มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)โต้แย้งคำแถลงกรมวิชาการเกษตร ชี้การแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเป็นการขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัท เปิดทางโจรสลัดชีวภาพ และเกษตรกรอาจถูกจำคุก 2 ปี ปรับ 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับหากเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ

ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้แถลงข่าวยืนยันว่าการแก้ไขร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ของกรมฯเพื่อให้เป็นไปตาม UPOV1991 นั้น เป็นการดึงดูดนักลงทุน โดยเกษตรกรจะได้ประโยชน์สูงสุดและจะยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกในแปลงของตนได้ตามมาตรา 35 ของร่างกฎหมายดังกล่าว มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)เห็นว่าเมื่อพิจารณารายมาตราที่มีการแก้ไขและดูภาพรวมทั้งหมดแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ เปิดทางโจรสลัดชีวภาพ และละเมิดสิทธิของเกษตรกรอย่างร้ายแรงดังนี้

1. การอ้างว่าเกษตรกรยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกในแปลงของตนได้นั้นไม่เป็นความจริง

เนื่องจากแม้ในร่างพ.รบ.มาตรา 35 จะระบุข้อความว่า “เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง” แต่กลับเพิ่มเงื่อนไขสำคัญต่อท้ายว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้” 

ทั้งนี้ หากเกษตรกรปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านจะมีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนที่มาของกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีอำนาจในการประกาศฯ กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน (โดยมีเกษตรกรอย่างน้อย 6 คน) มาจากการเสนอชื่อ/คัดเลือกกันเอง แต่ในร่างกฎหมายนี้ (มาตรา 6) กลับให้มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด สะท้อนการรวบอำนาจในมือของบุคคลบางกลุ่มที่เสนอยกเลิกกฎหมายเดิมและร่างกฎหมายฉบับนี้

2. การขยายสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น ดังนี้

  • ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืช แต่เดิมพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปีให้การคุ้มครอง 12 ปีและ 17 ปีตามลำดับนั้น ในมาตรา 31 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 20 ปี ส่วนไม้เถายืนต้น (เช่น องุ่น) ให้มีระยะเวลา 25 ปี
  • ขยายการคุ้มครองจากแต่เดิมให้การคุ้มครองเฉพาะ “ส่วนขยายพันธุ์” (มาตรา 33 ของพ.ร.บ.ฉบับเดิม) ให้เพิ่มรวมไปถึง “ผลิตผล” และ “ผลิตภัณฑ์” ตามร่างพ.ร.บ.มาตรา 37 (ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 33 ต่อผลิตผลที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยวรวมถึงพืชและส่วนต่างๆของพืชที่ได้มาจากส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครอง จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ) และร่างพ.ร.บ.มาตรา 38  (ผู้ใดกระทำตามมาตรา 33 ต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากผลิตผลตามมาตรา 37 จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ) 
    ตัวอย่างเช่น หากพบว่ามีการเก็บรักษาพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อทั้งๆที่มีการประกาศว่าเป็น “พันธุ์พืชส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์” ตามมาตรา 35 ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะปลูกและแปรรูปทั้งหมดถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทเมล็ดพันธุ์
  • ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (EDVs-Essentially Derived Varieties) พันธุ์ที่ไม่แสดงความแตกต่างจากพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์ที่ต้องอาศัยพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองในการขยายพันธุ์ทุกครั้ง (มาตรา 40 ร่างพ.ร.บ.)

3. เปิดทางสะดวกให้กับโจรสลัดชีวภาพ

ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่เปิดทางให้ผู้นำพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้โดย

  • มีการเปลี่ยนแปลงนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปว่า “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือ พันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ (ร่างพ.ร.บ.มาตรา4) การแก้คำนิยามดังกล่าวทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ เมื่อมีการนำเอาสารพันธุกรรมหรือพันธุ์พืชไปใช้โดยเพียงแต่เอาพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือ พันธุ์พืชป่า มา “ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์”เสียก่อนเท่านั้นก็ไม่เข้าเงื่อนไขการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์แล้ว
  • กฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของสารพันธุกรรมตามมาตรา 9 (3) แต่ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชกลับตัดวรรคดังกล่าวออกและร่างขึ้นใหม่เป็น “ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด”  (ร่างพ.ร.บ.มาตรา 18 (3) การแก้ไขดังกล่าวมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์นั่นเอง

ควรทราบว่าในปัจจุบันแม้แต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแต่ขาดแคลนทรัพยากรชีวภาพ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นอรเวย์ ฯลฯ แต่ประเทศเหล่านั้นได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตนให้ต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพ  เพื่อรองรับหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่กรมวิชาการเกษตรกลับทำตรงกันข้าม

การยกเลิกพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และยกร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ขึ้นแทน ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยแต่ประการใด หากแต่เป็นไปเพื่อขยายการผูกขาดพันธุ์พืช และเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV1991 ตามแรงผลักดันของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่เป็นสำคัญ


ดาวน์โหลด ตารางเปรียบเทียบร่างพ.ร.บ.กับกฎหมายเดิมได้ที่ http://www.doa.go.th/main/images/stories/opinion/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B…

แสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ที่เว็บไซท์ของกรมวิชาการเกษตร
http://info.doa.go.th/rubfung/pvp/

ที่มา: Facebook BIOTHAI