ตามที่กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการเพื่อเตรียมการเข้าร่วมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป โดยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนในวันพุธที่ 23 มกราคม 2556 มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ทำงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และการค้าที่เป็นธรรม มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาดังต่อไปนี้
1.ประเด็นหลักการและวัตถุประสงค์ในการเจรจา[1]
ร่างกรอบการเจรจาได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการเจรจา[i]โดยใช้ข้อความในประโยคแรกว่า “เพื่อรักษาโอกาสทางการแข่งขันในตลาดไม่ให้สูญเสียไปกับประเทศอื่นที่ได้รับสิทธิพิเศษจากสหภาพยุโรป” สะท้อนให้เห็นเจตนาของการเจรจาว่าประสงค์จะเอื้ออำนวยให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากจีเอสพีจากสหภาพยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วย รถยนต์ขนส่ง เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลสด/แช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง และยางรถยนต์ เป็นต้น[2] รัฐบาลและรัฐสภาต้องให้คำมั่นสัญญาโดยระบุในกรอบการเจรจาว่า ต้องไม่ยอมแลกเปลี่ยนกับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ประสงค์จะขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องพันธุ์พืช และทรัพยากรชีวภาพ เพราะเท่ากับการเอื้ออำนวยให้กลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มในขณะที่เกษตรกรรายย่อยจะได้รับผลกระทบจากราคาพันธุ์พืชที่สูงขึ้นจากการผูกขาดของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีชีวภาพจากยุโรป
2. ประเด็นเรื่องการลงทุน
2.1 ให้เพิ่มเติมข้อยกเว้นการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้สถาการณ์ที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับข้อจำกัดของพลังงาน วิกฤตอาหาร และการแย่งยึดที่ดิน (Land Grabbing) ประเทศไทยต้องสงวนฐานทรัพยากรและการผลิตทางการเกษตรที่อาศัยฐานทรัพยากรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และเพื่อโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรรายย่อยไปพร้อมๆกัน
2.2 มูลนิธิชีววิถีสนับสนุนท่าทีของรัฐบาลไทยที่ระบุไว้ในกรอบการเจรจาเรื่องการลงทุน[3]ในหัวข้อ 5.9.6 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศโดย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและรัฐสภาต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันผลกระทบของการลงทุนที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศในระดับเดียวกัน โดยประเทศไทยสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการใดๆตามสมควรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้ในกรณีที่มีข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนในประเด็นเหล่านี้ให้อยู่ภายใต้อำนาจของศาลไทยไม่ใช่อยู่ภายใต้ระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป
3. ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา
3.1 มูลนิธิชีววิถีไม่เห็นด้วยกับร่างกรอบการเจรจาในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ระบุในข้อ 5.11.1 ว่า “ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลกและ/หรือความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี” เนื่องจากการเขียนข้อความดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้สหภาพยุโรปสามารถผลักดันให้ประเทศไทยต้องยอมรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูง เช่น การขยายการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามอนุสัญญา UPOV1991 และการจดสิทธิบัตรในพืช และสิ่งมีชีวิต ได้ เพราะความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลกนั้นได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้เท่านั้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูงล้วนแล้วแต่ “สอดคล้อง” กับความตกลงดังกล่าวทั้งสิ้น
ภายใต้ความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก ประเทศไทยสามารถเลือกการคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้กฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ(Sui Generis)ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องคุ้มครองภายใต้อนุสัญญา UPOV1991[4] หรือระบบสิทธิบัตร
รัฐบาลและรัฐสภาจะต้องกำหนดกรอบการเจรจาในหัวข้อ 5.11.1 เป็น “ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีเรื่องพันธุ์พืช ทรัพยากรชีวภาพ และยา[5]ไม่เกินไปกว่าระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก”
3.2 ปรับกรอบการเจรจาให้เพิ่มการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพมากไปกว่าเพียง “ความร่วมมือ” ซึ่งปรากฏในข้อ 5.11.5 แต่ควรให้มีการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ โดยต้องผลักดันให้ “พันธุ์พืชใหม่และการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นและสัญญาการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยและสหภาพยุโรปเป็นภาคี”
3.3 กรอบการเจรจาต้องเพิ่มเติมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ครอบคลุมสินค้าเกษตรและบริการ เพื่อให้มีการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย (เช่น ข้าวหอมมะลิ หรือการนวดไทย เป็นต้น) เฉกเช่นกับที่ประเทศไทยได้ให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ประเภทไวน์และสุราจากสหภาพยุโรป แถลงว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการภายในต้นปี 2556 นั้น ประเด็นการเจรจาที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศที่หลายฝ่ายห่วงใยมากที่สุดประเด็นหนึ่งคือการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต (patenting life forms) และการขยายการคุ้มครองสายพันธุ์พืชตามอนุสัญญา UPOV 1991
การยอมรับตามแรงผลักดันของสหภาพยุโรปในกรณีทรัพย์สินทางปัญญาจะเท่ากับการให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูงแก่ประเทศอื่นๆทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ในขณะที่หากมีการเปิดเสรีการลงทุนกับสหภาพยุโรปในสาขาใดๆ ก็จะเป็นเงื่อนไขให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีในสาขานั้นๆให้กับประเทศอื่นๆที่จะมีการเจรจาการค้ากับประเทศไทยในอนาคต[6]
การเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เป็นการเจรจาที่มีครอบคลุมอย่างกว้างขวาง หากคณะผู้เจรจาและรัฐบาลขาดความรอบคอบ หรือไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ความตกลงนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ในระดับที่ไม่อาจเยียวยาหรือฟื้นฟูได้
[1] หลักการและวัตถุประสงค์ หน้า 6 เข้าถึงได้ที่http://www.dtn.go.th/filesupload/Thailand-EU_FTA.pdf เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556
[2] ร่างกรอบการเจรจาหน้า 5
[3] โดยระบุว่า “ให้รักษาสิทธิของทางการในการใช้มาตรการที่จำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางระบบการเงิน การธนาคาร การเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยน และสิทธิในการใช้มาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่อาจกระทบต่อดุลการชำระเงิน”
[4] การยอมรับการคุ้มครองพันธุ์พืชตาม UPOV1991 หรือตามข้อเรียกร้องของยุโรปจะทำให้มีการขยายสิทธิการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่จาก 12-15 ปี เป็น 20 ปี และจาก 17 ปี เป็น 25 ปี ต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 โดยต้องตัดหลักการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและสิทธิเกษตรกรออกจากกฎหมายดังกล่าว ในขณะที่การยอมรับกฎหมายสิทธิบัตรในพันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิตจะนำไปสู่การเข้ามาครอบครองทรัพยากรชีวภาพของบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพของยุโรป และนำไปสู่การผูกขาดในระดับที่มากยิ่งขึ้นไปอีก
[5] ในกรณีเรื่องยาให้ดูเพิ่มเติมจากข้อเสนอของมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ เอดส์ ประเทศไทย
[6] ตัวอย่างเช่น การเปิดโอกาสให้ออสเตรเลียสามารถลงทุนในสัดส่วนสูง 60% ในกิจการเหมืองแร่ ทำให้ประเทศไทยต้องเปิดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้สิทธินั้นภายใต้ความตกลงเรื่องการลงทุนอาเซียนในระยะเวลาต่อมา