1. วิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในสภาพปกตินัก ด้วยขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุควิกฤตประชาธิปไตย และวิกฤตนี้ได้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาปากท้องของคนในสังคมไทยทั้งหมดทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ในขณะที่รัฐบาลตะวันตกหลายประเทศต่อต้านการรัฐประหาร โดยตัดความช่วยเหลือและความสัมพันธ์ทางทหาร ไปจนถึงการปฏิเสธที่จะลงนามความตกลง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางการค้าสำคัญอื่นๆ เช่นการตัดสิทธิจีเอสพี ซึ่งให้สิทธิอุตสาหกรรมบางสาขาส่งออกสินค้าไปยังยุโรปในอัตราภาษีต่ำ และ กระแสต่อต้านอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ สิ่งเหล่านี้ประเดประดังเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตทางการเมืองของประเทศ
2. มีสติรับมือปัญหาวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจ
เราคงต้องมองมิติวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งนี้อย่างรอบคอบ โดยไม่ด่วนต่อต้านท่าทีของตะวันตก ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ตกหลุมพรางการเอาอกเอาใจตะวันตกหรือประเทศอื่นใด เพียงเพื่อให้พวกเขายอมรับสถานภาพระบอบการเมืองที่กำลังเป็นอยู่ ดังที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนเตือนว่า การเปิดเสรีการค้าและยอมรับกติกาการค้าของตะวันตกหลายครั้งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร เช่น การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรยา เอาใจรัฐบาลสหรัฐ และการยกเลิกเก็บภาษีสารเคมีเกษตร เอาใจบริษัทเคมีเกษตรต่างชาติ เกิดขึ้นในสมัยรสช. การลงนามใน JTEPA ซึ่งเปิดช่องให้เอา “สินค้า” ขยะของญี่ปุ่นมาทิ้งในประเทศเกิดขึ้นในสมัยคมช. เป็นต้น
ผมเรียกร้องให้คนที่เอาใจช่วยคสช.และคนที่ระแวงและไม่ไว้วางใจ ร่วมกันกดดันมิให้มีการยอมรับอนุสัญญายูพอฟ 1991 การขยายสิทธิบัตรยา หรือยอมรับการปลูกพืชจีเอ็มโอที่มีบริษัทข้ามชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์หมดทั้งโลก ซึ่งจะกระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกร และประชาชนทุกคนที่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงยา
3. ประเด็นการต่อต้านอุตสาหกรรมอาหารไม่ใช่การกีดกันทางการค้าและปัญหาไม่ได้อยู่แค่เพียงประเด็นการค้ามนุษย์
การหยิบยกเรื่องการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมกุ้ง/อุตสาหกรรมอาหารของสื่อยุโรปและรัฐบาลสหรัฐจะเป็นบทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทเจริญโภคภัณฑ์และประชาชนไทยโดยรวม การที่เจริญโภคภัณฑ์กลายเป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ของโลกแซงหน้าไทสันฟู้ด คาร์กิล บราซิลฟู้ด หูหนาน ฯลฯ ครอบครองตลาดส่วนใหญ่ของคอนวีเนียนสโตร์ ครอบครองค้าส่งแมคโครซึ่งมีอิทธิพลมหาศาลต่อโชห่วยแบบดั้งเดิม รวมทั้งการครอบครองตลาดมากกว่าครึ่งในตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและผัก ทำให้บริษัทนี้ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
หากถอดแว่นเรื่อง “ผลประโยชน์ชาติ” หรือแว่น “การกีดกันทางการค้า” ออกไปจากวิธีคิดของบางกลุ่ม พวกเราส่วนใหญ่อาจหันมาสนับสนุนการต่อต้านนี้ของตะวันตก เนื่องจากการค้ามนุษย์เป็นการละเมิดจริยธรรมทางการค้าที่ไม่อาจประนีประนอมได้ และน่าดีใจที่เราเห็นผู้บริหารของบริษัทประกาศที่จะไม่รับซื้อปลาป่นจากเรือประมงที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น คือ
1. ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์ไม่ใช่เพียงปัญหาทางจริยธรรมเดียวของอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอาหารต้องถูกตั้งคำถามหรือต้องจัดการกับปัญหาปัญหาการใช้เครื่องมือและการจับปลาแบบทำลายล้าง การขายเมล็ดพันธุ์หรือรับซื้อจากพื้นที่ที่มาจากการบุกรุกป่าต้นน้ำ ปัญหาความไม่เป็นธรรมของเกษตรกรในระบบพันธะสัญญา การกลั่นแกล้งวิสาหกิจที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ หรือการเบียดขับผู้ประกอบการ พ่อค้ารายย่อย จากการรวมศูนย์ระบบการกระจายอาหาร เป็นต้น
2. ความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาจริยธรรมของอุตสาหกรรมอาหารไม่ได้มาจากรัฐเป็นหลัก แต่มาจากพลังของผู้บริโภคและอำนาจในการเลือกซื้อของผู้บริโภคเป็นสำคัญ กรณีนี้คล้ายกับกรณีการปฏิเสธอาหารจีเอ็มของผู้บริโภคในยุโรป กดดันให้ห้างค้าปลีก ร้านค้า และต่อมาจนถึงรัฐบาลต้องมีมาตรการที่เข้มงวดตลอดจนการมีนโยบายติดฉลากเกี่ยวกับสินค้าจีเอ็ม
ในด้านหนึ่ง นี่เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างตรงจุด และเตือนให้ทราบว่าปัญหาอะไรที่รอพวกเขาอยู่ข้างหน้า และในอีกด้านหนึ่งเรื่องนี้บอกกับผู้บริโภคและประชาชนในสังคมไทยว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างประชาธิปไตยทางอาหาร และจริยธรรมของบรรษัท
4. ความมั่นคงทางอาหาร คือประชาธิปไตยในอาหาร
เมื่อมองจากมิติความมั่นคงทางอาหารอย่างรอบด้าน การที่ทุกคนได้รับอาหารอย่างเพียงพอโดยไม่สนใจว่ากระบวนการผลิตอาหารนั้นมาจากการทำลายธรรมชาติ มาจากการผูกขาดปัจจัยการผลิต มาจากความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เกษตรกรรายย่อยต้องเป็นผู้แบกรับภาระความเสี่ยง หรือมาจากระบบการกระจายอาหารที่ผูกขาดรวมศูนย์ เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะในที่สุดแล้วระบบอาหารเช่นนี้ไม่ใช่ระบบอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน ดังที่พบว่าเมื่ออุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น เกษตรกรรายย่อยล่มสลาย หลายประเทศกลับประสบกับปัญหาโภชนาการ ขาดความหลากหลายของอาหาร ประสบกับปัญหาความไม่ปลอดภัยทางอาหาร รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตจากเกษตรกรรมเคมีเชิงเดี่ยว หรือการนำพันธุวิศวกรรมมาใช้ในการเกษตร
ความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงคือการมีประชาธิปไตยทางอาหาร หรือการที่ประชาชนทุกคนทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคมีอำนาจในการกำหนดระบบอาหารที่ตนเองประสงค์ ไม่ปล่อยให้อำนาจหนึ่งอำนาจใดครอบงำระบบอาหาร เพื่อให้ทุกคนมีอาหารอย่างเพียงพอ มีโภชนาการครบถ้วน ปลอดภัย หลากหลาย/สอดคล้องกับวัฒนธรรม ยั่งยืน และเผชิญหน้ากับวิกฤตต่างๆได้เสมอ
5. ประชาธิปไตยทางอาหารเหนือระบบอาหาร
– เกษตรกรต้องมีที่ดิน ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ และต้องไม่ยินยอมให้เอกชนรายใดถือครองที่ดินนับแสนนับล้านไร่เหมือนที่กำลังเป็นอยู่ อย่าให้วาทะกรรมพื้นที่ถือครองขนาดใหญ่ทำให้ผลผลิตสูงกว่า โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเชิงเดี่ยวมาวัด การผลิตที่หลากหลายภายใต้ระบบนิเวศเขตร้อนของเกษตรกรรายย่อยต่างหากที่ได้ผลิตภาพมากกว่า
