รายงานข่าวการลักขโมยพันธุ์ข้าวของชาวนาเริ่มมีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กระจายไปทั่วทั้งในภาคกลางซึ่งเป็นเขตพื้นที่ชลประทาน และในภาคอีสาน ขณะที่ชาวนาในเขตพื้นที่ทำนาอย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ถูกกระหน่ำซ้ำเติมทั้งเพลี้ยระบาดที่อำเภอเสนา (ซึ่งก่อนหน้านี้ ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนอยู่ทุกๆ ปี) และพายุลูกเห็บถล่มไปกว่า 2,000 ไร่ ที่อำเภอบางปะอิน ในอีกด้านเราจะพบว่าราคาปุ๋ยเคมีตอนนี้พุ่งขึ้นไป 100 – 200 % และไม่มีแนวโน้มจะลดลง รวมไปถึงความตื่นตัวของเจ้าของที่ดินที่เริ่มเล็งผลกำไรจากนาที่เคยให้ชาวนาไร้ที่ดินทำกินเช่า ซึ่งขณะนี้เพิ่มค่าเช่าจากเดิม 300 – 600 บาท/ไร่/ฤดู ไปอยู่ที่ 1,000 บาท/ไร่/ฤดู ซึ่งหากดึงกลับมาทำนาเอง แม้จะต้องจ้าง แต่เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายแล้วก็ยังได้มากว่าให้คนอื่นเช่าถึง 5 – 6 เท่า

เมื่อข้าวเริ่มมีค่าราวทองคำ ชาวนาก็เริ่มทุกข์ตั้งแต่ต้องเฝ้าข้าวในนาที่รอเกี่ยว และข้าวพันธุ์ที่รอปลูก โดยที่ไม่รู้ว่าราคาข้าวจะสูงไปอีกนานแค่ไหน พอๆ กับที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าเพื่อนชาวนาคนยากด้วยกันหรือใคร มาขโมยข้าวของเขาไป? ขณะที่พวกเขามูลค่าข้าวก็ไม่รู้ว่าจะเพิ่มไปถึงเมื่อไหร่? ความเครียดจากราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นได้เข้าเกาะกุม และสร้างความหวาดหวั่น ให้กับพวกเขาเทาๆ กับความหวังที่ดูเหมือนจะยังเลือนรางอยู่ท่ามกลางราคาผลผลิตที่ผันผวนโดยน้ำมือและกลไกตลาดเสรี ที่เปิดโอกาสให้กับคนที่มีทุนสายผ่านยาวเข้าแข่งขันและมีโอกาส ”ชนะ” ได้มากกว่าคนทุนต่ำ

แต่ที่พวกเขารู้แน่ๆ ก็คือ ราคาปุ๋ย-ยา นั้น ขึ้นแล้วไม่เคยลดลง และยิ่งราคาข้าวเป็นตัวล่อใจยิ่งใช้ปุ๋ย-ใช้ยาเพิ่มมากยิ่งๆ ขึ้น เพราะหวังว่าจะได้ผลผลิตมาก และหากตอนนี้มีใครสักคน “โฆษณา” ว่ามีพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง แม้ราคาแพงหน่อย พวกเขาก็จะยอมทุ่มทุน ทั้งๆ ที่รู้อีกว่าพันธุ์ข้าวที่ว่านั้นจะต้องซื้อเขาในทุกๆ รอบการผลิตก็ตาม ในขณะที่ที่สิ่งที่เขาไม่รู้ ได้แอบซ่อนอยู่ข้างหลังการโฆษณา ไม่ว่าปัญหาพันธุ์ข้าวที่ต้องใช้น้ำมากยิ่งขึ้นซึ่งหมายถึงความขัดแย้งแย่งชิงระหว่างชาวนาด้วยกันเอง รวมไปถึงเพื่อเกษตรกรที่ผลิตพืชอื่นๆ หรือแม้กระทั่งกลไกการผูกขาดในเงื่อนไขของ Contract farming ที่ดูเหมือนจะมีเป้าหมายอยู่ในพื้นที่นาเขตชลประทานในภาคกลาง

จากการสำรวจของมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำนาให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ในจังหวัดสุพรรณบุรี พบว่าในพื้นที่อำเภออู่ทองเริ่มประสบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแม้การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชดังกล่าวจะยังไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่ก็ประเมินสถานการณ์ได้ไม่ยากจากประสบการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 3 ครั้งในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา (ปี 2523, 2535 และ 2541) ว่า การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในเขตนี้จะพัฒนาไปสู่ระดับความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น จากการดื้อยาที่ชาวนาใช้ฉีดพ่นอย่างเข้มข้น

ผลงานของกระทรวงเกษตรฯ ในการพัฒนาระบบเกษตรกรรมไทยกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วจากตัวเลขการสำรวจของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ที่พบว่า อายุเฉลี่ยของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ 1,714,498 ราย พบว่า มีผู้ถือครองที่ดินอายุมากกว่า 65 ปี จำนวน 250,000 ราย ขณะที่เกษตรกรที่มีอายุระหว่าง 55-65 ปี มีจำนวน 280,000 ราย ส่วนที่เหลือมีอายุต่ำกว่า 55 ปี ขณะที่บุตรหลานของเกษตรกรส่วนใหญ่สนใจที่จะประกอบอาชีพการเกษตรน้อยลง

กระทรวงเกษตรฯ ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่านโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจแบบเลื่อนลอย ที่ลอยปลิวไปตามทิศทางความต้องการของตลาด โดยที่เกษตรกรเองต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตที่สร้างผลกระทบต่อระบบการผลิตทั้งต่อสภาพนิเวศน์ ตัวผลผลิตที่มีผลต่อเนื่องไปยังผู้บริโภค หรือแม้แต่เกษตรกร ที่รัฐไม่อาจควบคุมกลไกราคาการซื้อขายผลผลิต-ปัจจัยการผลิตที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร ได้สร้างหนี้สะสมให้กับเกษตรกรต่อเนื่อง
นโยบายพัฒนาการเกษตรที่เกษตรกรต้องอิงอาศัยเทคโนโลยีนำเข้าจากข้างนอกนั้นได้ทำให้จำนวนเกษตรกรลดลงจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ที่มีอยู่ 75 % ของประชากรไทย เหลือเพียง 33 % ในปัจจุบัน ขณะที่ความสามารถของชาวนาและคนในชนบทที่เคยพึ่งพิงแหล่งอาหารจากในนาและแหล่งธรรมชาติได้กลับลดลง ชาวนาที่เคยทำนาปลูกข้าวกินเองและเหลือขายได้เปลี่ยนวิถีไปสู่การผลิตเพื่อขายข้าวเปลือกราคาถูก และซื้อข้าวสารราคาแพงมากิน

ปู ปลา พืชผักในไร่นาก็มาสามารถเก็บหากินได้ เพราะหวั่นเกรงพิษภัยของสารเคมี และไม่มีเวลาที่จะมาเก็บหาอาหารกิน เพราะต้องเร่ง และรีบ เพื่อให้ทันรอบค่าใช้จ่ายที่รออยู่ทั้งหนี้สินที่กู้มาจากการเบิกซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง การกินอยู่ หรือแม้กระทั่งค่าเล่าเรียนลูกหลาน

ชาวนาและคนในชนบทต้องจ่ายเงินซื้อในมีราคาที่แพงกว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานว่า ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นกระทบผู้มีรายได้น้อยและคนในชนบทมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการบริโภคอาหารต่อการบริโภครวมสูงกว่า และคนในชนบทมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งจำหน่ายสินค้าราคาถูกน้อยกว่าคนในเมือง

