องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO เผยแพร่รายงานดัชนีอาหารฉบับล่าสุดประจำเดือนเมษายน 2565 พบว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มบันทึกมาตั้งแต่ปี 2533 โดยราคาของน้ำมันพืช ธัญพืช เพิ่มขึ้นสูงสุด ขณะที่ราคาของน้ำตาลและผลิตภัณฑ์นมก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน
ดัชนีราคาธัญพืช FAOเฉลี่ย 170.1 จุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา(มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้น 24.9 จุด (17.1 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1990 ทั้งนี้เกิดขึ้นจากสถานการณ์สงครามในยูเครน และการคาดการณ์ปัญหาความแห้งแล้งในสหรัฐอเมริกา
ราคาข้าวสาลีโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในเดือนมีนาคม โดยพุ่งขึ้น 19.7% หลังการไต่ระดับขึ้นไปถึง 20.4% ในเดือนมีนาคม ราคาธัญพืชทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ โดยราคาข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวฟ่างทั้งหมดแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการส่งออกของยูเครน การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น โดยราคาข้าวฟ่างเพิ่มขึ้น 17.3% ราคาข้าวบาร์เลย์เพิ่มขึ้น 27.1%
ยกเว้นเฉพาะราคาข้าวเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากระดับเดือนกุมภาพันธ์ อีกทั้งมีราคาต่ำกว่าเมื่อปี 2564 ถึง 10%
ดัชนีราคาน้ำมันพืช FAO เฉลี่ย 248.6 จุดในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 46.9 จุด (23.2 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนกุมภาพันธ์ และทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของดัชนีได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดอกทานตะวัน ปาล์ม ถั่วเหลืองและเรพซีดที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันเมล็ดทานตะวันระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนมีนาคม จากปัญหาการส่งออกจากสงครามในภูมิภาคทะเลดำ ในระหว่างนี้ ราคาน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และเรพซีดก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยได้แรงหนุนจากความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกอันเนื่องมาจากการหยุดชะงักของอุปทานน้ำมันดอกทานตะวัน นอกจากนี้ ในขณะที่มูลค่าน้ำมันปาล์มโลกได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากอุปทานที่ยังตึงตัวในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ราคาน้ำมันถั่วเหลืองสูงขึ้นเพราะความกังวลเกี่ยวกับการส่งออกที่ลดลงในอเมริกาใต้ มูลค่าน้ำมันดิบที่ผันผวนและสูงขึ้นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันพืชสูงตามขึ้นไปด้วย
ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์นม FAO เฉลี่ย 145.2 จุดในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 3.7 จุด (2.6 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่เจ็ดและสูงกว่าราคานมเมื่อปี 2564 ถึง 23.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตน้ำนมที่ไม่เพียงพอในยุโรปตะวันตกและโอเชียเนียเพื่อตอบสนองความต้องการทั่วโลก
ดัชนีราคาเนื้อสัตว์ของ FAO เฉลี่ย 120.0 จุดในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 5.5 จุด (4.8 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนกุมภาพันธ์ และแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ในเดือนมีนาคม เป็นผลเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลของยุโรป ปัญหาไข้หวัดนกในสหรัฐ ปัญหาการที่ยูเครนไม่สามารถส่งออกสัตว์ปีกได้ เป็นต้น
ดัชนีราคาน้ำตาล FAOเฉลี่ย 117.9 จุดในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 7.4 จุด (6.7 เปอร์เซ็นต์) จากเดือนกุมภาพันธ์ และสูงขึ้นมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 โดยการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันดิบระหว่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการใช้อ้อยมากขึ้นสำหรับการผลิตเอทานอลในบราซิลในฤดูกาลที่จะถึงนี้ แต่ก็ไม่พุ่งสูงขึ้นมากนักเนื่องจากการคาดการณ์ผลผลิตที่ดีในอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่
โดยสรุป ราคาดัชนีอาหารโลกเพิ่มขึ้นทุกตัว ยกเว้นราคาข้าวที่มีราคาต่ำกว่าปีก่อน 10% ซึ่งแตกต่างกับสถานการณ์วิกฤตอาหารเมื่อปี 2551 ที่ราคาข้าวมีราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อ่านรายงาน FAO ฉบับนี้ได้ที่
https://www.fao.org/worldfoodsituation/foodpricesindex/en/