ความจำเป็นของยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร
วิกฤตอาหารกำลังเป็นประเด็นสำคัญของโลก ไม่ใช่แค่ประเทศยากจนในแถบแอฟริกาที่วนเวียนอยู่กับปัญหานี้เท่านั้น ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาแล้ว ก็เริ่มโดนผลกระทบเนื่องจากราคาค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้รัฐบาลนานาประเทศเริ่มมีการขยับ สำหรับการวางแผนระยะยาวเพื่อรับมือกับปัญหานี้
เช่นเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ได้ประกาศแผนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวบนเกาะบอร์เนียวเพื่อรับมือกับวิกฤติอาหารขาดแคลนที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้จัดสรรงบประมาณกว่า 4,000 ล้านริงกิต เพื่อดำเนินแผนเพิ่มการปลูกข้าว ผักและผลไม้ในรัฐซาราวัก บนเกาะบอร์เนียว
ซึ่งนโยบายดังกล่าวประกาศขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังรัฐบาลชนะการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเป็นบรรเทาความไม่พอใจของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการเมืองและสังคม โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพสูง อาหารและน้ำมันแพง ที่ทำให้คะแนนนิยมรัฐบาลตกต่ำเป็นประวัติการณ์ — แต่ทั้งนี้ผู้นำมาเลเซียไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนนี้มากนัก ว่าการสร้างพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่นี้จะต้องแปรสวนปาล์มและพื้นที่ที่เป็นป่าให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว [1]
สำหรับประเทศไทยก็เริ่มมีการขยับตัวเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ทางด้านอาหารในประเทศที่พบว่า ราคาอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องมาจากปัญหาเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงพื้นที่ปละผลิตผลทางการเกษตรส่วนหนึ่งถูกนำเข้าไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้นำเสนอวาระเรื่อง “การจัดทำยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารและพลังงาน” ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 22 เมษายน เพื่อให้ที่ประชุมเตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ [2]
จากสถานการณ์การผลิตสินค้าอาหารของโลกที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะข้าว ทำให้บางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไม่สามารถผลิตได้ตามปกติ และประเทศที่เคยส่งออกข้าวที่สำคัญ เช่น เวียดนาม อินเดีย ประสบปัญหาผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการส่งออก รวมทั้งมีการนำพืช อาหาร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการอาหารและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้พืชที่เป็นอาหารที่ราคาสูงขึ้น และเกิดปัญหาการวิตกกังวลเรื่องวิกฤตอาหารขาดแคลนนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะดูแลด้านการผลิตสินค้าอาหารเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตและมีโอกาสเป็นผู้อำนวยการผลิตอาหารโลก จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์และมีข้อเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้
1.สถานการณ์การผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญ
- ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตร 130.28 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.62 ของพื้นที่ทั้งประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 320.7 ล้านไร่ ในจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรดังกล่าวเป็นพื้นที่นาประมาณ 63.4 ล้านไร่ โดยแต่ละปีปลูกข้าวนาปีประมาณ 57 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 11 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่พืชไร่มีประมาณ 27.5 ล้านไร่ พื้นที่ไม้ผลยืนต้น 27.7 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพืชอื่นๆ
- ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่สำคัญรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ทุเรียน ลำไย มังคุด สับปะรด เป็นต้น และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกในสินค้าอาหารที่สำคัญได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และผลไม้ นอกจากนี้ บางสินค้า เช่น น้ำตาล ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 ของโลก
- ผลผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญของไทยทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ส่วนใหญ่มีปริมาณผลผลิตพอเพียงกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และมีเหลือส่งออกนำรายได้เข้าสู่ประเทศมาโดยตลอด นอกจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และโคเนื้อที่มีปริมาณผลิตใกล้เคียงกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ
