” ประชาธิปไตยทางอาหาร หมายถึงอำนาจในการให้ได้มาซึ่งอาหารที่หลากหลายตามวัฒนธรรม มีคุณค่า และปลอดภัย อยู่ในมือของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกร แรงงาน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง หรืออยู่ในภาคการผลิตต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับเกษตรกรรมอาหาร “
” ประชาธิปไตยทางอาหาร เป็นกระบวนการแสดงออกซึ่งสิทธิในอาหาร (Right to Food)และการจัดการอาหารต้องเป็นของประชาชน ตั้งแต่กระบวนการผลิตมาจนถึงการบริโภค ตั้งแต่การมีสิทธิครอบครอง/หรือสิทธิในการจัดการที่ดิน แหล่งน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิต การกระจายอาหาร การกำหนดมาตรฐานของอาหาร การเข้าถึงข้อมูลและที่มาของอาหาร ไปจนถึงการบริโภคอาหาร และนโยบายที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมและอาหาร หรืออีกนัยหนึ่ง ราษฎรได้กลายเป็นประชาชนที่มีอำนาจในด้านอาหารหรือ Food Citizenship “
การไม่มีประชาธิปไตยทางอาหารก็คือการตกอยู่ภายใต้สภาวะเผด็จการทางอาหาร (Food Dictatorship) เช่น
อิทธิพลของบรรษัทเหนือรัฐสภาสหรัฐ
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐได้ผ่านกฎหมาย The Safe and Accurate Food Labeling Act of 2015 ที่ถูกขนานนามว่า DARK Act กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิผู้บริโภคและประชาชนเรียกกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายมืด” DARK Act ซึ่งย่อมาจากคำว่า Deny Americans the Right to Know หรือ “กฎหมายปิดหูปิดตาคนอเมริกัน” ไม่ให้รู้ว่าอาหารที่ตนรับประทานมีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่มาจากการตัดต่อ พันธุกรรมหรือไม่”
รัฐบาลอเมริกันมักแสดงตนว่าเป็นผู้พิทักษ์และส่งออกเรื่องสิทธิมนุษยชนและ ประชาธิปไตยของโลก แต่รัฐสภาของสหรัฐทั้งที่มาจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครตกำลังสามัคคียกมือ ออกกฎหมายระดับชาติที่ทำให้เสียงเรียกร้องของคนอเมริกันมากกว่า 90% ที่ต้องการให้มีการติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอกลายเป็นหมัน และทำให้กฎหมายซึ่งบังคับให้ผู้ผลิตอาหารที่มีส่วนผสมของจีเอ็มโอต้องถูก บังคับติดฉลากต้องยกเลิก ในรัฐเวอร์มอนต์ เมน และคอนเน็คติคัต และดับความฝันของอเมริกันชนในอีกหลายๆรัฐที่กำลังต่อสู้ให้มีการบังคับติด ฉลาก

OpenSecret.org องค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเปิดเผยและประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาแฉว่า สมาชิกพรรคการเมืองทั้งสองพรรคที่ยกมือให้ผ่านกฎหมายอัปยศดังกล่าวได้รับ เงินสนับสนุนจากบรรษัทอาหารเป็นเงินหลายล้านเหรียญ ทั้งนี้ไม่นับอีกนับร้อยล้านเหรียญสำหรับการล๊อบบี้เพื่อให้หยุดนโยบายและ กฎหมายบังคับติดฉลากจีเอ็มโอ
อิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติและอุตสาหกรรมเกษตรเหนือสถาบันการศึกษา
มีตัวอย่างที่ใกล้ตัวกว่านั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าเผด็จการทางอาหารและอิทธิพลของบรรษัทยักษ์ใหญ่นั้นใกล้ ตัวและได้แทรกซึมเข้ามาทำลายประชาธิปไตยทางอาหารแม้กระทั่งในสถาบันการศึกษา อย่างไร
สมัชชาความมั่นคงทางอาหารที่ทำให้พวกเรามารวมอยู่ด้วยกันนี้นั้น จัดมาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยครั้งที่ 3 และ 4 จัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และครั้งที่ 5 ก็เช่นเดียวกัน โดยเราได้รับการตอบตกลงให้ใช้สถานที่แล้ว แต่หลังจากทราบว่าการประชุมครั้งนี้จะมีหัวข้อวิพากษ์ พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ต้อง รับผิดชอบในกรณีจีเอ็มโอทำให้เกิดความเสียหาย ผู้รับผิดชอบกลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารมาใช้สถาน ที่ในมหาวิทยาลัย
คณะเกษตร ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เองที่เพิ่งจัดพิมพ์หนังสือโจมตีเกษตรกรรมอินทรีย์ เรื่อง “เกษตรอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยสารพิษดีกว่าไหม” โดยผู้เขียนซึ่งเป็นกรรมการของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจปุ๋ยเคมี และท่านคงคาดหมายได้ไม่ยากว่า งบการพิมพ์ซึ่งแจกจ่ายแก่ผู้คนจำนวนไม่อั้นนั้นมาจากไหน ?
