ข้อมูลสถานะการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของชุมชน จังหวัดลำปาง ได้จากการเก็บข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและประเภทของค่าใช้จ่ายจากตัวแทนของชุมชนต่างๆ ในจังหวัดลำปาง โดยจำแนกชุมชนตามพฤติกรรมการใช้ทรัพยากร ได้แก่ (1) ชนบทบ้านอยู่ติดป่า เป็นชุมชนที่มีการพึ่งพาทรัพยากรจากป่าสูงมาก มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า มีป่าที่สมบูรณ์ (2) กึ่งเมืองกึ่งชนบท เป็นชุมชนที่ยังมีทรัพยากรป่าไม้แต่ไม่สมบูรณ์มาก แต่ยังหากินกับป่าเป็นระยะๆ และ (3) เขตเมืองชั้นนอก เป็นชุมชนที่ในอดีตชุมชนเคยมีป่าแต่ปัจจุบันมีน้อยมาก จึงไปหากินกับป่าบ้านอื่น รายได้หลักมาจากการรับจ้างในเมืองจากการศึกษา พบว่าชุมชนชนบทที่อยู่ติดพื้นที่ป่าโดยใช้ตัวอย่างตำบลแม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง เป็นต้นแบบ พบว่าชุมชนประเภทนี้สามารถพึ่งพาตนเองทางอาหารได้สูงถึงประมาณร้อยละ 84 โดยแบ่งเป็นการพึ่งพาอาหารจากธรรมชาติประมาณร้อยละ 24 และจากการเกษตรร้อยละ 60

ส่วนชนบทกึ่งเมือง มีตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นตัวอย่างการศึกษา พบว่าชุมชนประเภทนี้สามารถพึ่งพาตนเองทางอาหารได้ประมาณร้อยละ 75 โดยแบ่งเป็นการพึ่งพาอาหารจากธรรมชาติประมาณร้อยละ 21% และจากการเกษตรร้อยละ 54

  ส่วนสถานภาพการพึ่งพาตนเองทางอาหารของชุมชนในเขตเมืองชั้นนอก มีตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง เป็นต้นแบบ พบว่ายังคงสามารถพึ่งพาตนเองทางอาหารได้ประมาณร้อยละ 53 โดยยังสามารถเก็บผักจากธรรมชาติได้ถึงร้อยละ 9

ผู้เขียนได้พยายามประมวลให้เห็นภาพสถานการภาพการพึ่งพาตนเองทางอาหารของทั้งจังหวัดลำปางโดยแบ่งประเภทตำบลทั้งหมดในจังหวัดลำปางว่าจัดอยู่ในประเภทใด สัดส่วนเท่าใด โดยการจำแนกชุมชนตามพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรและการพึ่งพากับป่า สามารถจัดเป็นประเภทต่างๆ และพบว่ามีสัดส่วนตามตารางต่อไปนี้ 

ประเภทชุมชนลักษณะจำนวนชุมชน(ตำบล)
เขตเมืองชั้นในไม่ได้พึ่งทรัพยากร7
เขตเมืองชั้นนอกในอดีตเป็นชุมชนที่เคยมีป่าแต่ปัจจุบันมีน้อยมาก จึงไปหากินกับป่าบ้านอื่น รายได้หลักมาจากการรับจ้างในเมือง9
กึ่งเมืองกึ่งชนบทพื้นที่ยังมีทรัพยากรป่าไม้แต่ไม่สมบูรณ์มาก แต่ยังหากินกับป่าเป็นระยะๆ22
ชนบทบ้านอยู่ติดชายป่าพึ่งพาทรัพยากรจากป่าสูงมากมีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับป่ายังมีป่าที่สมบูรณ์62
รวม 100

 เมื่อใช้สัดส่วนการจัดประเภทชุมชนข้างต้นกับผลการศึกษาการพึ่งพาตนเองทางอาหารของชุมชนเพื่อนำมาคำนวณสถานภาพการพึ่งพาตนเองทางอาหาร พบว่าชุมชนในจังหวัดลำปางสามารถพึ่งพาตนเองทางอาหารได้ประมาณร้อยละ 68 โดยสามารถผลิตข้าวสารเองได้ถึงร้อยละ 57 และเก็บหาผักจากธรรมชาติได้ถึงร้อยละ 11 ส่วนอาหารที่ต้องซื้อจากภายนอกส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทเนื้อ ร้อยละ 11 เครื่องดื่มและขนมร้อยละ 6 และอาหารสำเร็จรูปประมาณร้อยละ 4 

 ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาโดยคิดมูลค่าของข้าวสารที่แต่ละครอบครัวผลิตได้เองมาเป็นจำนวนเงินจากราคาตลาด จะพบว่ามูลค่าของข้าวคิดเป็นประมาณร้อยละ 57 ของค่าใช้จ่ายด้านอาหารทั้งหมด ดังนั้นการจัดการเรื่องข้าวเพื่อบริโภคในครอบครัวจึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพึ่งพาตนเองทางอาหารของครอบครัวชนบทไทยเลยทีเดียวบทสรุปสัดส่วนการพึ่งพาตนเองทางอาหารของจังหวัดลำปางที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากสาเหตุสำคัญสองประการคือ  หนึ่งจังหวัดลำปางเป็นหนึ่งในไม่กี่จังหวัดของประเทศที่มีทรัพยากรป่าไม้สูงที่สุด กล่าวคือสูงถึง 76.29 % ของพื้นที่ ทำให้ชุมชนที่อยู่ใกล้เขตป่าซึ่งมีมากถึง 62 ชุมชนยังคงสามารถพึ่งพาอาหารธรรมชาติจากป่าได้มาก ประการที่สอง ในพื้นที่จังหวัดลำปางเกษตรกรยังมีการปลูกข้าวเพื่อเก็บไว้สำหรับบริโภคเองในสัดส่วนสูง ทำให้โดยภาพรวมชุมชนต่างๆจึงสามารถพึ่งพาตนเองอาหารทั้งจากการผลิตเองในไร่นาและหาได้จากธรรมชาติมากกว่าในหลายจังหวัดของประเทศ อย่างไรก็ตามงานศึกษานี้เป็นเพียงการทำการทดลองหาวิธีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองทางอาหารและความมั่นคงทางอาหารขั้นต้นเท่านั้น ผู้ที่สนใจควรจะได้พัฒนาการเก็บข้อมูลและการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากการรู้สถานภาพการพึ่งพาตนเองทางอาหารของชุมชน เป็นเรื่องพื้นฐานและจำเป็นสำหรับการปฏิบัติการและการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