– เมล็ดพันธุ์ต้องอยู่ในมือเกษตรกรรายย่อย ไม่ยอมให้มีการใช้กฎหมายเพื่อรังแกเกษตรกร การผลิตอาหารสัตว์เองและการเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลาย แหล่งโปรตีนที่หลากหลายมีความจำเป็นต้องพัฒนาขึ้น
– น่าแปลกใจที่สถาบันของรัฐแห่งแล้วแห่งเล่า ผันแปรตนเองกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนบทบาทของเอกชนรายใหญ่ แทนที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย หรือวิสาหกิจชุมชน ทำอย่างไรสถาบันของราชการต้องกลับมาทำหน้าที่เป็นตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะ
– ระบบกระจายอาหารแบบโมเดิร์นเทรดสร้างความหลากหลายของอาหารหรือไป ในทางตรงข้าม เราสามารถสร้างระบบกระจายอาหารแบบอื่นๆได้หรือไม่ เช่น ที่เครือข่ายผูกปิ่นโตข้าว และกลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อกินกำลังทำอยู่ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ตลาดชุมชนแห่งแล้วแห่งเล่าถูกแทนที่ด้วยโมเดิร์นเทรด ที่ราสเบอรี่ พลัม เชอรี่ หาซื้อง่ายกว่ายอดกระถิน สะเดา แค และผักเหมียง
– บทบาทของผู้หญิงซึ่งเป็นผู้เก็บเมล็ดพันธุ์ บริหาร-จัดการอาหารในครัวเรือน ดูแลเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และควบคุมค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารถูกทำให้หมดบทบาทไปโดยสิ้นเชิง มาพึ่งพาร้านสะดวกซื้อ ร้านอิ่มสะดวก น่าเสียดายที่เราเห็นมิติการพูดถึงคนที่สนใจเรื่องนี้น้อยมาก ฯลฯ
6. ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร/อธิปไตยทางอาหาร ได้ให้ความหมายเพิ่มเติมของ “ประชาธิปไตย” เป็นการให้อำนาจแก่ครอบครัว ผู้หญิง ผู้บริโภค
เพื่อนเก่าแก่ของผม “สามารถ สะกวี” บอกว่า ประเด็นและความเข้าใจเรื่องอธิปไตยทางอาหาร/ความมั่นคงทางอาหาร ได้ให้อำนาจแก่ ผู้หญิง เด็ก ครอบครัว ผู้สูงอายุ เกษตรกรรายย่อย ผู้บริโภค ชุมชนท้องถิ่น ให้มีอำนาจ เราสามารถฟังเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จากการฟังคำบรรยายและเรื่องเล่าจากการทำงานมานาน 30 ปีในชุมชนของเขา เราจะได้ยินเรื่องการลุกขึ้นเพื่อใช้อำนาจของคนกลุ่มต่างๆ ในบริบทต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องอาหาร ตลอดสองวันของการประชุมครั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เชียงใหม่ ยโสธร สุรินทร์ สงขลา รวมถึงการริเริ่มรูปแบบใหม่ๆของความสัมพันธ์ในระบบอาหาร ในขณะเดียวกันผมเห็นว่า ประเด็นเหล่านี้ได้ให้เครื่องมือแก่เราในการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงในเพิ่มขึ้นในระดับส่วนกลางด้วย เราพบว่าประเทศที่ส่งออกและโฆษณาลัทธิประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างในสหรัฐ เกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคอเมริกันก็กำลังต่อสู้เพื่ออธิปไตยทางอาหารอยู่เช่นเดียวกัน เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วอเมริกันนับล้านคนเดินขบวนต่อต้านอุตสาหกรรมอาหาร พวกเขาเรียกร้อง “สิทธิในการรู้” หรือ Right to Know เพราะคนสหรัฐมากกว่า 80% ต้องการให้ติดฉลากจีเอ็มโอแต่รัฐบาลสหรัฐปฏิเสธเพราะอิทธิพลของบรรษัทอาหาร
หากเราเอา “ประชาธิปไตยในเรื่องอาหาร” มาเป็นเกณฑ์คุณค่าวัดพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ เราอาจตอบได้ว่า เราจะต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นสำหรับช่วงเวลาของวิกฤตทางการเมืองนี้ ไม่มากก็น้อย