การแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษเพื่อปลดล็อคกัญชาให้สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ จะไม่เกิดประโยชน์ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรก หากผู้ป่วยและหมอยาพื้นบ้านไม่สามารถเข้าถึงกัญชาและปรุงยาได้เองตามที่เคยเป็นมาในอดีต (ก่อนมีกฎหมายห้าม) และประการที่สอง หากไม่มีการเพิกถอนสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ไบโอไทยและเครือข่ายทางวิชาการพบว่ามีอีกอย่างน้อย 7 คำขอที่ยังไม่ถูกยกคำขอ ทั้งๆที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามีอำนาจยกคำขอดังกล่าวภายใต้มาตรา 30 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร
ไบโอไทย เอฟทีเอว็อทช์ และเครือข่ายทางวิชาการได้เปิดเผยข้อมูลสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนนำไปสู่การยกคำขอแล้วจำนวน 3 สิทธิบัตร จากการแถลงของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2561 แต่น่าแปลกใจที่สิทธิบัตรอย่างน้อยอีก 7 คำขอ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับ 3 คำขอก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นคำขอเกี่ยวกับสารสกัดจากพืช เกี่ยวกับการนำไปบำบัดรักษาโรค ซึ่งขัดกับมาตรา 9(1), 9(4) และ ปราศจากความใหม่และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ตามมาตรา 5 กลับมิได้มีการยกคำขอแต่ประการใด
การปลดล็อคกัญชาโดยการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จะกลายเป็นการปลดล็อคเพื่อบรรษัทยาข้ามชาติก็ด้วยสาเหตุดังกล่าว
หลังจากได้เข้าไปชี้แจงต่อกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวานนี้ (12/12/2561) เราพบว่า แม้ผู้ผลักดันให้มีการแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษมีเจตนาดีในการปลดล็อคกัญชาเพื่อการรักษาโรค แต่หากรัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่กำกับดูแลและสั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการเกี่ยวกับคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ชอบดังกล่าวแล้ว ในที่สุดแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศใน 3 เรื่องใหญ่ ดังนี้
1) การปล่อยให้สถานะของสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคาราคาซังอยู่เช่นนี้่ จะเป็นการปิดกั้นการวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือ วิสาหกิจขนาดเล็กในประเทศไทย เพราะตามมาตรา 35 ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตรได้ให้การคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตร (โดยสามารถยื่นหนังสือคัดค้านว่าการวิจัยดังกล่าวนั้นตนได้ยื่นขอสิทธิบัตรไว้แล้ว) โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอสิทธิบัตร อีกทั้งสามารถเรียกค่าเสียหายได้หากคำขอสิทธิบัตรนั้นได้รับการจดทะเบียน
2) หากสิทธิบัตรของต่างชาติดังกล่าวได้รับการจดทะเบียน บริษัทยาของต่างชาติจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนายาจากกัญชา ทั้งจากการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาจากกัญชาในประเทศไทย แทนที่จะเป็นประชาชนในประเทศซึ่งได้เคยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกัญชาเป็นยารักษาโรคมาอย่างยาวนาน
3) ประชาชนและผู้ป่วยจากโรคพาร์กินสัน ลมชัก มะเร็ง เนื้องอก โรคเกี่ยวกับจิตประสาท และอื่นๆ จะต้องซื้อยาในราคาแพง ซึ่งเป็นผลมาจากการผูกขาดตลาดและอุปสรรคในการวิจัยซึ่งเกิดจากการเพิกเฉยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว
ไม่แปลกใจเลย หากการแก้กฎหมายโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและหมอยาพื้นบ้านปลูกและปรุงยาจากกัญชาได้ จะทำให้ประชาชนจำนวนมากคิดว่า การปลดล็อคครั้งนี้จะนำไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ “ประชารัฐ” และหากกระทรวงพาณิชย์ไม่ดำเนินการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่ไม่ชอบซึ่งเหลืออยู่อย่างน้อย 7 คำขอ จะทำให้หลายคนเกิด “จินตนาการร่วม” ว่า สิ่งนี้เกิดจากผลประโยชน์เกี่ยวข้องระหว่างผู้มีอำนาจกับกลุ่มบริษัทที่ยื่นขอสิทธิบัตรจากกัญชา !
ที่มา: BIOTHAI Facebook