ปัญหาระบบอาหารเห็นได้จากการวิเคราะห์ “ผู้เล่น” ในระบบอาหารและ “สถานะของระบบอาหาร” ในปัจจุบัน

บริบทสำคัญของระบบอาหารที่สำคัญ ได้แก่

  1. นโยบาย เป็นตัวกำหนดทิศทางของระบบอาหาร เช่น การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
  2. วัฒนธรรมอาหาร เช่น วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น และวัฒนธรรมอาหารสมัยใหม่
  3. ฐานทรัพยากร หมายถึง ปริมาณและความหลากหลายของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่
  4. ระบบการผลิต การแปรรูป
  5. ระบบการกระจายสินค้า การขนส่ง และการจัดจำหน่ายสินค้า (ร้าค้าปลีก)

1) การรวมศูนย์ระบบอาหาร

การทำความเข้าใจระบบอาหาร จำเป็นต้องพิจารณาตั้งแต่ 1) ปัจจัยการผลิต 2) การผลิต 3) การแปรรูป และ 4) การค้าปลีก

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าในระดับโลก มีการรวมศูนย์ของ “ผู้เล่น” ในระบบอาหารอยู่เพียงไม่กี่ราย อีกทั้งยังมีแนวโน้มของการรวมศูนย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ

ภาคปัจจัยการผลิต พบกลุ่มของบริษัทสารเคมีเพียง 3 บริษัท (มอนซานโต้+ไบเออร์ ซินเจนต้า+เคม ไชน่า และ ดาว เคมิคอล+ดูปองท์) ที่ครอบครองตลาดถึง 77% ในขณะที่ปุ๋ยเคมี 10 บริษัท ครอบครอง 55% ระบบเมล็ดพันธ์ จะคล้ายสารเคมี เนื่องจากเป็นผู้เล่นกลุ่มเดียวกัน มีเพียง 3 บริษัท ถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดเมล็ดพันธุ์ถึง 61% และที่น่าตกใจ คือ ระบบพันธุ์สัตว์ที่ 4 บริษัท ครอบครองส่วนแบ่งถึง 99% แต่ก็พบว่า อาหารสัตว์มี 10 บริษัท ครอบครอง 16% ซึ่งนับว่ายังไม่มาก

ภาคการผลิต พบว่า การผลิตทางการเกษตรในปัจจุบัน ยังอยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อย 85% ของการผลิตอาหารเป็นเกษตรกรรายย่อย (1,000 ล้านคน โดยเป็นแรงงานภาคเกษตร 450 ล้านคน) แม้จะมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่เพิ่มขึ้นก็ตาม

ภาคการแปรรูป พบว่ามี 10 บริษัท ที่ดำเนินกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร คิดเป็นสัดส่วน 28%

ภาคการค้าปลีก ซึ่งจะรับผลผลิตมาขายสู่ผู้บริโภค พบว่ามี 10 บริษัทที่ถือครองการกระจายสินค้าในตลาดคิดเป็น 11% ของระบบเกษตรและอาหารของโลก

ในประเทศไทย การรวมศูนย์ของผู้ประกอบการบางรายในระบบอาหาร จากภาพจะเห็นว่า มีเพียงผู้ประกอบการไม่กี่รายที่ถือครองส่วนแบ่งธุรกิจอาหารในภาคต่างๆ โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่า บริษัทที่มีสัดส่วนการถือครองในลำดับต้นๆ เมื่อรวมกันแล้วจะมีสัดส่วนการถือครองมากกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าประเภทนั้นๆ ทั้งหมด ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกิด “การผูกขาด” ในระบบอาหารในเกือบทุกชนิดสินค้า โดยหากพิจารณาจากภาพข้างต้น จะเห็นว่าในส่วนที่เป็นสีแดง เป็นปริมาณและความครอบคลุมของการถือครองสินค้าอาหารในเกือบทุกประเภทของ “บริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรของไทย” ที่มีการเติบโตและขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยสามารถเข้ามาแทนที่บริษัทอื่นๆ ที่เคยเป็นผู้ถือครองส่วนแบ่งในอันดับต้นๆ ก่อนหน้านี้ได้เกือบทั้งหมด

