สถานะของปัญหา

  1. กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเกิดขึ้นโดยทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในเขตร้อน มีความหลากหลายของระบบนิเวศ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองของประชาชนในอาเซียนซึ่งได้อาศัยพึ่งพิงและมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่าและทรัพยากรชีวภาพอย่างใกล้ชิด
  2. ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐานของความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ อันเป็นที่มาของความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ ยังเป็นที่มาของภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคและการผลิตยา
  3. ที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของอาเซียนถูกกล่าวถึงและขับเคลื่อนโดยให้ความสำคัญกับมิติในทางการค้า เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และการเจรจาการค้าระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่น เช่น อาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น
  4. ในความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับประเทศอุตสาหกรรมนั้น มีความพยายามในการผลักดันระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของประอุตสาหกรรม เช่น การจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะโดยกฎหมายสิทธิบัตร (patent) และกฎหมายคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ (Plant Variety Protection Act) หรือการผลักดันให้อาเซียนเข้าไปเป็นภาคีของสนธิสัญญาที่เอื้อต่อกระบวนจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เช่น สนธิสัญญาบูดาเปสต์(Budapest Treaty) เป็นต้น ซึ่งในที่สุดแล้วจะเป็นการเปิดทางให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพ พันธุ์พืช และภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นในอาเซียน
  5. นอกเหนือจากนี้ยังมีการผลักดันให้มีการเปิดเสรีในด้านการค้าและการลงทุนโดยบรรษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีฐานที่ตั้งในอาเซียนเอง บรรษัทข้ามชาติระดับโลก หรือความร่วมมือกันระหว่างบรรษัทต่างๆดังกล่าว ในการเข้ามาลงทุนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ/ทรัพยากรชีวภาพ การเปิดเสรีในการลงทุนและการค้าสินค้าการเกษตรโดยปราศจากพรมแดน การวิจัยและเปิดเสรีในเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) เป็นต้น
  6. เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นในอาเซียนกำลังเผชิญหน้ากับการที่บรรษัทขนาดใหญ่ได้เข้ามาครอบครองผูกขาดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ผัก ข้าวโพด ข้าว ตลอดจนถึงพันธุ์สัตว์ต่างๆ พันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์ และการวิจัยและพัฒนาซึ่งอยู่ในมือของเกษตรกรและสถาบันวิจัยสาธารณะ(public research institute) กำลังถูกดึงให้เข้าไปอยู่ในมือของบรรษัทขนาดใหญ่ในภูมิภาคและบรรษัทข้ามชาติระดับโลก เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นกำลังถูกผลักไสให้กลายเป็นแรงงานรับจ้างในแผ่นดินของตนเอง และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกำลังเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นๆเป็นลำดับ

ข้อเสนอ

  1. ประชาชนในอาเซียนและรัฐบาลอาเซียนต้องร่วมกันคัดค้านระบบกฎหมายสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ คัดค้านการนำพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือการส่งเสริมพันธุ์พืชลูกผสม (hybrid seed) เข้ามาในภูมิภาค
  2. ประชาชนในภูมิภาคต้องร่วมมือกันแลกเปลี่ยนทรัพยากรพันธุกรรม องค์ความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ การใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและยา บนพื้นฐานของความเท่าเทียม การแบ่งปัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งป้องกันมิให้บรรษัทขนาดใหญ่ทุกระดับเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างไม่เป็นธรรม หรือเข้ามาผูกขาดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ
  3. ประชาชนในอาเซียนและรัฐบาลของทุกประเทศต้องผลักดันให้เกิดกรอบความร่วมมือและความตกลงในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ภายใต้พื้นฐานของการเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่น/กลุ่มชาติพันธุ์ ความเสมอภาค/เท่าเทียม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อถ่วงดุลกับความตกลงที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนซึ่งมุ่งความสำคัญกับผลกำไรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุน เป็นสำคัญ
  4. ประชาชนและรัฐบาลอาเซียนต้องส่งเสริมสนับสนุนความหลากหลายในระบบเกษตรซึ่งเป็นทั้งฐานการผลิตที่สำคัญและเบาะอิงหลังของประเทศจำนวนมากในอาเซียน โดยการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวสู่เกษตรกรรมยั่งยืน
  5. ร่วมกันประเมินผลและทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน และความตกลงด้านการค้าและการลงทุนที่ประเทศ และความตกลงพหุภาคีอื่น ซึ่งประเทศในอาเซียนได้ลงนามไปแล้วว่า ได้ทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อทรัพยากรชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารต่อเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนส่วนใหญ่อย่างไรหรือไม่ ตลอดจนร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้มีการทบทวนความตกลงดังกล่าวโดยเร็ว