หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่จะเข้ามาผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ ในประเทศในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจาก UPOV1991 ได้ขยายสิทธิผูกขาดในพันธุ์พืชใหม่ให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์มากยิ่งไปกว่า UPOV1978 ซึ่งอนุญาตให้เกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อได้ และไม่กีดกันนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยในการเข้าถึงสายพันธุ์พืชเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ประเทศไทยได้ให้สิทธิผูกขาดการขาย นำเข้า ส่งออก แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2542 ผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งร่างขึ้นตาม UPOV1978 โดยการยื่นขอรับ “หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่” (ค.พ.2)
จากสถิติจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2563 มีสายพันธุ์พืชใหม่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว 619 สายพันธุ์ โดยบริษัทเอกชนที่ได้สิทธิครอบครองพันธุ์พืชใหม่ที่สุดคือ มอนซานโต้ และกิจการเมล็ดพันธุ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับสิทธิครอบครองพันธุ์พืชไปบริษัทละ 77 สายพันธุ์ รองลงมาคือ อีสท์เวสต์ซีดส์ ยักษ์ใหญ่จากยุโรป จำนวน 49 สายพันธุ์ สัดส่วนของบริษัทเอกชนที่ได้สิทธิในพันธุ์พืชใหม่นั้นมีสัดส่วนสูงถึง 63% ในขณะที่บุคคลทั่วไปนั้นมีสัดส่วนเพียง 9.5% เท่านั้น
การศึกษาของ Dwijen Rangnekar ที่ประมวลการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งศึกษาการนำระบบทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในเรื่องพืชพบว่า การขอรับการคุ้มครอง 68-89% อยู่ในกลุ่มผู้ยื่นรับความคุ้มครองเพียง 5% เท่านั้น ผู้ยื่นคำขอ 75-82% ไม่ได้รับการคุ้มครองแม้แต่ชิ้นเดียวระหว่างปี 1965-1995 เขาสรุปว่าการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงเป็นประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น มิใช่นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย ประเด็นไม่ได้อยู่แค่นั้น ระบบการให้สิทธิผูกขาดที่ขยายอำนาจให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นเช่น UPOV1991 จะทำให้เกิดการรวมศูนย์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

การศึกษาของ Srinivasan ยืนยันการศึกษาดังกล่าวโดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของสมาชิก UPOV 30 ประเทศ ในพืชหลักสำคัญ 6 ชนิด พบว่ามีการรวมศูนย์ของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในระดับสูง และกระบวนการแปลงเมล็ดพันธุ์ซึ่งเคยเป็นทรัพย์สินสาธารณะมาเป็นทรัพย์สินเอกชนโดยผ่านระบบกฎหมายดังกล่าว ได้เอื้ออำนวยให้เกิดการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วยกันเอง นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา
ปัจจุบันเราจึงพบได้ว่าบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของโลกไม่กี่บริษัทครอบครอบตลาดเมล็ดพันธุ์กว่า 80% ของโลก บริษัทเหล่านั้นทั้งมาลงทุนโดยตรงในประเทศไทยและร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของไทย ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์แทบทั้งหมดในสาขาพืชไร่ เช่น ข้าวโพด และผัก
หากประเทศไทยต้องยอมรับ UPOV1991 บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นจะขยายการครอบครองพันธุ์พืชนอกเหนือจากข้าวโพด และพันธุ์ผัก ซึ่งบัดนี้อยู่ในมือของพวกเขาแล้ว แต่จะรวมถึงสายพันธุ์ข้าว ไม้ผล และอื่นๆ ด้วย
ตัวเลข 63% ที่อยู่ในมือบริษัทจะเพิ่มเป็น 80-90% และอาจมีบริษัทเพียง 3-4 บริษัทเท่านั้นที่จะครอบครองสายพันธุ์พืชใหม่ดังกล่าวไว้ทั้งหมด
“เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับอาหารในจานของพวกเราทุกคนด้วย”
ที่มา: BIOTHAI Facebook