1.ทำไมประเทศไทยต้องมีการร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การค้าโลก ได้ลงนามนับตั้งแต่ปี 2538 เพื่อที่จะให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ตามพันธกรณีที่มีในข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ทริปส์-TRIPs) การผลักดันเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากประเทศอุตสาหกรรมและบรรษัทข้าม ชาติด้านการเกษตรต้องการให้ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดคุ้มครอง พันธุ์พืชใหม่ของตน
อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวได้เปิดช่องว่างให้มีการร่างกฎหมายพันธุ์พืชได้หลายลักษณะคือ1.1 ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชโดยใช้กฎหมายสิทธิบัตร นั่น หมายความว่า พืชที่รัฐจะต้องให้การคุ้มครองต้องเป็นพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น และพันธุ์พืช ดังกล่าวจะต้องมีลักษณะ 3 ประการคือ
1) มีความใหม่
2) มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
3) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทางพาณิชยกรรม/อุตสาหกรรม
1.1 การผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาให้การคุ้มครองพันธุ์พืชตามกฎหมายสิทธิบัตร เป็นความปราถนาอย่างสำคัญของสหรัฐอเมริกาและประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในยุโรป เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืชจะให้สิทธิผูกขาดสูงสุดกับบรรษัทข้ามชาติและนักปรับปรุงพันธุ์ แต่จะไม่ให้การคุ้มครองเกษตรกรเลย เช่น
- เกษตรกรต้องซื้อพันธุ์ทุกครั้งที่ปลูกไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในฤดูถัดไปได้ ไม่สามารถนำกิ่งพันธุ์ไปขยายต่อแล้วปลูกมากกว่าปริมาณที่ซื้อมาได้
- ผู้ใดก็ตามไม่สามารถนำเอาพันธุ์พืชดังกล่าวไปปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาต่อได้เลยถ้าไม่ได้รับอนุญาต
- ผู้ได้รับสิทธิบัตรสามารถกำหนดได้กระทั่งถึงขั้นตอนการนำเอาผลิตผลจากพันธุ์พืชนั้นไปแปรรูป หรือไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ตัวอย่างเช่น การนำผลผลิตข้าวไปสีเฉพาะโรงสีที่ตนประสงค์ การเอาผลไม้ไปผลิตเป็นน้ำผลไม้หรือไวน์เท่านั้น เป็นต้น
- ไม่จำเป็นต้องให้การแบ่งปันประโยชน์ให้กับเกษตรกร หรือชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าของพันธุกรรมซึ่งใช้ในการปรับปรุงพันธุ์
- ระยะการให้การคุ้มครองพันธุ์พืชยาวนานอย่างน้อย 20 ปี
1. 2 ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชตามแบบของสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (ยูพอพ -UPOV))การคุ้มครองกฎหมายนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับกฎหมายสิทธิบัตรมาก กล่าวคือมุ่งให้การคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น โดยพืชที่จะได้รับการคุ้มครองต้องมีลักษณะ 3 ประการคือ 1) ต้องเป็นพันธุ์พืชใหม่ 2) มีลักษณะสม่ำเสมอประจำพันธุ์ 3 ) มีเสถียรภาพในลักษณะสำคัญ
การให้การคุ้มครองตามแบบวิธีการนี้ทำให้บริษัทเมล็ดพันธุ์และนักปรับปรุงพันธุ์ได้รับการคุ้มครองง่ายขึ้น จนมักมีการกล่าวอ้างว่าเกษตรกรทั่วๆไปก็สามารถขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชตามกฎหมายนี้ได้ แต่ในทางความเป็นจริงจะมีเกษตรกรน้อยมากที่สามารถนำพันธุ์พืชใหม่ไปขอรับความคุ้มครองได้
ขณะการคุ้มครองพันธุ์พืชตามแบบของสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ จะต้องเป็นไปตามรายละเอียดข้อตกลงที่เรียกว่า ยูพอพ 1991 ซึ่งมีการขยายสิทธิผูกขาดของบริษัทเมล็ดพันธุ์ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น (ประเทศที่เข้าเป็นภาคีหลังปี 1998 จะต้องยอมรับเฉพาะข้อตกลงยูพอพ 1991 เท่านั้น)
1.3 ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชตามกฎหมายเฉพาะ (ซุย เจนเนอริส – Sui Generis)อย่างไรก็ตามข้อตกลงในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาได้เปิดช่องให้ประเทศกำลัง พัฒนาไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชตามแบบกฎหมายสิทธิบัตร หรือ ตามแบบของสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ แต่ให้ออกกฎหมายเฉพาะได้
