ภายใต้วิกฤติการณ์อาหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2550 จนถึงต้นปี 2551 และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ว่าราคาอาหารของโลกจะมีราคาสูงอย่างน้อยในระยะ 10 ปีข้างหน้านั้น ควรเป็นโอกาสของประเทศไทยในการปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตทางการเกษตรที่พึ่งพาน้ำมันและปัจจัยภายนอกมาเป็นการเกษตรกรรมอินทรีย์ ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ พันธุกรรมพื้นบ้าน และการจัดการโรคแมลงโดยอาศัยการจัดการระบบนิเวศอย่างเหมาะสม
การเมือง และนโยบายสาธารณะว่าด้วยสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา[1]
1. หลักคิด
1.1 อะไรคือนโยบายสาธารณะ
คนจำนวนมากรวมถึงนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่มักให้ความหมายของ “นโยบายสาธารณะ” ว่าเป็นนโยบายของ “รัฐบาล” ที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณะต่างๆเท่านั้น แต่ในความเห็นของผู้เขียน ความหมายที่ควรจะเป็นของนโยบายสาธารณะ คือนโยบายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการขับเคลื่อนของคนในสังคมทั้งหมดเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา/การทำงานของประเทศ/ท้องถิ่นในด้านต่างๆที่พวกเขาตระหนักร่วมกัน[2]
เมื่อกล่าวถึงนโยบายสาธารณะ สิ่งแรกสุดที่เราต้องตระหนักร่วมกันก็คือประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี่แหละที่จะต้องเป็นผู้สร้างนโบายสาธารณะให้เกิดขึ้น เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของคนทุกกลุ่ม นโยบายใดก็ตามที่ถูกผลักดันโดยผู้มีอำนาจ นโยบายนั้นก็เป็นนโยบายของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ/การเมือง แต่หาใช่เป็นนโยบายสาธารณะไม่
ภารกิจในการสร้างนโยบายสาธารณะจึงเป็นภารกิจของปัจเจกชน กลุ่มองค์กรต่างๆทางสังคม องค์กรท้องถิ่นต่างๆเพื่อสร้างนโยบายการพัฒนาที่เชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม มิใช่การปัดให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล
1.2 กระบวนทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา
กระบวนทัศน์ที่แยก “สิ่งแวดล้อม” ออกจาก “การพัฒนา” ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถผลักดันโครงการและกิจกรรมใดๆก็ได้ต่อไป โดยไม่ได้มองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิธีคิดที่แยกการพัฒนาเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของการบริโภค ไม่เกี่ยวข้องใดๆและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น
เมื่อเรื่องของการค้าและการพัฒนาถูกแยกออกไปจากเรื่องสิ่งแวดล้อม “การเยียวยาและชดเชยความเสียหาย” และ “การปรับตัว” กลายเป็นศัพท์บัญญัติที่คนในสังคมได้ยินได้ฟังบ่อยมากขึ้นๆเพื่อให้การพัฒนาประเทศเดินหน้าต่อไปตามวิถีเดิมๆ ดังเช่นที่ โรงงานถลุงเหล็กและโรงไฟฟ้าได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้แม้ตั้งอยู่ในเขตชายฝั่งที่มีระบบนิเวศที่ค้ำจุนสรรพชีวิต และเป็นฐานทรัพยากรที่จะรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของคนทั้งสังคมได้ในอนาคต
วิธีคิดเช่นเดียวกันนั้นเอง ที่ทำให้เรายอมให้รัฐบาลลงนามในความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่สร้างผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อการผลิตอาหารของเกษตรกรรายย่อย โดยใช้ข้ออ้างที่ว่าคนเหล่านั้นจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งๆที่ในประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมากกว่าเรา เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ปฏิเสธที่จะดำเนินการนโยบายที่สร้างผลกระทบต่อฐานทรัพยากรและความมั่งคงทางอาหารเช่นเดียวกับที่รัฐบาลของเราได้กระทำ
2. การเมือง และนโยบายสาธารณะกับการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อม
การเมืองซึ่งเป็นระบบการจัดการผลประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆในสังคมนั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง หรือนโยบายอื่นๆ เช่น นโยบายเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ การคลัง และอื่นๆ
คำถามสำคัญเกี่ยวกับประเด็นการเมืองกับสิ่งแวดล้อมก็คือ การเมืองแบบใดจึงจะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคตได้ ?
