บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ยารา(นอรเวย์) ซินเจนทา(สวิตเซอร์แลนด์) และมอนซานโต้(สหรัฐ) คือยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ ตามลำดับ

เจริญโภคภัณฑ์แม้มีสัดส่วนครอบครองตลาดอาหารสัตว์ 3.4 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยมูลค่าตลาดอาหารสัตว์ของโลกที่สูงถึง 11.2 ล้านล้านบาท ทำให้เจริญโภคภัณฑ์มียอดขายเฉพาะอาหารสัตว์สูงถึง 380,800 ล้านบาทต่อปี*  

บริษัทยารา(Yara) ครอบครองตลาดปุ๋ยเคมี 12% ของตลาดปุ๋ยเคมีของโลก ซึ่งมีมูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท บริษัทนี้มีรายได้จากตลาดปุ๋ยเคมี 348,000 ล้านบาทต่อปี

บริษัทซินเจนทา(Syngenta) ครอบครอบตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 23.1% ของตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของโลกซึ่งมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นยอดขาย 323,400 ล้านบาทต่อปี

ส่วนมอนซานโต้ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกด้านเมล็ดพันธุ์ (ซึ่งมีมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท)และยักษ์ใหญ่อันดับ 5 ของโลกด้านสารเคมี ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ของโลกสูงถึง 26% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 286,000 ล้านบาทต่อปี 

อุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภทนี้ (รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตพันธุ์สัตว์)ถือว่าเป็นฐานรากของระบบเกษตรกรรมและอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกรที่มีจำนวนประมาณ 1,000 ล้านคน และผู้บริโภค 7,000 ล้านคน 

เมื่อเปรียบเทียบซีพีกับบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรอื่นๆ ยักษ์ใหญ่การเกษตรข้ามชาติซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ในประเทศไทยน่าเกรงขามไม่น้อย เนื่องจากมิได้จำกัดการดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่ได้ขยายออกไปครอบคลุมอุตสาหกรรมการผลิต การแปรรูป ค้าส่ง ค้าปลีก และอื่นๆอย่างครบวงจร ซึ่งหาบรรษัทข้ามชาติอื่นเปรียบเทียบได้ยาก

การเติบโตของซีพีมีต้นทุนทางสังคมและมีแง่มุมต่างๆให้ต้องติดตามมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการผูกขาดซึ่งกระทบทั้งต่อเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภค รวมทั้งอิทธิพลของซีพีเหนือระบบราชการและการเมืองในประเทศไทย 


หมายเหุต : ซีพีเอฟแจ้งรายได้เมื่อปี 2552 อยู่ที่ 357,175 ล้านบาท โดยมีรายได้จากอาหารสัตว์ 56% รายได้ทั้งหมดมาจากตลาดในประเทศไทย 45% จีน 28% เวียดนาม 12% และอื่นๆ 15% ตัวเลขนี้ค่อนข้างต่ำกว่ารายงานที่อ้างอิงในแผนภาพนี้และรายงานอื่นๆในต่างประเทศ

ที่มา: BIOTHAI Facebook