การเปิดช่องดังกล่าวไว้ ทำให้ประเทศไทยสามารถออกกฎหมายที่ให้การคุ้มครองเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติได้มากขึ้น แทนที่จะต้องออกกฎหมายตามแรงกดดันของบรรษัทข้ามชาติและประเทศอุตสาหกรรมแต่ฝ่ายเดียว
กฎหมายคุ้มครองตามพืชตามแบบกฎหมายเฉพาะของไทยจึงถูกร่างขึ้น โดยให้การคุ้มครองทั้งพันธุ์พืชใหม่และพันธุ์พืชท้องถิ่น ทั้งนี้โดยนำเอาหลักการการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของยูพอพปี 1978 มารวมกับหลักการให้การคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นตามข้อตกลงใน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ – FAO) และข้อตกลงในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD)
2.การเรียกร้องของประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ
ระหว่างปี 2537-2539 กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชกัน คนละฉบับ (เนื่องจากทั้งสองกระทรวงตกลงกันไม่ได้ในการบริหารกฎหมาย ต่างฝ่ายเห็นว่าตนควรเป็นผู้ดูแลกฎหมายฉบับนี้) โดยที่เนื้อหาของกฎหมายนั้นยึดรูปแบบการให้การคุ้มครองตามแบบของสหภาพเพื่อ คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรษัทข้ามชาติด้าน เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย
องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ได้แสดงความวิตกกังวลถึงการผลักดันของกฎหมายฉบับดังกล่าวหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าวแต่ก็มิได้รับการสนองตอบเท่าที่ควร จนในที่สุดเมื่อมีการชุมนุมเรียกร้องของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและสมัชชาคนจนเมื่อต้นปี 2540 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่รวมตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร องค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนชาวบ้าน และนักวิชาการ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมาย
เมื่อรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัยเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพลเอกชวลิตที่ลาออกไป ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดเดิมเพื่อดำเนินการร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จ จนในที่สุดร่างกฎหมายดังกล่าวได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2540
ต้นปี 2541 กระทรวงเกษตรได้นำเอาร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเนวิน ชิดชอบ ต้องการผลักดันให้มีการใช้กฎหมายสิทธิบัตรเข้ามาแทนกฎหมายฉบับดังกล่าวแต่ได้รับการคัดค้านอย่างกว้างขวางจากเกษตรกร นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน
ในที่สุดกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชก็ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาในปลายปี 2542 โดยมีการตัดทอนแก้ไขเนื้อหาสาระของกฎหมายบางประการที่เกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ของเกษตรกรออกไป

3. สาระสำคัญของกฎหมาย
กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ของไทย ถูกร่างขึ้นโดยการถ่วงดุล ระหว่างการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของนักปรับปรุงพันธุ์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ และการเคารพถึงสิทธิและผลประโยชน์ที่เกษตรกรควรจะได้รับ เป็นการผสมผสานระหว่างหลักการให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแบบยูปอพ 1978 กับหลักการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมที่ปรากฎในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 1992
กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยมีสาระและโครงสร้างสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
3.1 พันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
3.1.1 พันธุ์พืชใหม่ เป็นพันธุ์พืชที่มีการผสมหรือปรับปรุงพันธุ์ขึ้น อนุสัญญาเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ถูกผลักดันโดยประเทศอุตสาหกรรมและบริษัทเมล็ดพันธุ์ มีลักษณะคล้ายกฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืชใหม่ โดยทั่วไปผู้ขอรับการคุ้มครองส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงบรรษัทข้ามชาติผู้ที่ขอรับการคุ้มครองจะได้สิทธิผูกขาดในการจัดจำหน่ายพันธุ์พืช ตั้งแต่ 12-27 ปี กล่าวคือ พืชที่ให้ผลผลิตหลังปลูกไม่เกิน 2 ปี เช่น ข้าว อ้อย มีระยะเวลาคุ้มครอง 12 ปีพืชที่ให้ผลผลิตหลังปลูกเกินกว่า 2 ปี เช่น ทุเรียน มะม่วง ส้มโอ ให้ความคุ้มครอง 17 ปี และพืชที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ เช่น ยูคาลิปตัส สัก กำหนดเวลาให้ความคุ้มครอง 27 ปี
3.1.2 พันธุ์พืชพื้นเมือง แบ่งออกเป็นสามประเภทคือ
1) พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น หมายถึงพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะใน ชุมชนในชุมชนหนึ่งภายในประเทศ กฎหมายให้ประโยชน์กับชุมชนที่เป็น ผู้อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชนี้ แต่ทั้งนี้ต้องให้องค์กรของชุมชนที่เป็นนิติบุคคล เช่น สหกรณ์ หรือ อบต. เป็นผู้ทำหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนแทนชุมชน องค์กรนิติบุคคลของท้องถิ่นที่ทำหน้าที่แทนชุมชนจะได้ รับผลประโยชน์ร้อยละ 20 ของส่วนแบ่งผลประโยชน์ และในกรณีที่พันธุ์พืช พื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของเกษตรกรรายใดรายหนึ่ง ให้เกษตรกรผู้นั้นได้รับจัดสรรผลประโยชน์ด้วยร้อยละ 20
2) พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หมายถึงพันธุ์พืชที่กำเนิดหรือมีอยู่ภายในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้พันธุ์พืชนี้ในการปรับปรุงพันธุ์ หรือวิจัยเพื่อการพาณิชย์ จะต้องแบ่งปันประโยชน์เข้าสู่กองทุนพันธุ์พืช
3) พันธุ์พืชป่า หมายความถึงพันธุ์พืชที่มีหรือเคยมีอยู่ในประเทศตามสภาพธรรมชาติและยังมิได้มีการนำมาใช้เพาะปลูกอย่างแพร่หลาย การนำพันธุ์พืชนี้ใช้ประโยชน์ให้เป็นไปแบบเดียวกันกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป
3.2 กองทุนพันธุ์พืช เป็นกองทุนเพื่อจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายในการช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ การวิจัย และการพัฒนาพันธุ์พืช ของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.3 คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ประกอบไปด้วยคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 22 คน ทั้งนี้โดยมีเกษตรกร 6 คน นักวิชาการ 2 คน และองค์กรพัฒนาเอกชน 2 คน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ หน้าที่สำคัญของคณะกรรมการพันธุ์พืชคือ เสนอให้รัฐมนตรีเป็นผู้กำาหนดชนิดของพันธุ์พืชว่าพันธุ์พืชใดเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครอง และบริหารกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นต้น

4. ปัญหาและข้อจำกัดของกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช
แม้กฎหมายนี้จะกำหนดให้มีกลไกเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่น และส่งเสริมบทบาทของชุมชน และองค์กรท้องถิ่น แต่โดยเหตุที่หน่วยงาน ซึ่งรับผิดชอบในการดูแลกฎหมายนี้คือ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยเป็นหลัก ทำให้การดำเนินงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายมีเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น ในขณะที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ คุ้มครองสิทธิเกษตรกร และสนับสนุน บทบาทของชุมชน แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อปี 2542 ตัวอย่างเช่น
1) มีการประกาศชนิดพันธุ์พืชใหม่ที่สามารถขอรับการคุ้มครอง เป็นจำนวนมากถึง 56 ชนิด และมีผู้ยื่นขอรับการคุ้มครองแล้วจำนวนมาก เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย จำนวน 21 พันธุ์ ข้าวโพด 7 พันธุ์ ข้าว 4 พันธุ์ อ้อย 7 พันธุ์ แตงโม 6 พันธุ์ มะระ 4 พันธุ์ มะเขือเทศ 8 พันธุ์ ถั่วเหลือง 1 พันธุ์ มันสำปะหลัง 1 พันธุ์ แตงกวา 4 พันธุ์ และแตงร้าน 6 พันธุ์ เป็นต้น
2) แต่กลับไม่มีการออกกฎระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ ในกรณีที่มีผู้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า รวมทั้งขาดความกระตือรือร้นในการคุ้มครองผลประโยชน์เมื่อมีการเข้ามาวิจัยพันธุ์พืชท้องถิ่นและนำไปจดสิทธิบัตร ตัวอย่างเช่น กรณีกวาวเครือ เป็นต้น