คณะเกษตรแห่งนี้เองที่ประกาศแต่งตั้งให้ผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่การ เกษตรเข้ามาเป็นประธานแปรรูปไร่สุวรรณ-ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ ให้บริษัทเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์
มหาวิทยาลัยแห่งนี้เอง ที่เอื้อเฟื้อสถานที่และเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมธุรกิจสารเคมีดำเนินการจัด ประชุมเพื่อโจมตีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ให้สารพิษ ทางการเกษตรทั้งหมดต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด ทั้งๆที่เจตนารมย์ในการขึ้นทะเบียนใหม่นั้นจะทำให้มีการควบคุมสารพิษให้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคปลอดภัยมากขึ้น
บัดนี้การวิจารณ์เทคโนโลยีและกฎหมายที่ผลักดันโดยบรรษัทข้ามชาติและยักษ์ ใหญ่การเกษตรกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ในขณะที่การต่อต้านเนื้อหาของกฎหมายที่ปกป้องสุขภาวะของเกษตรกรและผู้บริโภค กลายเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัย ?
นี่คืออิทธิพลของอุตสาหกรรมเกษตร สารเคมี เมล็ดพันธุ์ และอาหารได้เข้ามาครอบงำระบบการศึกษา จนกระทั่งศาสตราจารย์ระพี สาคริก อดีตอธิการบดี ได้ประกาศขอให้ถอนชื่อของท่านออกจากชื่อของอาคารและถนนในมหาวิทยาลัย
กล่าวอย่างเป็นธรรมแล้ว ไม่เฉพาะมหาวิทยาลั
ยเกษตรศาสตร์เท่านั้นที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบรรษัท เพราะมีผู้บริหารของหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่ได้สยบยอมต่อ อุตสาหกรรมอาหาร
บรรษัทอาหารครอบงำวิทยาศาสตร์
ไม่เฉพาะต่อสถาบันการศึกษาเท่านั้น แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็น “วิชาที่ว่าด้วยกระบวนการค้นหาความเป็นจริง” ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของของบรรษัทเกษตรและอาหาร
นับตั้งแต่มีการอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอเป็นการค้าในปี 1996 ในสหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่คอยติดตามและทดลองผลกระทบของพืชจีเอ็มโอที่มี ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน แต่ทันทีที่งานวิจัยดังกล่าวออกมาเผยแพร่ นักวิจัยเหล่านั้นกลับถูกโจมตี ถูกถอดออกจากวารสารที่ตีพิมพ์ ไปจนถึงถูกให้ออกจากสถาบันอย่างไม่เป็นธรรม จากอิทธิพลของบรรษัทจีเอ็มโอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการทดลองซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Lancet และพบว่าหนูที่กินมันฝรั่งจีเอ็มโอมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ของ Árpád Pusztai จาก Rowett Research Institute สก็อตแลนด์ในปี 1999 การทดลองของ John Losey จาก Cornell University ในปีเดียวกัน ที่พบว่าละอองเกสรของพืชจีเอ็มโอบีทีทำให้แมลงที่ไม่ใช่ศัตรูเป้าหมายได้รับ ผลกระทบ และงานล่าสุดของ Gilles-Éric Séralini ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology ในปี 2012 เกี่ยวกับผลกระทบของพืชจีเอ็มโอที่มีต่อหนูทดลอง เป็นต้น มีงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบในแง่ลบอีก 22 ชิ้นที่ถูกโจมตีคล้ายๆกัน !