นโยบายรัฐในการแก้ปัญหาชาวนาโดยการแจกจ่ายสารเคมีเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดแมลง และการเจรจาต่อลองเพื่อขอลดราคาปุ๋ยเคมี หรือแม้กระทั่งการเสนอบทบาทใหม่ที่จะเป็นผู้ค้าปุ๋ยเคมีให้เกษตรกรเสียเอง จะยิ่งกลายเป็นการ ยิ่งเป็นการสร้างปัญหาให้กับชาวนาเพิ่มยิ่งขึ้น ปุ๋ยเคมีที่ใส่ลงไปในดินจะยิ่งทำให้ต้นข้าวเติบโตเร็วแต่ไม่แข็งแรง ง่ายต่อการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช ขณะเดียวกันก็เร่งให้พืชดูดใช้อินทรียวัตถุในดินมากยิ่งขึ้น
การเร่งรอบการผลิตโดยการเผาทำลายตอซังเพื่อความสะดวกรวดเร็ว นั้น กับเป็นการทำลายอินทรียวัตถุที่ดินจะได้รับจากฟางข้าวราว 800 กิโลกรัมต่อไร่ลงไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งฟางเหล่านี้หากรู้จักนำจุลินทรีย์ที่ชาวนาสามารถผลิตขึ้นใช้ได้เองโดยง่ายและมีต้นทุนเพียงลิตรละ 50 สตางค์ โดยยืดระยะเวลาการหว่านไถเพื่อใช้หมักฟางข้าวเพิ่มขึ้น 10 วัน ก็สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ดังกรณีของสมพร โพธิ์แก้ว ชาวนาโรงเรียนชาวนา บ้านลุ่มบัว ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งหันมาทำนาอินทรีย์ โดยอาศัยเทคนิคการไถกลบและหมักฟางโดยจุลินทรีย์หมักเองราคาต่ำ
“หลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว ก็จะหมักฟางเอาไว้ โดยใช้น้ำจุลินทรีย์หมักหยอดตอนย่ำเทือก ซึ่งจะใช้เวลาหมักนานหน่อย คนที่เขาไม่ทำเพราะว่าเขาต้องรีบไถ รีบหว่าน ก็ใช้วิธีเผา มันเร็ว แต่ของเราต้องหมักดินให้ดีแล้วจึงค่อยหว่าน ก็ได้ผลดี โดยไม่ต้องใช้สรเคมีเลย ผมเริ่มทำตั้งแต่ปี 2543/44 ปัจจุบันนี้ไม่ต้องใช้สารเคมีเลยทั้งๆที่เมื่อก่อนก็ใช้สารเคมีมาก ตอนนี้ได้ผลผลิตไร่ละ 1 ตัน ทำแบบนี้ต้นทุนใช้พันกว่าบาทต่อไร่”
ด้วยระบบการผลิตที่ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการมุ่งสร้างปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน และการเพิ่มอินทรียวัตถุนี้ ทำให้ต้นข้าวมีความแข็งแรง ขณะเดียวกันได้รักษาชีวิตของเหล่าแมลงที่ทำหน้าที่เป็นตัวห้ำ ตัวเบียนที่คอยกำจัดแมลงศัตรูพืช ฟื้นความสมดุลของระบบนิเวศในการควบคุมแมลงไปพร้อมๆ กับการเปิดโอกาสให้ กุ้ง หอย ปู ปลา พืชน้ำ ฯลฯ กลับคืนและมีชีวิตอยู่รอดได้ในระบบนาอินทรีย์ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเคยเป็นแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ของชาวนาในยุคที่นายังปลอดจากสารพิษทางการเกษตร

เทคโนโลยีที่ชาวนาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ทำเงินหลุดหายไปเข้ากระเป๋าบรรษัทเคมีการเกษตรนั้นชาวนาสามารถเรียนรู้และทดลองทำเองได้ง่ายๆ แต่ยังติดขัดตรงนี้ เทคนิคเหล่านี้แม้จะเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่ขัดต่อผลประโยชน์ที่เหล่าพ่อค้านายทุนที่ใกล้ชิดและเป็นคนปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้ชาวนาเอาไปผลิตก่อนและจ่ายให้หลังเก็บเกี่ยว ซึ่งท้าทายว่ารัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเลือกให้ได้ภายใต้วิกฤติข้าวแพงนี้ว่า … จะเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหารากเหง้าชาวนาที่นับวันรอว่าปัญหาจะคลี่คลาย หรือกลายเป็นปัญหาซ้ำเติม ซ้ำซาก วนเวียน ในวังวนแห่งผลประโยชน์ของใคร?