ภัยน้ำท่วมครั้งนี้ได้ซ้ำเติมปัญหาของเกษตรกร ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมาได้เผชิญกับภัยพิบัติอันเกิดจากการระบาดของศัตรูพืช และภัยแล้ง ให้ทุกข์ร้อนมากขึ้นเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะการสูญเสียที่ดิน และการพอกพูนของปัญหาหนี้สิน และยากที่จะฟื้นฟูชีวิตของตนให้ให้กลับไปอยู่ในสภาพเดิมได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปี

            สำนักงานปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ภายใต้คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับ ประธานกลุ่มเกษตรกร จ.อยุธยา มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) ธรรมเกษตร และมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ได้จัดประชุมเพื่อเสนอแนะทางออกในการแก้และเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

  • ควรทบทวนเพื่อสร้างความเป็นธรรม ความโปร่งใส และความครอบคลุมในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร การชดเชยความความเสียหายซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรียังไม่เพียงพอกับการเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งนี้แม้ว่ารัฐบาลจะได้ชดเชยความเสียหายแก่เกษตรกรในกรณีนาข้าวเพิ่มขึ้นจาก 606 บาทเป็น 2,098 ซึ่งคิดเป็น 55% ของต้นทุนเฉลี่ยการผลิตข้าวแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาได้ นอกจากนี้กรณีความเสียหายอื่นๆ เช่น ปศุสัตว์ ประมงการคิดแนวทางช่วยเหลือยังไม่ครอบคลุมต้นทุนความเสียหาย เช่น เล้าไก่ โรงเรือน และประเมินปริมาณตัวเลขความเสียหายที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าชดเชยความเสียหายโดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมกำหนดอย่างแท้จริง การเยียวยากับแนวคิดในการแก้ปัญหาของรัฐบาล
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับปรุงมาตรการในการรับมือภัยน้ำท่วม การเฝ้าระวังและเตือนภัย การแก้ปัญหาวิกฤติเฉพาะหน้า และแนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลดอย่างเป็นระบบ โดยใช้บทเรียนจากปัญหาการจัดการน้ำท่วมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น
  • ต้องปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเป็นที่น่าสังเกตว่า ภัยน้ำท่วมในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและกินบริเวณกว้างทั้งที่ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่าไม่ได้มากกว่าปีที่มีน้ำมากมากนัก สะท้อนปัญหาความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจน ต้องมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการอย่างเป็นจริง
  • ควรทบทวนข้อเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเพิ่มเติมของกรมชลประทาน เนื่องจากมีปัญหาในการจัดการน้ำ ดังที่เห็นได้จากก่อนน้ำท่วมนั้น เขื่อนหลายเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ถึง  90% จนต้องปล่อยน้ำลงมาท่วมพื้นที่ใต้เขื่อน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอาจทำได้โดยการรื้อและปรับปรุงสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ รวมทั้งการขุดคลองผันน้ำ แต่ต้องทำภายหลังจากมีการศึกษาอย่างเพียงพอและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำด้วย
  • การป้องกันภัยระยะยาวควรดำเนินการอย่างเป็นระบบ เช่น การเลือกพันธุ์พืชและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมที่เหมาะสม การประกันภัยพืชผล การส่งเสริมการจัดปรับสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยนโยบายหรือมาตรการการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร หรือการจัดการความเสี่ยงใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ควรพิจารณาโดยให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร เนื่องจากในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรนั้น ประกอบไปด้วย เกษตรกรผู้ผลิต ธุรกิจที่ผลิตเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์สัตว์ ธุรกิจปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจแปรรูป และผู้ส่งออก เป็นต้น แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น โรคระบาด น้ำท่วม ฝนแล้ง กลับมีแต่เกษตรกรที่ต้องรับภาระแต่เพียงผู้เดียว ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรและอาหาร ควรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าประกันภัยพืชผลอย่างเท่าเทียมกัน
  • รัฐควรสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำโดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่กรมการข้าว เครือข่ายเกษตรกรและชุมชนที่ได้ริเริ่มการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกหลายพันคน พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำถูกละเลยมานาน สายพันธุ์ส่วนใหญ่ เช่น ปิ่นแก้ว เล็บมือนาง นางฉลอง และตะเภาแก้ว  นั้นได้รับการคัดเลือกและรับรองพันธุ์เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว ยกเว้นสายพันธุ์พลายงามปราจีนบุรี เท่านั้นที่ได้รับการรับรองพันธุ์เมื่อปี 2537 การสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ควรทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวชุมชน หรือวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น และธนาคารพันธุ์พืชระดับครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัท อีกทั้ง    การพัฒนาข้าวทนน้ำลึกโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ควรได้รับการสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป แต่ต้องไม่นำไปสู่การโอนสิทธิในการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวแก่ธุรกิจบางรายเท่านั้น
  • ภาครัฐควรส่งเสริมบทบาทของชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการจัดการบริหารน้ำ ส่งเสริมบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติระดับพื้นที่ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม โดยควรให้ผู้นำของชุมชนมีส่วนร่วมพิจารณาการจัดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนต่างๆ
  • ควรส่งเสริมบทบาทของคนในสังคมและสื่อมวลชนในการตรวจสอบและติดตามปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างพลังทางสังคมในการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการ และกลไกต่างๆที่สามารถเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • สังคมไทยควรตรวจสอบบทบาทของนักการเมืองในการใช้งบประมาณและการตัดสินใจทำโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้มีการหยิบฉวยสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นเหตุผลในการผลักดันโครงการที่ไม่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

คณะผู้แถลงตระหนักว่า น้ำใจและความช่วยเหลือของคนไทยด้วยกันเองต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้เป็นความงดงามและน่าซาบซึ้ง แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ควรได้ร่วมกันสร้างกลไกเพื่อป้องกันและเยียวยาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆกันด้วย

3 พฤศจิกายน 2553

คณะผู้แถลง

  1. นายวิเชียร พวงลำเจียก     อุปนายก สมาคมชาวนาไทย
  2. ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์     ประธานชุมชนธรรมเกษตร
  3. นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ  มูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ 
  4. นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี 
  5. ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม

ข้อมูลที่น่าสนใจอื่น ๆ : ประมวลปัญหาน้ำท่วมและข้อเสนอจากหลายมุมมอง

ภาพประกอบจาก : OK nation