การเมืองแบบเก่าพิสูจน์แล้วว่าไม่อาจรับมือกับวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่คุกคามเราอยู่ในขณะนี้ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในระหว่างประเทศคือ ความล้มเหลวในการผลักดันให้เกิดมาตรการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุมระหว่างประเทศ เพราะรัฐบาลที่เรียกตนเองว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “สังคมนิยม” ทั้งในประเทศอุตสาหกรรม และกำลังพัฒนา ล้วนแล้วแต่มีนโยบายที่จะปกป้องอุตสาหกรรม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตนโดยมิได้นำพาอย่างจริงจังต่อวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่
การเมืองใหม่และการปฎิรูปการเมืองที่เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกถกเถียงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ความหวังว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆได้ หากจำกัดเฉพาะอยู่ที่การให้ความสำคัญเป็นด้านหลักเฉพาะอยู่ที่ระบบการเลือกตั้ง และการเข้าสู่อำนาจ ของบรรดานักการเมือง และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
การเมืองใหม่ที่ควรจะเป็น น่าจะมีหน้าตาอย่างไร
2.1 การเมืองใหม่ที่จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ คือการเมืองที่สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการฟื้นฟูฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นด้านหลักได้ มิใช่การพัฒนาที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นกระแสหลักดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้โดยพัฒนาระบบการเมืองที่เกษตรกรรายย่อย กลุ่มประชาชนในท้องถิ่น ประชาชนทั่วไป และประชาคมวิชาการ ที่มีความสามารถในการถ่วงดุลบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศได้
2.2 การเมืองใหม่ต้องนำไปสู่การกระจายการถือครอง และจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เช่น การปฎิรูปที่ดิน การจัดการป่าไม้และแหล่งน้ำโดยให้ชุมชนมีบทบาทหลัก รวมไปจนถึงการรับรองสิทธิของเกษตรกรและชุมชนเหนือทรัพยากรชีวภาพ การดำเนินการเช่นนี้นอกเหนือจากเป็นแนวทางในการเพิ่มพูนและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแล้ว ยังนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายสำคัญของระบบการเมืองที่ควรจะเป็น
2.3 การเมืองใหม่ต้องนำไปสู่การปฏิรูปการบริหารระดับท้องถิ่นโดยต้องสนับสนุนให้ชุมชน และองค์กรบริหารระดับท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากร การจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีกลไกในการตรวจสอบและคานอำนาจระหว่างองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นกับองค์กรชุมชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดิมๆกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในการเมืองระดับชาติ
2.4 ระบบการเมืองต้องเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ(ที่แท้จริง) โดยครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม กระบวนการนโยบายสาธารณะเหล่านี้เองคือดัชนีวัดความสำเร็จของระบบการเมืองที่เชื่อมโยงระหว่างระบบรัฐสภากับการเมืองภาคประชาชน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรตระหนักก็คือ การเมืองไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้สังคมสามารถแก้ไขวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรได้ แต่ปัจจัยอื่นๆ เช่น นวัตกรรม ความรู้ระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เป็นต้น ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
3. ข้อเสนอสำหรับนโยบายสาธารณะว่าด้วยการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม
ภายใต้บริบทของวิกฤติการณ์หลายด้านที่รุมเร้าสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางการเมือง วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤติการณ์ด้านอาหาร-พลังงาน และรวมทั้งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นั้น เครือข่ายขององค์กรภาคประชาชน ประชาคมวิชาการ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน ได้ผลักดันให้เกิดกระบวนการเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะในหลายเรื่อง โดยในบางเรื่องได้เริ่มดำเนินการและมีผลในทางปฏิบัติบ้างแล้ว และอีกหลายเรื่องยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งควรพิจารณาเพื่อผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ตัวอย่างข้อเสนอดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
3.1 การผลักดันกฎหมายและนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อรองรับผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กระแสโลกาภิวัตน์และการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศอย่างขนานใหญ่ โดยที่ข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงการค้าเสรีซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไปแล้ว และกำลังจะเจรจากับต่างประเทศนั้น มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิต การจัดการทรัพยากร และมีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศในหลากหลายสาขา รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
เป็นที่น่ากังวลว่า หลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 นั้น กำลังถูกตีความภายใต้บริบทของความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างฝ่ายบริหาร-ตุลาการ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธการแสวงหาการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเพื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของบางฝ่าย ทั้งๆที่เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวนั้น ได้ถูกตราขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ความตกลงระหว่างประเทศสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ความมั่นคงทางอาหาร การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชนส่วนใหญ่
การผลักดันให้เกิดมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้สร้างสมดุลแห่งอำนาจของการทำความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวให้กลับเข้ามาอยู่ภายใต้การตรวจสอบของรัฐสภา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน แทนที่จะอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่โปร่งใสและมีผลประโยชน์ทับซ้อน
ภาคประชาชนต้องผลักดันและขับเคลื่อนให้เจตนารมณ์ในการตรวจสอบ การสร้างความโปร่งใส และการกำกับโดยรัฐสภาให้ปรากฎขึ้นในทางปฏิบัติโดยการผลักดันให้กฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำความตกลงระหว่างประเทศให้เกิดขึ้น อีกทั้งขับเคลื่อนให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้รับการปฏิบัติ
3.2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ
การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพคือยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ด้านอาหารและพลังงาน การพึ่งพาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน
ยุทธศาสตร์การพัฒนานี้เป็นหนึ่งในห้ายุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 แต่โชคร้ายที่เราได้รัฐบาลที่อ่อนแอและขาดความมุ่งมั่นเพื่อผลักดันให้ยุทธศาสตร์นี้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
สังคมไทยและรัฐบาลไทยต้องตระหนักว่าห้วงเวลาของพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งยืนอยู่บนการพึ่งพาเชื้อเพลิงดึกดำบรรพ์นั้นกำลังนับถอยหลัง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมาสู่ฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศให้ได้ภายในไม่เกิน 3 ทศวรรษนี้
สิ่งที่ควรระวังไว้อย่างยิ่งก็คือ ภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นการแปรยุทธศาสตร์นี้ไปสู่ทางปฏิบัติอาจไปเอื้ออำนวยให้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตร เช่น ข้อเสนอให้มีการลดพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นพืชพลังงาน อาจนำไปสู่การทำลายเกษตรกรรายย่อย ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ มิหนำซ้ำกลับทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงดึกดำบรรพ์ในรูปแบบอื่นๆที่ไม่ใช่น้ำมันมากขึ้น
การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพนั้น เอื้ออำนวยให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์และต่อยอด โดยสามารถเกิดขึ้นและเติบโตขึ้นได้จากระดับชุมชนและท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ นี่เป็นการพัฒนาที่กลับข้างกับการพัฒนาอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยที่นำเทคโนโลยี วัตถุดิบ และอาจรวมทั้งการบริหารจากต่างประเทศ โดยผลประโยชน์สุทธิที่ตกอยู่กับคนในชาติเหลือเพียงน้อยนิด
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวสวนจำนวนหนึ่งตัดสวนมังคุดทิ้งเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกปาล์มน้ำมัน โดยพวกเราส่วนใหญ่หาทราบไม่ว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำมังคุด(ซึ่งเป็นของต่างชาติและนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทย) มีมูลค่าทางการตลาดต่อปีสูงกว่า 50,000 ล้านบาท
ประเทศไทยยังมีพันธุกรรมข้าว ไม้ผล ผักพื้นบ้านที่มีคุณค่ามหาศาล ทั้งนี้ไม่นับทรัพยากรจุลินทรีย์จากธรรมชาติที่มีศักยภาพอันประเมินค่ามิได้สำหรับรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาข้างต้น
3.3 การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน-เกษตรกรรมอินทรีย์สู้วิกฤติอาหาร-พลังงาน
ภายใต้วิกฤติการณ์อาหารที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2550 จนถึงต้นปี 2551 และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ว่าราคาอาหารของโลกจะมีราคาสูงอย่างน้อยในระยะ 10 ปีข้างหน้านั้น ควรเป็นโอกาสของประเทศไทยในการปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตทางการเกษตรที่พึ่งพาน้ำมันและปัจจัยภายนอกมาเป็นการเกษตรกรรมอินทรีย์ ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ พันธุกรรมพื้นบ้าน และการจัดการโรคแมลงโดยอาศัยการจัดการระบบนิเวศอย่างเหมาะสม
แนวทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนดังกล่าว ได้ถูกขับเคลื่อนโดยเครือข่ายภาคประชาชนมานานกว่า 2 ทศวรรษ จนแนวทางเกษตรกรรมเช่นนี้ได้ถูกวางรากฐานอย่างมั่นคงในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามสัดส่วนของเกษตรกรรมดังกล่าวยังมีสัดส่วนน้อยมากไม่เกิน 5 % ของเกษตรกรรมแบบเคมี ทั้งๆที่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเคยกำหนดเป้าหมายไว้สูงถึง 25% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดเมื่อสิ้นสุดปี 2544
เกษตรกรรมตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนนั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพสูงยิ่งกว่าเกษตรกรรมเคมีของบรรษัท เช่น การใช้พันธุ์ข้าวลูกผสม หรือการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น การปลูกข้าวแบบชีววิถีของมูลนิธิข้าวขวัญ ที่ จ.สุพรรณบุรี นั้นได้ผลผลิตข้าวสูงถึง 1,200-1,600 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าการปลูกข้าวลูกผสมของบริษัทซึ่งไดผลผลิตเฉลี่ยเพียง 956 กิโลกรัม/ไร่เท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการส่งเสริมการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งประสบการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าในช่วง 1 ทศวรรษของการเปลี่ยนแปลงประเทศมาสู่เกษตรกรรมแบบพันธุวิศวกรรมนั้นไม่ได้ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งนอกจากจะไม่ลดลงแล้วยังเพิ่มขึ้นอย่างมากหลายเท่าตัวด้วย
ข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อเสนอตัวอย่างของการขับเคลื่อนนโยบายสาธาณะที่เชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม เป็นข้อเสนอที่ต่อยอดกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งในหลายเรื่องได้มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ และประสบผลสำเร็จแล้วระดับหนึ่งในเบื้องต้น เช่น การก่อตั้งเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในการผลักดันนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2535 การผลักดันนโยบายและกฎหมายเพื่อคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อปี 2540 และการเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนในนามกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เพื่อคัดค้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2548 เป็นต้น
การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะดังกล่าวประสบผลสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง หากพวกเราตระหนักร่วมกันว่าภารกิจในการผลักดันนโยบายสาธารณะนั้นอยู่ที่พวกเราทุกคนนั่นเอง
————————————-
[1] บทความประกอบการอภิปรายวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 10 เรื่อง “การเมืองและวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อม” (Politics and Environmental Crisis) ระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤศจิกายน 2551 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
[2] ผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณะ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความชื่อ “การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะโดยภาคประชาสังคม” โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย