สิ่งที่ขาดหายไปของร่าง พ.ร.บ.ข้าว แม้ในร่างซึ่งได้ตัดเนื้อหาหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อชาวนาออกไปแล้ว แต่โดยเหตุที่ร่างกฎหมายนี้มุ่งเน้นที่การผลิตข้าวเพื่อการค้าและรวมศูนย์แบบแผนการผลิตข้าวที่ให้ความสำคัญกับการค้าข้าวและบทบาทภาคเอกชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำให้ละเลยหัวใจของสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิเกษตรกร” หรือ “สิทธิของชาวนา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นวิถีของชาวนาส่วนใหญ่ในปัจจุบัน รวมทั้งยังได้รับการรับรองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และสนธิสัญญาพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร

ตัวอย่างเช่น ในกฎหมาย THE PROTECTION OF PLANT VARIETIES AND FARMERS’ RIGHTS ACT, 2001 โดยใน CHAPTER VI FARMERS’ RIGHTS มาตรา 39 ในข้อ (iv) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า a farmer shall be deemed to be entitled to save, use, sow resow, exchange, share or sell his farm produce including seed of a variety protected under this Act in the same manner as he was entitled before the coming into force of this Act เพราะนี่คือหลักประกันของความมั่นคงทางอาหารของอินเดีย

ที่มา: BIOTHAI Facebook

การโอนอำนาจจากหน่วยงานอื่นซึ่งกำกับดูแล พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 มาเป็นอำนาจของกรมการข้าว ทำให้การซื้อขายเมล็ดพันธุ์ระหว่างชาวนาซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 21% สูงมากกว่าสัดส่วนการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวของธุรกิจเอกชน และของกรมการข้าวและศูนย์ข้าว ยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว หากไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการตรา พ.ร.บ.นี้สมควรแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อรองรับสิทธิของชาวนาในการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่น

ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับ “พันธุ์ข้าวรับรอง” ซึ่งพัฒนาโดยกรมการข้าวเอง และของเอกชน แต่ไม่มีหลักประกันว่าสายพันธุ์ข้าวซึ่งได้รับการคัดเลือกและพัฒนาจากวิถีวัฒนธรรมของชาวนาเองจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน

ความหมายของการจัดเขตศักยภาพในการปลูกข้าว และความหมายของที่นาซึ่งระบุว่าเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในพื้นที่ถูกกฎหมายเท่านั้น จะเป็นการกำจัดชาวนาชาวไร่ที่ปลูกข้าวทำไร่บนวิถีวัฒนธรรมแบบพื้นบ้านซึ่งเป็นวิถีที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความหลากหลายของพันธุ์ข้าวยิ่งไปกว่าการปลูกข้าวเชิงเดี่ยวที่ส่งเสริมสนับสนุนโดยรัฐเสียอีก

ท่ามกลางการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรเชิงเดี่ยว และวิถีวัฒนธรรมเชิงเดี่ยว วิถีวัฒนธรรมพื้นบ้านและการผลิตเชิงนิเวศ เป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนและเผชิญหน้ากับปัญหาทวิทุพโภชนาการ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความไม่มั่นคงทางอาหาร

การปลูกข้าวหลากหลายในนาผืนเล็กๆ การทำไร่หมุนเวียนที่มีสายพันธุ์ข้าวหลายร้อยสายพันธุ์ปลูกและคัดเลือก แลกเปลี่ยนระหว่างกัน รวมทั้งกลุ่มชาวนารายย่อยรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นอนุรักษ์และปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว แลกเปลี่ยนและซื้อขายกันในเครือข่าย เป็นเสมือนเครือข่ายของ “ธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าว” ที่มีชีวิต …แต่วิถีเช่นนี้กลับถูกละเลย ไม่ปรากฎอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ข้าว แต่ประการใด

ภัยคุกคามต่อชาวนาและวิถีการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโดยชาวนาซึ่งจะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมความตกลงระหว่างประเทศ เช่น UPOV1991 ก็มิได้อยู่ในความตระหนักของผู้ยกร่างกฎหมายนี้อีกเช่นกัน

ไบโอไทยเห็นความตั้งใจดีของชาวนาและตัวแทนชาวนาบางคนที่ร่วมยกร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่จำเป็นต้องพูดตรงๆไปตรงมาว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จำเป็นต้องปรับปรุงใหญ่เพื่อคุ้มครองสิทธิและสร้างหลักประกันเพื่อความอยู่รอดและความเข้มแข็งของชาวนาทั้งหมด

ที่มา: BIOTHAI Facebook