3) ไม่มีการจัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจการของชุมชนภายใต้กองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช
4) ขาดมาตรการเชิงรุกเพื่อให้การคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง เฉพาะถิ่น
5. ข้อดีของกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช
ข้อดีที่สำคัญของกฎหมายคือ สร้างเงื่อนไขให้ผู้ที่ขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ที่นำเอาพันธุ์พืชท้องถิ่นไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ ต้องขออนุญาต และต้องทำสัญญาส่วนแบ่งประโยชน์ก่อน ด้วยเงื่อนไขนี้ ทำให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่สามารถได้สิทธิผูกขาดในพันธุ์พืชที่นำเอาพันธุ์พืชท้องถิ่นไปปรับปรุงพันธุ์ได้โดยง่าย และทำให้ขั้นตอนการขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ล่าช้าออกไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัทพันธุ์พืชและนักปรับปรุงพันธุ์ ได้เคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไข โดยเสนอให้มีการแก้ไขนิยาม “พันธุ์ พืชพื้นเมืองทั่วไป” เสียใหม่ เพื่อที่กลุ่มดังกล่าวไม่ต้องขออนุญาต และไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์เมื่อมีการนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์
6. ความเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขกฏหมายคุ้มครองพันธุ์พืช
เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติด้านเมล็ดพันธุ์ ได้ให้เหตุผลในการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยอ้างเหตุผลว่า “คำจำกัดความพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เป็นอุปสรรคต่องานวิจัยและนวัตกรรม และยังได้เสนอให้มีการแยกกฎหมาย 3 ส่วนออกจากกัน คือ งานอนุรักษ์พันธ์พืช การแบ่งปันผลประโยชน์ และการคุ้มครองพันธ์พืช เนื่องจากต่างมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันจึงควรจะแยกกฎหมายออก มากำกับในแต่ละส่วนให้ชัดเจนให้ตรงตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ ของแต่ละกิจกรรม
อย่างไรก็ตามความพยายามในการแก้กฎหมายดังกล่าวในระหว่างปี 2552-2555 ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าปัญหามิได้อยู่ที่นิยามแต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายของกรมวิชาการเกษตรมากกว่า
ช่วงต้นปี 2556 กลุ่มบริษัทเมล็ดพันธุ์และข้าราชการบางส่วนในกรมวิชาการเกษตรจึงได้ร่วมกัน ยกร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่มาแทนที่กฎหมายเดิม โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และปรับปรุงกฎหมายไทยให้ได้มาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเนื้อหาในร่างกฎหมายใหม่มีเนื้อหาตามแบบยูพอพ 1991 พร้อมทั้งกำหนดคำนิยามพันธุ์พืชพื้นเมืองขึ้นใหม่เพื่อเอื้ออำนวยให้ตนเอง สามารถขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้โดยสะดวกไปพร้อมๆกันด้วย ความแตกต่างสำคัญระหว่าง ยูพอพ 1978 และ 1991
ยูพอพ1978 | ยูพอพ1991 |
---|---|
– คุ้มครองเฉพาะพืชที่มีการประกาศก่อนเท่านั้น | – คุ้มครองพืชทุกชนิด |
– ระยะเวลาคุ้มครองอย่างต่ำ 15 ปี | – ระยะเวลาคุ้มครองอย่างต่ำ 20 ปี |
– ให้การคุ้มครองเฉพาะการขายส่วนขยายพันธุ์ | – เพิ่มการคุ้มครอง การส่งออก นำเข้า และสต๊อค |
– นักปรับปรุงพันธุ์สามารถใช้ประโยชน์เพื่อนำพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองไปปรับปรุงพันธุ์ต่อได้โดยอิสระ | – นักปรับปรุงพันธุ์ไม่ได้รับอนุญาตให้นำพันธุ์พืชไปปรับปรุงพันธุ์หาก มีการแสดงออกของลักษณะสำคัญที่ได้มาจากพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้ม ครอง(essentially derived) |
– เกษตรกรสามารถเก็บรักษาส่วนขยายพันธุ์ไปปลูกต่อในฤดูต่อไปได้ | – แต่ละประเทศสามารถกำหนดห้ามไม่ให้เกษตรกรเก็บรักษาส่วนขยายพันธุ์ไปปลูกต่อ |
– ไม่ห้ามเกษตรกรใช้ประโยชน์จากผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากส่วนขยายพันธุ์ | – แต่ละประเทศสามารถกำหนดห้ามมิให้เกษตรนำผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ไปใช้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตก่อนเท่านั้น |
