กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ราคาข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 และราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2551 ทำให้ปัจจุบันราคาข้าวในประเทศและราคาส่งออกข้าวอยู่ในเกณฑ์สูงเป็นประวัติการณ์ของการค้าข้าวไทย กล่าวคือ ราคาส่งออกข้าว(เอฟโอบี) ณ วันที่ 26 มี.ค.2551 สำหรับข้าวหอมมะลิเกรดเอ(ข้าวใหม่) พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 920 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากที่เคยอยู่ในระดับ 633.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในช่วงปลายปี 2550 นับว่าในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือนราคาข้าวหอมมะลิส่งออกเพิ่มขึ้นไปแล้ว 45.2% ส่วนข้าวขาว 100% เกรดบีอยู่ที่ 624 ดอลลาร์ฯต่อตัน จากที่เคยอยู่ในระดับ 336.17 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในช่วงปลายปี 2550 หรือในช่วงระยะ 3 เดือนราคาข้าวขาวส่งออกเพิ่มขึ้นไป 85.6%
ในด้านราคาข้าวในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับราคาส่งออกข้าว กล่าวคือ ข้าวหอมมะลิเกรดเอ (ข้าวใหม่) ณ วันที่ 26 มี.ค.2551 เท่ากับ 27,500 บาทต่อตัน จากที่เคยอยู่ในระดับเพียง 17,000 บาทต่อตันในช่วงปลายปี 2550 หรือเพิ่มขึ้นถึง 61.8% ส่วนข้าวขาว100% เกรดบีเพิ่มขึ้นเป็น 18,500 บาทต่อตันจากที่เคยอยู่ในระดับ 11,000 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 68.2%
ปัจจัยเอื้อในตลาดการค้าข้าวโลกที่ส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกและราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ ประเทศผู้ผลิตข้าวรายสำคัญโดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ทั้งสองประเทศจึงได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการปริมาณการส่งออกข้าวเพื่อให้มีปริมาณข้าวเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และผู้บริโภคในประเทศไม่ต้องรับภาระราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเท่ากับเป็นมาตรการควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศ เช่น การจำกัดการส่งออก โดยการกำหนดเพดานราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำ ระงับการรับคำสั่งซื้อข้าวของผู้ส่งออก ผู้ส่งออกจะส่งออกข้าวได้ต่อเมื่อมีปริมาณข้าวอยู่ในมือแล้วประมาณ 70% ของปริมาณข้าวในสัญญาสั่งซื้อ เป็นต้น ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2551 ความต้องการข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวยอมสู้ราคาที่สูงขึ้นและหันมานำเข้าข้าวจากไทย
ผลกระทบของราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีดังนี้
ชาวนาไทย ประเด็นที่น่าสนใจเมื่อราคาสูงขึ้นนับเป็นแรงจูงใจสำคัญให้ชาวนาขยายการผลิตข้าวโดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของการขยายการผลิตข้าวในปัจจุบัน คือ ข้อจำกัดด้านพื้นที่ปลูก เนื่องจากการแย่งพื้นที่ปลูกของพืชเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะพืชพลังงานทดแทน ดังนั้นการเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวจึงต้องอาศัยการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นหลัก ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งทางด้านพันธุ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ชาวนาไทยบางส่วนยังมีปัญหาในด้านเงินทุนในการปลูก เนื่องจากต้นทุนในด้านพันธุ์ข้าว และปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเผชิญความเสี่ยงในเรื่องปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู เนื่องจากการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้พักดินที่ปลูกข้าว
ดังนั้นจึงเกิดปัญหาการตกเขียว เนื่องจากชาวนาไม่มีเงินที่จะไปจ่ายกับร้านจำหน่ายพืชผล/อุปกรณ์การเกษตร ทำให้ชาวนาบางรายต้องไปตกลงกับนายทุนหรือร้านจำหน่ายพืชผล/อุปกรณ์ทางการเกษตรเพื่อเอาปัจจัยการผลิตมาก่อน และเมื่อขายข้าวได้แล้วจึงจะนำไปจ่าย หรือจ่ายเป็นข้าวแทน นอกจากนี้ บรรดาปัจจัยการผลิตมีการปรับราคาขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ชาวนาได้รับอานิสงส์จากการที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นไม่เต็มที่
โรงสีและผู้ค้าข้าว พ่อค้าคนกลาง โรงสี และนายทุนท้องถิ่นกว้านซื้อข้าวนาปรังที่จะออกมาในเดือนมีนาคม-มิถุนายน รวมทั้งบางรายมีการไปตกลงกับชาวนาในการรับซื้อผลผลิตล่วงหน้าแลกกับการให้เงินทุนเป็นค่าพันธุ์ข้าว และปัจจัยการผลิตสำคัญโดยเฉพาะปุ๋ยและยากำจัดแมลงและศัตรูพืช เนื่องจากคาดหมายว่าราคาข้าวจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และชาวนาบางรายไม่สามารถเก็บสต็อกข้าวได้จากปัญหาในเรื่องพื้นที่ตาก และข้อจำกัดของประสิทธิภาพของยุ้งฉางและไซโลที่จะเก็บรักษาข้าวให้คงคุณภาพเพื่อที่จะจำหน่ายได้ในราคาดี ในขณะที่บรรดาโรงสีและผู้ค้าข้าวมีความพร้อมมากกว่า
ผู้บริโภคข้าวในประเทศ ปัจจุบันผู้บริโภคข้าวในประเทศต้องซื้อข้าวสารในราคาที่สูงขึ้นมาก และมีกระแสวิตกว่าจะเกิดปัญหาข้าวขาดตลาด ขณะนี้ตามห้างค้าปลีกขนาดใหญ่พบว่าข้าวสารบรรจุถุงเริ่มขาดตลาดโดยเฉพาะข้าว 5% และข้าวหอมมะลิที่หลายยี่ห้อหมดสต็อกและไม่มีจำหน่ายเพิ่ม เพราะประชาชนซื้อในปริมาณมากกว่าปกติ ทำให้บางห้างจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการซื้อต่อครอบครัว เพื่อให้มีการกระจายข้าวไปถึงมือผู้บริโภคอย่างทั่วถึง กระแสความวิตกดังกล่าวทำให้เกิดการกักตุนข้าวสารในระดับครัวเรือน ซึ่งในเรื่องนี้ทางกรมการค้าภายในเร่งออกมาแก้ไขกระแสวิตกเพื่อไม่ให้เกิดการกักตุนข้าวในระดับครัวเรือน
เนื่องจากปริมาณข้าวทั่วประเทศที่มีขณะนี้มีปริมาณถึง 4.3 ล้านตัน แยกเป็นข้าวสต็อกรัฐ 2.1 ล้านตัน และสต็อกข้าวภาคเอกชน 2.2 ล้านตัน ในส่วนนี้เป็นของโรงสีทั่วประเทศ 1.3 ล้านตัน และอยู่ในมือผู้ส่งออกข้าว 900,000 ตัน ประกอบกับขณะนี้เป็นฤดูข้าวนาปรังรอบแรกที่จะออกผลผลิตออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ 6.5 ล้านตันข้าวเปลือกหรือคิดเป็น 4.29 ล้านตันข้าวสาร รวมทั้งคาดหมายว่าชาวนาจะมีการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง เนื่องจากราคาข้าวที่อยู่ในเกณฑ์สูง
นอกจากนี้ทางสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยยืนยันว่ากรณีที่ข้าวถุงในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ขาดตลาดไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต เพราะผู้ผลิตได้ผลิตและจัดส่งเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องตามราคาเดิม บางรายผลิตและส่งให้ห้างเพิ่มถึง 10-20% จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาการขาดตลาด และไม่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนกจนต้องรีบซื้อข้าวไปกักตุน
นอกจากนี้ทางกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายจะนำข้าวขาว 5% จำนวน 6.5 แสนตัน จากในสต็อกรัฐที่มีอยู่ 2.1 ล้านตัน มาผลิตเป็นข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศ ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคในประเทศจากปัญหาราคาข้าวแพง คาดว่าจะนำทยอยออกจำหน่ายได้เดือนละ 100,000 ตัน หรือ 20 ล้านถุงต่อเดือน โดยผ่านองค์การคลังสินค้า(อคส.) พาณิชย์จังหวัด และการค้าภายในจังหวัด สำหรับการเลือกนำข้าวขาวออกมาจำหน่าย เพราะสัดส่วนผู้บริโภคข้าวขาวมีสัดส่วนถึง 70% ของปริมาณข้าวในสต็อก ส่วนข้าวหอมมะลิยังมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยคาดว่าข้าวสารบรรจุถุงในเขตกรุงเทพฯ ข้าวสารขาว 5% บรรจุถุง 5 กิโลกรัม ราคา 76-88 บาท สูงขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ราคา 65-70 บาท
ผู้ส่งออกข้าว การที่ราคาข้าวในตลาดโลกยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรดาผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน และไม่กล้ารับคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพียง 2 สัปดาห์ ผู้ส่งออกบางรายยังขาดทุนประมาณ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน และการไม่รับคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ เนื่องจากเกรงว่าจะหาซื้อข้าวเพื่อส่งออกไม่ทันกำหนด หรือถ้าหาข้าวได้ก็จะต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกข้าวบางรายอาจต้องทิ้งสัญญาโดยยอมเสียค่าปรับ หรือต้องเจรจากับผู้รับซื้อปลายทางเพื่อปรับราคารับซื้อในสัญญาเพื่อที่จะต้องไม่ประสบกับภาวะขาดทุนมากนัก ดังนั้นคาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในช่วงไตรมาสสองมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียงประมาณ 500,000 ตัน/เดือน เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสแรกปริมาณการส่งออกข้าวเฉลี่ยสูงถึง 1 ล้านตัน/เดือน
ประเด็นที่น่าสนใจในขณะนี้คือ ราคาข้าวจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึงเมื่อใด ซึ่งทาง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด แยกวิเคราะห์ดังนี้
