษตรไปในทางที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าว และจากการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งเพิ่มการเก็บกักคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในดิน เช่น การปลูกพืชโดยไม่ไถพรวน จะช่วยให้การเกษตรมีส่วนในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น ขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า หากการเกษตรสามารถจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ สมควรจะมีการตอบแทนให้แก่เกษตรกรผู้ที่ทำดีเหล่านี้อย่างไร
บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนและสรุปบทเรียนในระดับโลก ซึ่งเกิดขึ้นในหมู่องค์กรและสถาบันระหว่างประเทศที่หลากหลาย รวมถึงธนาคารโลกซึ่งเคยเป็นเจ้าแห่งแนวทางการพัฒนาในอดีต และองค์กรของสหประชาชาติที่เกี่ยวกับอาหารการเกษตรสิ่งแวดล้อม อนามัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาสังคมจากประเทศต่าง ๆ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี ผลที่สรุปได้ออกมาเป็นข้อเสนอแนะที่เน้นภูมิปัญญา นวัตกรรม และนโยบายที่มีท้องถิ่นเป็นฐาน ซึ่งอาจจะมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสมดุลระหว่างความต้องการบริโภคอาหารของคนจน และความอยู่รอดของเกษตรกรผู้ผลิตอาหารรายย่อย และระหว่างการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศเกษตร น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีว่า จะมีวาทะกรรมต่อเนื่องต่อไปในระดับประเทศ ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคฝ่าย เพื่อให้เกิดการวางนโยบายและแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาและแรงปรารถนาของประชาชนในแต่ละประเทศต่อไปในอนาคต
บรรณานุกรม
- ภาษาอังกฤษ
Asian Development Bank. The Economics of Climate Change in Southeast Asia : A Regional Review. Manila: Asian Development Bank, April 2009.
Bello, Walden. “How to Manufacture a Global Food Crisis : Lessons from the World Bank, IMF and WTO”, The Nation, New York, 2 June 2008.
Bello, Walden and Baviera, Mara. “Food Wars”, Monthly Review, 8 July 2009.
Chanyapate, Chanida and Bamford, Alec. “On Recent Projects and Experiences of the Sufficiency Economy: A Critique”, Development Dialogue No. 51, January 2009. Uppsala: Dag Hammarskjold Foundation.
De Schutter, Olivier. “Report of the Special Rapporteur on the right to food, Mission to the World Trade Organization”, presented to the Human Rigths Council, 9 March, 2009. http://www.srfood.org/index.php?option=com_content&view=article&id=69&Itemid=55&lang=en
International Assessment of Agriculture Knowledge, Science and Technology for Development. Agriculture at a Crossroads: Global Report. Washington D.C.: International Assessment of Agriculture Knowledge, Science and Technology for Development, 2009.
Ishii-Eiteman, Marcia “the IAASTD Report”, Development, Vol. 51 No. 4, December 2008. Rome: Society for International Development.
Patel, Raj. “The Unthinkable in Pursuit of the Eatable”, Development, Vol 51, No. 4, December 2008. Rome: Society for International Development.
Patel, Raj. “Testimony before the House Financial Services Committee”, 14 May 2008. Unpublished.
Rosset, Peter. “Food Sovereignty: Global Rallying Cry of Farmer Movements”, Backgrounder, Vol 9, No. 4, Fall 2003. Berkeley: Institute for Food and Development Policy (Food First).
World Bank, World Bank Assistance to Agriculture in Sub Saharan Africa : An Independent Evaluation Group Review (Washington D.C.: World Bank, 2007)
World Bank. World Development Report 2008: Agriculture for Development. Washington D.C.: World Bank, 2007.
- ภาษาไทย
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด “มายาคติว่าด้วยการเกษตรและประเทศไทย” มติชนรายวัน 29 กรกฎาคม 2552
สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และบริษัทปัญญาคอลซัลแตนท์ จำกัด เอกสารประกอบการสัมมนา โครงการศึกษาแนวทางการผลักดันและขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่า 10 สิงหาคม 2552 เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์