งานที่รับรองความปลอดภัยของจีเอ็มโอก่อนการอนุญาตให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ก็ เหมือนกับการขออนุญาตในการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวคือเป็นงานที่ทำการทดลองโดยบริษัทหรืองานวิจัยของสถาบันทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัยหรือของรัฐที่ได้รับเงินสนับสนุนจากบรรษัท งานวิชาการเหล่านี้เป็นอิสระน่าเชื่อถือได้หรือ ?
นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งซึ่งมีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนเรื่อง จีเอ็มโอ เขียนและเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับจีเอ็มโอ หนังสือที่เขาเขียนได้ใช้ทั้งข้อมูลและเงินสนับสนุนในการตีพิมพ์จาก CropLife องค์กรซึ่งตั้งขึ้นโดย มอนซานโต้ ซินเจนทา ดูปองท์ เอฟเอ็มซี ฯลฯ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกด้านเมล็ดพันธุ์และสารพิษกำจัดศัตรูพืช เดินทางไปดูงานโดยการสนับสนุนของกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอ แล้วออกมาเขียนเกี่ยวกับจีเอ็มโอในนามของวิทยาศาสตร์ นี่คือ “วิทยาศาสตร์” จริงหรือ ?
บางทีสิ่งที่เรียกว่า “วิทยาศาสตร์จอมปลอม”(Pseudo Science) ที่เลวร้ายที่สุดและสังคมพึงระวัง หาใช่การอวดอ้างวิทยาศาสตร์เก๊ๆเพื่อขายเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด GT-200 เหรียญควอนตั้ม ฯลฯ แต่อย่างใดไม่ แต่กลับเป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์มารับใช้ผลประโยชน์ของบรรษัทต่างหาก
อุตสาหกรรมอาหารได้ครอบงำระบบเกษตรกรรมและอาหารตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ไปจนถึงศูนย์จำหน่ายอาหาร
ระบบอาหารโลกถูกควบคุมโดยบรรษัทเพียงหยิบมือเดียว เช่น บริษัทผลิตพันธุ์สัตว์เพียง 4 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดถึง 99% ของพันธุ์สัตว์ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ บริษัทเมล็ดพันธุ์เพียง 10 บริษัทควบคุมตลาดพันธุ์พืช 75%ของโลก และบริษัทสารเคมี 11 บริษัทครอบครองตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถึง 98% เป็นต้น
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ยารา(นอรเวย์) ซินเจนทา(สวิตเซอร์แลนด์) และมอนซานโต้(สหรัฐ) คือยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ ตามลำดับ

เจริญโภคภัณฑ์แม้มีสัดส่วนครอบครองตลาดอาหารสัตว์ 3.4 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยมูลค่าตลาดอาหารสัตว์ของโลกที่สูงถึง 11.2 ล้านล้านบาท ทำให้เจริญโภคภัณฑ์มียอดขายเฉพาะอาหารสัตว์สูงถึง 380,800 ล้านบาทต่อปี* และแม้บริษัทนี้มีสัดส่วนเล็กน้อยในตลาดเมล็ดพันธุ์ สารเคมีในระดับโลก แต่บริษัทนี้กลับครอบครองตลาดตลอดกระบวนการผลิตและบริโภคในระดับประเทศ ยิ่งไปกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารใดๆในโลก
บริษัทยารา(Yara) ครอบครองตลาดปุ๋ยเคมี 12% ของตลาดปุ๋ยเคมีของโลก ซึ่งมีมูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท บริษัทนี้มีรายได้จากตลาดปุ๋ยเคมี 348,000 ล้านบาทต่อปี
บริษัทซินเจนทา(Syngenta) ครอบครอบตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 23.1% ของตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของโลกซึ่งมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นยอดขาย 323,400 ล้านบาทต่อปี
ส่วนมอนซานโต้ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกด้านเมล็ดพันธุ์ (ซึ่งมีมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท)และยักษ์ใหญ่อันดับ 5 ของโลกด้านสารเคมี ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ของโลกสูงถึง 26% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 286,000 ล้านบาทต่อปี
อุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภทนี้ (รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตพันธุ์สัตว์)ถือว่าเป็นฐานรากของระบบเกษตรกรรมและ อาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเกษตรกรที่มีจำนวนประมาณ 1,000 ล้านคน และผู้บริโภค 7,000 ล้านคน
ไม่ใช่แค่เพียงระดับการควบคุมปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่แนวโน้มการควบคุมระบบอาหารของโลกได้ขยายไปสู่ระบบการกระจายอาหาร การกำหนดมาตรฐานอาหาร และการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ของบรรษัทมากกว่าจะ ตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ของระบบอาหารทั้งหมด
เผด็จการอาหารเต็มรูปแบบ
ดังที่เราทราบว่าปัจจุบันบริษัทมอนซานโต้ได้ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ส่วน ใหญ่ของโลก และถ้าหากสหรัฐอเมริกาประสบผลสำเร็จในการบีบให้ประเทศต่างๆทั่วโลกปลูกพืชจี เอ็มโอ เมล็ดพันธุ์ทั้งหลายในโลกซึ่งจะมาพร้อมกับระบบสิทธิบัตรจะอยู่ภายใต้การผูก ขาดของบริษัทเดียว
หลังจากยึดครองเมล็ดพันธุ์ได้ ก้าวต่อไปของมอนซานโต้คือการขอเสนอซื้อกิจการของซินเจนทาซึ่งครอบครองตลาด สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีสัดส่วนสูงถึง 23.1%ของโลก การผลักดันพืชจีเอ็มโอซึ่ง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นพันธุ์ที่ต้านทานสารเคมีปราบวัชพืชจะทำให้มอนซานโต้และ ซินเจนทาได้ประโยชน์ร่วมกัน แม้ขณะนี้ยังไม่บรรลุข้อตกลงการควบรวมกิจการ แต่ในอนาคตอันใกล้การผนึกรวมกิจการของสองยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรและอาหารเป็น สิ่งที่มีความเป็นไปได้ บริษัทใหม่นี้บริษัทเดียวจะสามารถครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ของโลกถึง 35.2% และครอบครองสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 30.5% ซึ่งถือว่ากลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดของโลกตามเกณฑ์ทั่วไป และหากโลกเปลี่ยนไปปลูกพืชจีเอ็มโอทั้งหมด เราจะพบว่าตลาดเมล็ดพันธุ์และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในโลกจะกลายเป็นของบริษัท เดียวในโลกอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากในปัจจุบันมอนซานโต้บริษัทเดียวครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอใน สหรัฐมากกว่า 90%
ภายใต้สถานการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทมอนซานโต้ได้ทยอยซื้อกิจการของบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลขนาด ใหญ่หรือ Big Data เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2013 มอนซานโต้ได้ซื้อกิจการ ของบริษัท Climate Corporation ในราคา 930 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมา (2014) มอนซานโต้เริ่มขายโปรแกรมข้อมูลชื่อ FieldScripts แก่เกษตรกรในรัฐอิลินอยส์ ไอโอวา มินเนโซต้า และอินเดียน่า ในราคา 10 เหรียญต่อเอเคอร์ (ประมาณ 825 บาท/ไร่) เพื่อให้ชาวไร่ข้าวโพดสามารถใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ และใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และข้อมูลอื่นๆ มอนซานโต้อ้างว่าข้อมูลขนาดใหญ่ของบริษัทจะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตร ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 1 ใน 3