1.ในปี 2551 ช่วงไตรมาสสองและสามคาดว่าราคาข้าวหอมมะลิยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากข้าวหอมมะลิฤดูใหม่จะออกสู่ตลาดประมาณไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพราะการปลูกข้าวหอมมะลิทำได้เฉพาะในช่วงการปลูกข้าวนาปีเท่านั้น รวมทั้งความต้องการข้าวหอมมะลิทั้งจากผู้บริโภคในประเทศและประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนข้าวขาวนั้นคาดว่าราคาจะยังคงพุ่งสูงขึ้น แต่คงไม่แรงเท่ากับราคาข้าวหอมมะลิ เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลผลิตข้าวนาปรังเกือบทั้งหมดเป็นข้าวขาว รวมทั้งต้องรอดูปริมาณข้าวของเวียดนามที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน(เป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิของประเทศ)เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เวียดนามขยายระยะเวลาคำสั่งห้ามส่งออกข้าวจนถึงเดือนมิถุนายน 2551 ทั้งนี้เพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาอาหารภายในประเทศ และความพยายามในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เกิดความวิตกมากขึ้นสำหรับประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เนื่องจากอินเดียและกัมพูชาก็มีคำสั่งจำกัดการทำสัญญาส่งออกข้าวเช่นกัน ดังนั้นคำสั่งซื้อข้าวในช่วงไตรมาสสองและสามของปีนี้ยังคงมุ่งมาที่ไทย และน่าที่จะเป็นปัจจัยหนุนราคาให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว
ประเด็นที่ต้องจับตามองสำหรับราคาข้าวในปี 2551 คือ ในช่วงไตรมาสสี่ เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาข้าวอาจจะผันผวน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง คือ การที่ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้ชาวนาทั้งไทยและประเทศผู้ปลูกข้าวอื่นๆหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น และปริมาณข้าวจะออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสสี่ปีนี้ ในกรณีที่ความต้องการข้าวในตลาดโลกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อาจจะส่งผลทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง รวมทั้งผู้ส่งออกข้าวของไทยอาจจะต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงมากขึ้นในตลาดโลก ซึ่งต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกของเวียดนามและอินเดียอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งการกลับเข้ามาส่งออกข้าวของทั้งสองประเทศนี้ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลก
2. ระยะ 2-3 ปีข้างหน้า วงการค้าข้าวคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะยังอยู่ในเกณฑ์สูงไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการแย่งเนื้อที่ปลูกระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน แต่ประเด็นที่ต้องระวังคือ ราคาข้าวอาจจะผันผวนไปตามปัจจัยเสี่ยงทั้งในด้านการผลิตและการค้าต่างๆ ไม่ว่าสภาพอากาศที่แปรปรวน และการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน รวมไปถึงปริมาณการผลิตและความต้องการข้าวของตลาดโลก
การเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือและปัญหาการขาดแคลนเรือไปยังตลาดแถบภูมิภาคแอฟริกา อาจทำให้การส่งออกข้าวของไทยพลิกผันได้ ส่วนปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งภาครัฐต้องช่วยประคับประคองให้เงินบาทมีเสถียรภาพ เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถปรับตัวได้ทัน
ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตาม จากต้นทุนการขนส่งของไทยที่สูงอยู่แล้วถึงร้อยละ 19 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งหาวิธีการขนส่งในลักษณะอื่น เช่น การขนส่งทางเรือให้มากขึ้นเหมือนเวียดนาม ซึ่งมีต้นทุนการขนส่งข้าวของเวียดนามอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 11 เท่านั้น นอกจากนี้การช่วยหาทางลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยเฉพาะต้นทุนในด้านปัจจัยการผลิตที่สำคัญทั้งปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช นับว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกข้าวของไทย
ทางออกที่ดีที่สุดของไทยคือ การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ นอกจากนี้ สถานการณ์ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตผ่านทางความแปรปรวนของสภาพอากาศ และเพิ่มโอกาสในการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู ซึ่งสร้างความเสียหายต่อปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร
ส่วนประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณา คือ การกำหนดแนวนโยบายข้าวในระยะยาว
เนื่องจากสถานการณ์ข้าวเปลี่ยนแปลงไปจากทั้งปัญหาการแย่งพื้นที่ปลูก และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดการแย่งข้าวกันในปีที่ผลผลิตข้าวน้อย และมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับกรณีที่ปริมาณข้าวจะมากกว่าความต้องการของตลาด โดยรัฐบาลต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนของราคาข้าวทั้งในช่วงราคาข้าวเพิ่มขึ้นและลดลง เนื่องจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูก โรงสีและผู้ค้าข้าว ผู้บริโภคในประเทศ และผู้ส่งออก ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน คือ การวางแนวนโยบายในการแทรกแซงตลาดอย่างเหมาะสม โดยการเกลี่ยผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ กล่าวคือ