2) ปัญหาระบบอาหาร

สาเหตุจากการถือครองปัจจัยการผลิต ระบบการผลิต การแปรรูป และการค้าปลีก ที่กล่ามาข้างต้น จึงเป็นที่มาของปัญหา “ทวิทุพโภชนาการ” ของโลก กล่าวคือ “เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกที่ขาดอาหาร” ลดน้อยลงไปเรื่อยๆในช่วงที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า “เปอร์เซ็นต์ประชากรอ้วนของโลก” มีอัตราการเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่า เกิดปัญหา “โภชนาการเกิน” ซึ่งมีสาเหตุจากข้อจำกัดของระบบการค้าสมัยใหม่ในการเลือกอาหารมาบริโภคได้ยากในปัจจุบัน

ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การใช้สารเคมีในระบบอาหารอุตสาหกรรม นำไปสู่ผลกระทบของการเกิดโรคที่สัมพันธ์กับอาหารและสารเคมี (โรคมะเร็งและเนื้องอก โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง) โดยพบว่า อัตราการตายของคนไทย ที่เกิดจากโรคที่สัมพันธ์กับอาหารและสารเคมีเกิดขึ้นกว่า 2 เท่า ในช่วงเวลาไม่กี่ปี (พ.ศ. 2537 – 2559)

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าสารเคมีที่นำเข้ามาในปี พ.ศ. 2560 พบว่า 59.85 ล้านกิโลกรัม เป็นไกลโฟเสท ซึ่งคาดว่าจะเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนการนำเข้า “ไกลโฟเซต” และ “พาราควอต” รวมกันแล้วมีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของสารเคมีทั้งหมดที่มีการนำเข้า นอกจากนี้ ยังพบ คลอฟอริฟอร์ท ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่ ThaiPAN ตรวจพบว่ามีการตกค้างมากที่สุดในอาหาร

            อย่างไรก็ตาม หากมองไปที่พื้นที่การผลิตอาหารทั้งหมดของประเทศไทย จะพบว่า สถานการณ์ผลิตอาหารในปัจจุบัน พื้นที่การผลิตอาหารเป็นเกษตรอินทรีย์เพียง 0.2% ในขณะที่พื้นที่เกษตรปลอดภัย (GAP) เพียง 1.4% แต่มีเป้าหมายปี พ.ศ. 2564 ภายใต้เป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่รัฐบาลกำหนดจะเพิ่มพื้นที่เกษตรยั่งยืนให้ได้ 3.3%

            หากมองที่ระบบการผลิตผัก จะพบว่า ปริมาณผักที่ผลิตได้ในปัจจุบันอยู่ที่ 2.6 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นผักอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพียง 4,800 ตัน (0.2%) ผักปลอดภัย (GAP) 150,700 ตัน (5.5%) ผักไฮโดรโปนิก 7,300 ตัน (0.3%)

            ผลการตรวจสอบผัก GAP จาก ThaiPAN พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ผักที่ผลิตในระบบ GAP มีความปลอดภัยน้อยกว่า “ผักทั่วไป” ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่รวม “ผักพื้นบ้าน” ที่ยังมีการผลิตและบริโภคในวิถีสังคมวัฒนธรรมชนบท

3) การกระจายอาหาร

– เมื่อพิจารณาระบบการกระจายอาหารของไทย พบว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2544)  สัดส่วนร้านโมเดิร์นเทรด (เช่น ร้านสะดวกซื้อ Tesco Lotus) มีเพียง 35% ของระบบการกระจายอาหารที่มีอยู่ แต่ในปี พ.ศ. 2560 กลับพบว่า สัดส่วนโมเดิร์นเทรดเพิ่มสูงขึ้นเป็น 66.4%

– การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ 1.2% ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 มีส่วนแบ่งของตลาดอีคอมเมิร์ซเพียง 0.1% แต่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเป็น 1.2% ในปี พ.ศ. 2560

– เช่นเดียวกันกับประเทศจีน ที่อีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

4) สรุปภาพรวมปัญหาของระบบอาหาร

            สถานการณ์ของระบบอาหารที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้เห็นอย่างชัดเจนถึง “ปัญหาของระบบอาหาร” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ฐานทรัพยากร (ดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ) ระบบการผลิต การกระจายอาหาร และวัฒนธรรมอาหาร