คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภูเก็ตเป็นหมุดหมายที่สำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทั้งทางบกและทะเล แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภูเก็ตส่วนใหญ่จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งเป็น “ฐานทรัพยากรร่วม” กับชุมชนดั้งเดิม เช่น ทะเล ป่าชายเลน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ฐานทรัพยากรร่วมที่เป็นฐานทรัพยากรอาหารท้องถิ่นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันถูกทำลายและลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลกระทบจากการท่องเที่ยวอย่างมีนัยยะสำคัญ

หากกล่าวถึงระบบอาหารเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต จากการประเมินของคุณพิเชษฐ์ ปานคำ ประธานกลุ่มเด็กชายเลรักษ์ป่าชายเลน พบว่าต้นทุนฐานทรัพยากร 33% อยู่ในพื้นที่ทรัพยากรร่วม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงมีการนำเข้าอาหารจากภายนอก จากการสำรวจเพียงตลาดเดียวของจังหวัดภูเก็ตพบว่ามีปริมาณอาหารที่นำเข้าจากภายนอกจำนวนสูงถึง 600 ตัน กลุ่มผู้บริโภคหลักของภูเก็ต คือ นักท่องเที่ยว การขยายตัวของนักท่องเที่ยวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบตลาดในจังหวัดภูเก็ต และส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของคนท้องถิ่น คนท้องถิ่นเข้าถึงอาหารได้ยากขึ้นเพราะราคาสินค้าสูง เช่น กะปิ จากกิโลกรัมละ 50 บาท ปรับราคาเพื่อขายนักท่องเที่ยวกิโลกรัมละ 400 บาท ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อทำให้เกิดการใช้ประโยชน์หรือดึงเอาทรัพยากรจากท้องถิ่นไปจำนวนมาก ฉะนั้นการขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารของพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวพังงาจึงอยู่บนฐานต้นทุนทรัพยากรร่วมที่ไม่ต้องลงทุนสร้างใหม่ เพียงแต่ต้องรักษาของเดิมไว้และฟื้นฟูใหม่ในพื้นที่เสื่อมโทรม
พิเชษฐ์ ปานดำ กลุ่มเด็กชายเลรักษ์ป่าชายเลน จ.ภูเก็ต
กลุ่มเด็กชายเลรักษ์ป่าชายเลนได้พยายามจัดกิจกรรมปกป้องและฟื้นฟูแหล่งอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคนิคการทำงานไปตามสถานการณ์ เช่น โครงการคืนกล้วยไม้สู่ป่าชายเลน การฟื้นฟูข้าวพื้นเมือง โดยการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนจึงทำให้รู้ว่าสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองได้หายไปจากภูเก็ตนานกว่า 20 ปี จึงเริ่มฟื้นฟูแปลงปลูกข้าวไร่ จัดกิจกรรมปลูกข้าวซึ่งไม่ใช่เพียงแค่วิธีการทำนาเท่านั้น แต่เป็นการตามรอยประวัติศาสตร์ชุมชน ความเป็นมาของชุมชนแล้วฟื้นฟูความรู้เดิมที่ขาดหายไป
กลุ่มเด็กชายเลรักษ์ป่าชายเลนตั้งอยู่ในชุมชนบ้านบางลา ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้เล็งเห็นความสำคัญของป่าชายเลนที่ช่วยลดผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิต่อชุมชน เมื่อปี 2557 จึงได้รวมกลุ่มเพื่อต่อต้านการขยายตัวของโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับกลางในเมืองเข้าไปในที่ดินสาธารณะ ต่อมาได้มีการทำข้อตกลงกับหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ตเพื่อจัดตั้งเขตรักษาป่าชายเลนที่มีการจัดการโดยชุมชนขนาด 1,200 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนชายเลนคลองท่าเรือ โดยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สามารถทำให้นากทะเลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมท้องถิ่นของภูเก็ตกลับมาอาศัยในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ชุมชนบ้านบางลายังได้ริเริ่มก่อตั้งโครงการสนับสนุนการออมและการปล่อยสินเชื่อรายย่อย (microcredit) เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและการคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนอีกด้วย ทางกลุ่มได้เปิดร้านอาหารทางเลือก เพื่อเป็นจุดกระจายอาหาร เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและสนทนาอาหารทางเลือก และเป็นชุมชนของคนที่มีเป้าหมายการชีวิตที่ดีเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็พบเจอคนในท้องถิ่นที่ตั้งคำถามต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของภูเก็ต
กลุ่มเด็กชายเลรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านบางลา จังหวัดภูเก็ต ได้รับการคัดเลือกจาก Equator Initiative ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้เป็น 1 ใน 15 ชุมชนทั่วโลกที่ได้รับรางวัล Equator Prize ประจำปี 2560 เพื่อมอบรางวัลให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมืองในภูมิภาคเขตร้อนที่มีผลงานโดดเด่นในการลดความยากจนผ่านกระบวนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
โดยสรุป เศรษฐกิจชุมชนกับความมั่นคงทางอาหาร คือ ความสำคัญของการรักษาฐานทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์ การเชื่อมร้อยกับผู้บริโภค การเข้าถึงอาหารของคนในท้องถิ่น และการยกระดับความมั่นคงทางอาหารเพื่อการพัฒนา