เกษตรกรผู้ปลูก การวางแนวนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกที่จะได้รับอานิสงส์จากการที่ราคาสูงขึ้น และช่วยเหลือให้ประคองตัวอยู่ได้เมื่อราคาสินค้าตกต่ำ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่ามาตรการรับจำนำข้าวนั้นยังเป็นการแทรกแซงตลาดที่จำเป็นในช่วงที่ราคาสินค้าตกต่ำ เนื่องจากถือว่าเกษตรกรยังมีหลักประกันในด้านราคา รวมทั้งยังเป็นการสต็อกข้าวหรือดึงข้าวออกจากตลาดบางส่วน ซึ่งการบริหารจัดการสต็อกอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการควบคุมอย่างเข้มงวด นับเป็นกลไกที่จะช่วยให้ราคาข้าวทั้งในประเทศและราคาส่งออกมีเสถียรภาพมากขึ้น
ผู้บริโภคในประเทศ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าวของคนไทย ทั้งปริมาณการบริโภคเฉลี่ยต่อคน และประเภทของข้าวที่บริโภค รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคข้าวเมื่อราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์สูง โดยต้องแยกตามระดับรายได้ด้วย เนื่องจากกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงนั้นจะได้รับผลกระทบไม่มากเท่ากับผู้ที่มีรายได้ปานกลางลงไป เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย ดังนั้นการที่ราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอัตราเงินเฟ้อ หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค คือ การที่รัฐบาลต้องดูแลให้ปริมาณข้าวมีเพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศในราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้
ผู้ส่งออก แนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาข้าวเพื่อการส่งออกคือ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ข้าว ประเด็นสำคัญในการพัฒนาตลาดข้าวของไทยคือ การลดต้นทุนโลจิสติกส์ข้าวของไทยที่มีสัดส่วนร้อยละ 19 ของต้นทุนทั้งหมด รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพของไซโลให้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลทำให้สถานะการแข่งขันในการส่งออกข้าวของไทยในตลาดโลกดีขึ้น เนื่องจากคาดการณ์ว่าเมื่อเวียดนามและอินเดียกลับเข้ามาเป็นคู่แข่งขันในการส่งออกข้าวของไทยเช่นเดิม คาดว่าผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง
นอกจากนี้ การส่งเสริมการส่งออกข้าว รัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวต้องเร่งดำเนินการส่งเสริมการส่งออกข้าวเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้จุดแข็งที่เป็นโอกาสในการพัฒนาการส่งออกข้าวของไทย คือ การส่งเสริมการส่งออกข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์จากข้าว ข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ ข้าวนึ่งคุณภาพดีที่เจาะตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการส่งออก และการสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออก เช่น การพัฒนาการส่งออกข้าวพันธุ์พื้นเมือง ข้าวอินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้งการเจาะขยายตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวผสมธัญพืชอื่นๆ ข้าวกล้อง ข้าวกล้องงอก(เมล็ดข้าวที่มียอดอ่อนที่จมูกข้าว) เป็นต้น
อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญคือ การวางนโยบายที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันกับสถานการณ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนไปทั้งในช่วงเวลาที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นและราคาตกต่ำ เนื่องจากโดยธรรมชาติของสินค้าเกษตรนั้นการคาดเดาปริมาณการผลิตนั้นเป็นไปได้ยาก จากปัจจัยความเสี่ยงทั้งในการตัดสินใจปลูกของเกษตรกร ความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ รวมทั้งปริมาณการผลิตและส่งออกของประเทศคู่แข่ง ตลอดจนความต้องการของประเทศคู่ค้า โดยหลักการแล้วนโยบายต้องตั้งอยู่ที่ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และระวังไม่ให้เกิดภาวะการขาดแคลนข้าวในประเทศ รวมทั้งควรให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่โดยปกติมีอำนาจการต่อรองด้านราคาที่ต่ำ ทำให้ในยามที่ราคาปรับขึ้น เกษตรกรได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่เมื่อราคาตกเกษตรกรก็มักจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนผู้บริโภคในประเทศก็ต้องได้รับการดูแลไม่ให้ประสบกับภาวะขาดแคลนสินค้า และต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เป็นต้น ในขณะที่การวางนโยบายที่สามารถรองรับกับภาวะความผันผวนดังกล่าวได้นั้นคงต้องอาศัยการระดมความคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน