เป็นที่ชัดเจนว่าหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเห็นด้วยกับคำประกาศแบน 3 สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิด ได้แก่พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส  

ท่าทีของหอการค้าไทยฯแตกต่างกับท่าทีของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแบน 3 สารพิษ (ลิงค์ข่าว https://tna.mcot.net/view/NxwfdhL)  ซึ่งเราวิเคราะห์ว่า เนื่องจากบริษัทอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่นั้นเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับมอนซานโต้-ไบเออร์ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดพืชดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานไกลโฟเซตของโลก การแบนไกลโฟเซต จะปิดทางผลประโยชน์มหาศาลของพืชจีเอ็มในอนาคตของบริษัทดังกล่าว 

ข้อเรียกร้องหลักของสภาหอการค้าไทย (ลิงค์ https://bit.ly/334a1Ri) คือการขอให้รัฐบาลกำหนดค่าสารพิษตกค้างในกรณีที่ประเทศไทยนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศให้เท่ากับมาตรฐานการตกค้างที่กำหนดโดย CODEX เช่น ในกรณีถั่วเหลือง CODEX กำหนดระดับการตกค้างของไกลโฟเซตไว้ที่ระดับ 20 mg/kg (หรือ ppm) ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลกำหนดไว้ที่ระดับ 10 mg/kg เท่านั้น ส่วนสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 40 mg/kg 

ตามความเห็นของไบโอไทย รัฐบาลต้องกำหนดหลักการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน ดั้งนี้ 

1) ในกรณีที่ประเทศไทยมีสินค้าซึ่งเราผลิตได้เองอย่างเพียงพอ หรือสามารถหาแหล่งผลิตสินค้าที่ปลอดภัยตามมาตรฐานของประเทศไทย เราต้องคงระดับการตกค้างเอาไว้ตามมาตรฐานของเรา 

2) รัฐบาลไม่ควรผ่อนปรนโดยอนุญาตให้มีการตกค้างของสารอื่น เช่น พาราควอต หรือ คลอร์ไพริฟอส เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและปกป้องผลประโยชน์และความเป็นธรรมต่อเกษตรกรของเราเอง เมื่อการประกาศแบนมีผลตามกฎหมาย 

3) ข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมอาหารของไทยเองและรัฐบาลต่างชาติในกรณีการกำหนดค่าการตกค้างของไกลโฟเซตนั้น รัฐบาลต้องกำหนดให้การตกค้างให้มีระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพร้อมที่ยกเลิกค่าการตกค้างให้เป็นศูนย์ทันทีหากประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าดังกล่าวได้เองอย่างเพียงพอ หรือหากไม่เพียงพอแต่สามารถหาแหล่งนำเข้าที่ไม่มีการตกค้างได้

ที่มา: BIOTHAI Facebook