ระบบไร่หมุนเวียนเป็นหนึ่งในแบบแผนเกษตรเขตร้อนที่อนุรักษ์ดินและน้ำ แทบจะใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติทีเดียว
งานศึกษาเรื่อง Soil erosion and conservation in agroforestry systems ของ Wiersum KF (1991) จัดลำดับเปรียบเทียบระบบนิเวศการปลูกพืชต่างๆ พบว่า ระบบการปลูกพืชที่เกื้อกูลการอนุรักษ์ดินและน้ำมากที่สุดคือระบบการปลูกพืชแบบหลายชั้นแบบเดียวกับ “สวนสมรม” ในภาคใต้ของประเทศไทย เพราะพบว่าการชะล้างของดินน้อยที่สุด รองลงมาคือ ไร่เหล่า (หรือไร่หมุนเวียนตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป ) โดยทั้งสองระบบมีการชะล้างของดิน (ใช้ค่ามัธยฐาน- median) อยู่ที่ 0.06 และ 0.15 ตัน/เฮกตาร์/ปี น้อยกว่าป่าธรรมชาติเสียอีก
ส่วนการทำไร่ข้าวแบบดั้งเดิม มีอัตราการชะล้างของดิน 2.78 ตัน/เฮกตาร์/ปี น้อยกว่าระบบการปลูกป่าแบบตองยา (ปลูกพืชเกษตรระหว่างแถวไม้ยืนต้น) ซึ่งมีอัตราการชะล้างเฉลี่ย 5.23 ตัน/เฮกตาร์/ปี แต่มากกว่าการปลูกป่าที่เมื่อปลูกแล้วปล่อยให้เป็นป่าแบบธรรมชาติโดยไม่รบกวนใดๆ ซึ่งพบว่ามีอัตราการชะล้างในระดับ 0.58 ตัน/เฮกตาร์/ปี
อย่างไรก็ตามหากจัดอันดับการชะล้างดังกล่าวของกรมพัฒนาที่ดินยังถือว่าอยู่ในระดับ “น้อยมาก” (กรมพัฒนาที่ดินจัดระดับการสูญเสียดินน้อยมาก มีค่า 0-2 ตันต่อไร่ต่อปี)
ส่วนระบบการปลูกป่าไม้ที่ปล่อยให้พื้นดินเตียนโล่งนั้นมีอัตราการชะล้างของดินในระดับปานกลางคืออยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5.23 ตัน/เฮกตาร์/ปี
ระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งรวมการปลูกข้าวไร่และพืชอาหารต่างๆในปีแรกโดยมีวิธีจัดการแบบพื้นบ้านปล่อยให้ไม้ยืนต้นในไร่สามารถแตกกิ่งก้าน เติบโตเป็นผืนป่าใหม่อย่างรวดเร็วได้อีกครั้งจนถึงปีที่ 7 ถึง 10 ถูกจัดเป็นเกษตรกรรมเชิงอนุรักษ์ในแง่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงคุณค่าของระบบไร่หมุนเวียนที่สร้างความหลากหลายของพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารเกษตรและยา ซึ่งไบโอไทยได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้
การตระหนักต่อบทบาทและความสำคัญต่อจารีตและวิถีเกษตรกรรมของพี่น้องชนเผ่าปะกาเกอญอ/กะเหรี่ยง ของนานาประเทศมีเหตุผลรองรับในเชิงนิเวศเกษตรกรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
กรมพัฒนาที่ดินจัดระดับการชะล้างดินไว้ดังนี้
– การสูญเสียดินน้อยมาก มีค่า 0-2 ตันต่อไร่ต่อปี
– การสูญเสียดินน้อย มีค่า 2-5 ตันต่อไร่ต่อปี
– การสูญเสียปานกลาง มีค่า 5-20 ตันต่อไร่ต่อปี
– การสูญเสียรุนแรง มีค่า 20-100 ตันต่อไร่ต่อปี
– การสูญเสียรุนแรงมาก มีค่ามากกว่า 100 ตันต่อไร่ต่อปี