1) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงว่า “คำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาที่เป็นที่สนใจของสังคมมีข้อยุติแล้ว” โดยได้ใช้มาตรา 30 ให้อธิบดียกเลิกคำขอที่ 1101003758 (การใช้ไฟโตแคนนาบินอยด์ หรือสารผสมของสารดังกล่าวในการรักษาโรคลมบ้าหมู) และต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ได้แถลงอีกครั้งว่า คำขอสิทธิบัตรกัญชาเลขที่ 0501005232 (วิธีการสำหรับการทำให้ทรานส์-(-)- เดลตา9 -เตตราไฮโดรแคนนาบินอล และทรานส์-(+)- เดลตา9 -เตตราไฮโดรแคนนาบินอล บริสุทธิ์) และคำขอเลขที่ 0601002456 (ส่วนผสมเชิงเภสัชกรรมที่ออกฤทธิ์ของแคนนาบินอยด์สำหรับรูปแบบขนาดยาที่ถูกปรับปรุง) เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้แจ้งปฏิเสธการจดสิทธิบัตรแล้ว



2) แต่จากการตรวจสอบของไบโอไทยล่าสุดเช้าวันนี้ (25/12/2561) ซึ่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ….. จะเข้าพิจารณาเพื่อลงมติในวาระ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับพบว่า สถานะของคำขอสิทธิบัตรทั้ง 3 ดังกล่าวยังอยู่ในชั้น “ประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตร” และ “ระหว่างการจัดทำเอกสารตอบรับและจัดส่งเอกสาร” โดยมิได้มีวี่แววว่า จะมีการยกเลิกคำขอและมิได้ชี้ให้เห็นว่า “สิทธิบัตรจากกัญชามีข้อยุติแล้ว” ดังคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่ประการใด
3) จากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับแจ้งว่า คำขอ 1101003758 นั้น “กรมก็ยังไม่ได้ดำเนินการเพิกถอน” โดยข่าวสารที่ออกมาก่อนหน้านั้น “คงเป็นความเข้าใจผิดของสื่อมวลชน” เพราะกรมฯบอกว่าจะดำเนินการ “พิจารณาเพิกถอน” เท่านั้น ส่วนสถานะของสิทธิบัตรต่างๆในเว็บไซท์ทั้งหมด “อาจมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล”
ขณะนี้ประชาชนไม่สามารถทราบความคืบหน้าใดๆของการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาเพราะไม่อาจเชื่อถือหน้าเว็บไซท์อย่างเป็นทางการของกรมฯได้เลย อีกทั้งผู้บริหารของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เองก็ไม่ได้แจ้งความคืบหน้าใดๆเลย นับตั้งแต่ได้แถลงเรื่องนี้เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา
4) จากคู่มือ “การตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร
ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2555″ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า เมื่อแจ้งยกเลิกคำขอแล้ว ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีเวลา 90 วันในการชี้แจง และอาจขอเลื่อนคำชี้แจงไปมากกว่านั้นก็ได้ ดังนั้นสิ่งที่อ้างว่าการยกเลิกสิทธิบัตรที่บอกว่า “มีข้อยุติแล้ว” จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด และเมื่อสภาผ่าน พ.ร.บ.ยาเสพติดฯเพื่อคลายล็อคกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ ก็ไม่มีหลักประกันใดๆว่าสิทธิบัตรของต่างชาติจะถูกยกเลิก
จากแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและท่าทีของผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง คาดว่าเรื่องการยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของต่างชาติ ทั้ง 3 สิทธิบัตรที่รัฐมนตรีแถลงเองว่าจะปฏิเสธคำขอ และสิทธิบัตรที่เหลืออีกอย่างน้อย 7 สิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายคงไม่สามารถดำเนินการได้โดยรัฐบาลนี้ค่อนข้างแน่

5. และหากประชาชน สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ติดตามเรื่องสิทธิบัตรกัญชาอย่างใกล้ชิด “คำขอสิทธิบัตร” ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดหรือบางส่วน จะกลายเป็น “สิทธิบัตร” ในที่สุด
กฎหมายคลายล็อคกัญชา ซึ่งเป็นความหวังของผู้ป่วย ผู้ประกอบการในประเทศ และเกษตรกรที่หวังจะปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะกลายเป็น “ปาหี่” ระดับชาติ โดยมีผู้ได้ประโยชน์เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทยาข้ามชาติที่ครอบครองสิทธิบัตรกัญชาในที่สุด