การใช้ “ข้อมูลขนาดใหญ่” เพื่อประโยชน์สำหรับเกษตรกรรมเป็นหนึ่งในแนวโน้มใหญ่ของโลก สิ่งนี้เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของดิน ราคาปุ๋ย สารเคมีที่สูงขึ้น ดังนั้นใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากข้อมูลขนาดใหญ่ ผู้นั้นจะได้เปรียบในการเพาะปลูก ดำเนินธุรกิจการเกษตรและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลดังกล่าวได้แก่ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาขนาดใหญ่ สภาพอากาศ การคาดการณ์ภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำสำรองในแหล่งเก็บกักต่างๆ ธาตุอาหารในดินในพื้นที่ต่างๆ ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับราคาผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น
เกษตรกรรายย่อยและผู้เฝ้าสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงการเกษตร อดเป็นกังวลกับแนวโน้มดังกล่าวไม่ได้ ด้วยหลายเหตุผล เช่น
- ข้อมูลของเกษตรกรอาจถูกนำไปใช้โดยบริษัทอย่างไม่เหมาะสม
- บริษัทใช้ข้อมูลเพื่อผลกำไรของบริษัทมากกว่าจะเป็นประโยชน์เพื่อเกษตรกรจริงๆ
- การลงทุนข้อมูลสาธารณะขนาดใหญ่เช่น สภาพภูมิอากาศ แผนที่ดิน ถูกใช้แสวงหากำไรเพื่อบรรษัท
- การผูกขาดข้อมูลสาธารณะซึ่งควรเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
- ฯลฯ
เมื่อปี 2010 กลุ่ม ETC ได้เตือนถึงการครอบครองสิทธิบัตรที่เรียกว่า climate ready crops ซึ่งหมายถึงการพัฒนาพันธุ์พืชให้สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จากการสำรวจพบว่ามีสิทธิบัตรดังกล่าว 258 ประเภทครอบคลุมสิทธิบัตรจำนวนวกว่า 1,633 สิทธิบัตร 90% เป็นของเอกชน และ 2ใน 3 เป็นสิทธิบัตรของมอนซานโต้ ดูปองท์ และ BASF
แล้วเราจะสร้างประชาธิปไตยทางอาหารได้อย่างไร
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าประชาธิปไตยทางอาหารคือสร้างอำนาจและสิทธิของประชาชน เหนือระบบอาหารตลอดกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ตั้งแต่ทรัพยากร ปัจจัยการ การผลิต การกระจาย และนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรรมและอาหาร
ในขบวนการประชาธิปไตยทางอาหารทั่วโลก และในเวทีการจัดสมัชชาความมั่นคงทางอาหารนี้เราจะได้เห็น ได้เรียนรู้ การสร้างประชาธิปไตยทางอาหารในรูปแบบต่าง ในพื้นที่ต่างๆ ในบริบทต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น
- การต่อสู้สิทธิในเรื่องที่ดินและการเรียกร้องเกี่ยวกับจัดการเรื่องน้ำของ ประชาชนในประเทศไทย การต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า Land Grabbing ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการแย่งยึดที่ดินโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่มากที่สุด
- การต่อสู้เพื่อปฏิเสธจีเอ็มโอในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลก เแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ประชาชนในระดับ County ต่างๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เช่น Mendocino County, Humboldt County , Trinity County, Humboldt County , Marin County, Santa Cruz County ได้ประกาศพื้นที่ของตนเป็นเขตปลอดจีเอ็มโอ ในประเทศที่เป็นเมืองหลวงของโลกเรื่องจีเอ็มโอ
- ประเทศต่างๆทั่วโลก 64 ประเทศประกาศให้มีการบังคับติดฉลากจีเอ็มโอ รวมทั้งใน 3 รัฐของอเมริกา ได้แก่ เมน คอนเน็คติคัต และเวอร์มอนต์
- ในประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างนักปรับปรุงพันธุ์ชาวนาให้เกิด ขึ้น จากการประเมินพบว่าขณะนี้เฉพาะในเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและพันธมิตรที่ ใกล้ชิด มีจำนวนชาวนานักปรับปรุงพันธุ์ข้าวมากกว่า 30 คน มีข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆซึ่งไม่ง้อปุ๋ยเคมีและสารเคมีเกิดขึ้นจากมือของชาวนา เหล่านี้แล้วหลายสายพันธุ์ จำนวนนักปรับปรุงพันธุ์ชาวนาในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่านักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าวเสียอีก
- ขบวนการประชาธิปไตยทางอาหารยังได้ครอบคลุมไปจนถึงการสร้างพื้นที่ของระบบ อาหารทางเลือกเช่น การริเริ่มของตลาดสีเขียวเกษตรกร ตลาดที่อาหารสดกว่า ปลอดภัยกว่า เพื่อเป็นทางเลือกจากระบบการกระจายอาหารแบบรวมศูนย์ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และคอนวีเนี่ยนฟู้ดสโตร์ หรือที่เรียกว่า “ร้านแดกสะดวก” นักเขียนท่านหนึ่งของนิตยสารฟอร์บบอกเล่าปรากฎการณ์การปะทะกันของการต่อสู้ ระหว่างบรรษัทอาหารกับการแสดงออกโดยไม่จำนนของประชาชนทั้งหลายว่า “เรากำลังอยู่ในยุคปั่นป่วนที่สุด” ที่ ตลาดเกษตรกรโตเป็นสองเท่าในช่วง 10 ปีมานี้ ตลาดเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐโตปีละกว่า 10% ในขณะที่สินค้าที่ติดฉลากปลอดจีเอ็มโอเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าเสียอีก
- ปรากฏการณ์การสอนการทำอาหาร การจัดการอาหารในโรงเรียน สวนผักสำหรับคนเมือง เติบโตในหลายประเทศทั่วโลก การเติบโตนี้นำไปสู่สิ่งเดียวกันคือพึ่งพาอุตสาหกรรมอาหารน้อยลงและพึ่งตน เองมากยิ่งขึ้น
บทสรุป
เผด็จการทางอาหารทำให้ปัญหาเรื่องอาหารบิดเบี้ยวและซับซ้อน บนโลกขณะนี้มีประชากร 7.3 พันล้านคน มีคนอดอาหารอยู่ 805 ล้านคน (อยู่ในประเทศกำลังพัฒนามากถึง 791 ล้านคน) แต่มีประชากรมากถึง 1.9 พันล้านคนที่น้ำหนักเกิน เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาพฤติกรรมส่วนบุคคลแต่เป็นระบบอาหารที่ถูกออกแบบให้เรา ขาดทางเลือกมากยิ่งขึ้นทุกที เราสามารถเข้าถึงอาหารชั้นเลวจากอุตสาหกรรมได้ง่ายกว่าอาหารที่ดีกว่า หากดึงอำนาจในการจัดการอาหารกลับมาอยู่ในมือของผู้หญิงและแม่เหมือนที่เคย เป็นมาก่อน
เรื่องอาหารเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดและเป็นเรื่องใหญ่โตที่สุดเพราะบรรษัทอาหารนั้น ใหญ่กว่าพรรคเดโมแครท หรือรีพับลิกัน ใหญ่กว่าพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ และใหญ่กว่ารัฐบาลชั่วคราวที่บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน
เรามีหน้าที่ที่ต้องพัฒนาระบบการเมืองที่ให้ประชาชนทุกคนมีอำนาจ ต้องให้เสียงของประชาชนทุกคนมีความหมายในระดับประเทศและระดับโลก แต่ต้องตระหนักไปพร้อมกันว่าตัวเราเองนี่แหละที่มีอำนาจไปพร้อมๆกันด้วย ดังที่ เพจ Food4Change เอาคำของผู้หญิงคนหนึ่งมาโพสต์ในหน้าเพจดังนี้
เราสร้างการเปลี่ยนแปลง ได้เริ่มจากตัวเรา สร้างตัวเราให้เป็นผู่บริโภค คนกินที่มีความรู้ ช่างเลือก รู้จักเลือก เลือกสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่ยังคงผลิตรักษาความหลากหลาย ไม่ทำลายสุขภาพคนกิน คนปลูก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วเราก็ต้องมาสร้างทางเลือกให้ตัวเองด้วย ด้วยการมีส่วนร่วมในการกำหนดระบบอาหารที่เราพึงปรารถนา เป็นผู้บริโภคช่างถาม พลเมืองที่ตื่นตัว ส่งเสียงบอกผู้ประกอบการ บอกรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้อง และให้พวกเขารู้ว่าเราจับตาดูอยู่
ผมขอจบการอภิปรายนำแต่เพียงเท่านี้
ขอบคุณมากครับ
ที่มา: สมัชชาความมั่นคงทางอาหารปี 2558