สำหรับปี 2551 คาดว่าสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้สินค้าอาหารสำคัญของไทยมีดังนี้
พืชไร่และพืชพลังงาน
- ข้าว ผลิตได้ 30.93 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 16.94 ล้านตัน หรือร้อยละ 55 ของผลผลิต ส่งออก 13.26 ล้านตัน หรือร้อยละ 45 ของผลผลิต
- มันสำปะหลัง ผลิตได้ 27.40 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศในรูปปันเส้นเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และในรูปแป้งมันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหารสารความหวาน กระดาษ สิ่งทอ เป็นต้น 8.55 ล้านตัน หรือร้อยละ 30 ของผลผลิต และส่งออกในรูปมันเส้น มันอัดเม็ดและแป้งมันสำปะหลัง 19.10 ล้านตัน เป็นร้อยละ 70 ของผลผลิต
- อ้อยโรงงาน ผลิตได้ 86 ล้านตัน หรือในรูปน้ำตาล 7 ล้านตัน เป็นความต้องการบริโภคภายในประเทศ 2 ล้านตัน หรือร้อยละ 29 ของผลผลิต และส่งออก 5 ล้านตัน หรือร้อยละ 71 ของผลผลิต
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลิตได้ 3.60 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตภายในประเทศ เพื่อใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
- ปาล์มน้ำมัน ผลิตได้ 7.873 ล้านตัน หรือในรูปน้ำมันปาล์มดิบ 1.40 ล้านตัน ซึ่งเป็นการบริโภคภายในประเทศในรูปน้ำมัน 0.90 ล้านตัน และเพื่อผลิตไบโอดีเซล 0.36 ล้านตัน และส่งออก 0.10 ล้านตัน
ผลไม้
- สับปะรด ผลิตได้ 2.25 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 0.3 ล้านตัน และส่งออกในรูปสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด 1.95 ล้านตัน
- ลำไย ผลิตได้ 0.50 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 0.05 ล้านตัน และส่งออกในรูปลำไยสดและผลิตภัณฑ์ 0.45 ล้านตัน
- ทุเรียน ผลิตได้ 0.74 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 0.35 ล้านตัน และส่งออกในรูปทุเรียนแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ 0.39 ตัน
- มังคุด ผลิตได้ 0.30 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 0.23 ล้านตัน และส่งออกในรูปมังคุดสด มังคุดแช่แข็ง 0.07 ล้านตัน
ปศุสัตว์และประมง
- สุกร ผลิตได้ 14.06 ล้านตัว หรือ 1.12 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 1.01 ล้านตัน และส่งออก 0.012 ล้านตัน
- ไก่เนื้อ ผลิตได้ 000.17 ล้านตัว หรือ 1.13 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 0.80 ล้านตัน และส่งออก 0.33 ล้านตัน
- ไข่ไก่ ผลิตได้ 9.341 ล้านฟอง ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 9,141 ล้านฟอง และส่งออก 200 ล้านฟอง
- โคเนื้อ ผลิตได้ 1.27 ล้านตัว หรือ 0.183 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 0.180 ล้านตัน
- กุ้งเพาะเลี้ยง ผลิตได้ 0.5 ล้านตัน ความต้องการบริโภคภายในประเทศ 0.075 ล้านตัน และส่งออก 0.37 ล้านตัน
2.สถานการณ์พืชพลังงาน
พืชอาหารและพลังงานที่สำคัญของไทย ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน มีปริมาณผลผลิตเพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม จากความต้องการทั้งด้านอาหารและพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น นโยบายสำคัญเน้นการรักษาระดับพื้นที่ปลูก แต่ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยการใช้พันธุ์ดี และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี กำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่อย่างน้อยร้อยละ 10 สำหรับสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้เพื่อเป็นพลังงาน มีดังนี้
- มันสำปะหลัง คงพื้นที่ปลูกที่ 7.4 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 3.7 ตัน เป็น 4.7 ตัน โดยมีสัดส่วนพื้นที่เพื่อพลังงาน (ความต้องการพลังงาน) ร้อยละ 8.4 ของพื้นที่ปลูก (0.62 ล้านไร่)
- อ้อยโรงงาน คงพื้นที่ปลูกที่ 6.0 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 11.0 ตัน เป็น 12.0 ตัน โดยมีสัดส่วนพื้นที่เพื่อพลังงาน (ความต้องการพลังงาน) ร้อยละ 2.5 ของพื้นที่ปลูก (0.15 ล้านไร่)
- ปาล์มน้ำมัน ขยายพื้นที่ปลูกจาก 3.0 ล้านไร่ เป็น 5.5 ล้านไร่ ในเขตนาร้าง ไร่ร้าง และพื้นที่เสื่อมโทรม เพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 3.0 ตัน เป็น 3.5 ตัน โดยมีสัดส่วนพื้นที่เพื่อพลังงาน (ความต้องการพลังงาน) ร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูก (1.00 ล้านไร่)
3.ปัญหา
- จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากำลังการผลิต ส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายประเทศในโลกได้มีนโยบายส่งเสริมการประหยัดพลังงานโดยการใช้พืชพลังงานทดแทน เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ทำให้มีการแย่งพื้นที่ปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานทดแทนผลิตพืชให้น้ำมันรับกระแสพลังงานทางเลือกอย่างเอทานอลและรับไบโอดีเซล
- พืชอาหารสำคัญหลายชนิด ซึ่งเคยใช้เพื่อเป็นอาหาร หรือเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น แป้งจากมันสำปะหลัง น้ำมันจากปาล์มน้ำมัน น้ำตาลจากอ้อยโรงงาน เป็นต้น ได้ถูกนำบางส่วนไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตพลังงานทดแทน ทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น
- จากการผลิตพืชพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอาหารที่มีปริมาณผลผลิตลดน้อยลง ในขณะที่ความต้องการอาหารในตลาดโลกมีสูง ทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตอาหารจากพืชและสัตว์เพียงพอกับความต้องการสำหรับประชากรภายในประเทศ และมีเหลือส่งออกเลี้ยงประชากรโลกได้ แต่หากมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งออก โดยไม่พิจารณาสถานการณ์ในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งค่าครองชีพอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา อาจส่งผลให้เกิดปัญหาวิกฤตอาหารขาดแคลนในประเทศได้
- จากการเปลี่ยนแปลงด้านกลไกตลาดและสภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้ราคาข้าวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าอาจจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เป็นตัวเงิน (Nominal income) เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อราคาสินค้าอาหารพื้นฐานในประเทศสูงขึ้น ย่อมจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ตามมา ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงกว่ารายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้รายได้ที่แท้จริง (Real income) ของเกษตรกรลดลง

4.ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
เพื่อเป็นการเตรียมรองรับปัญหาวิกฤตอาหารและพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
- กำหนดเป็นหลักการให้เรื่องวิกฤตอาหารและพลังงานเป็นวาระแห่งชาติ
- ให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารและพลังงาน
ครม. เห็นชอบ ตั้งคณะกรรมการ “ควบคุม-ขยาย-เข้มงวด” เกี่ยวกับพื้นที่ทางการเกษตร
ซึ่งจากนั้น ในวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็มีมติ การจัดทำยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารโลกและพลังงานตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ (ข้อเสนอจาก สศช. ดังที่ได้กล่าวไป) โดยได้กำหนดเป็นหลักการให้เรื่องวิกฤตอาหารโลกและพลังงานเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ และให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเรื่องอาหารและพลังงาน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย) เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ [3]
- เสนอยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางการพัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าอาหารและพลังงานต่อคณะรัฐมนตรี
- กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการ และเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต การจำหน่าย การส่งออก และ ใช้ทดแทนพลังงาน รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตสินค้าอาหารและพลังงาน
- สนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านการผลิตอาหารชนิดพืช พลังงานทดแทน การปรับปรุงพันธุ์ การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า และการตลาด
- สนับสนุนระบบการขนส่ง (logistics) และการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและพลังงานจากพืชทดแทน และการแปรรูปต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสินค้าเกษตรปฐมภูมิ
- มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานตามความจำเป็น
ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเรื่องอาหารและพลังงานรองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารและพลังงานโลกขึ้นมาดูแล โดยมีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดมาตรการและแนวทางพัฒนาการผลิตและการตลาดของสินค้าอาหารและพลังงาน รวมถึงสนับสนุนการศึกษาวิจัย แปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่ชัดเจนระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ดูแลเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการเช่าพื้นที่ทำการเกษตร ควบคุมปริมาณการผลิตออกสู่ตลาด ทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารในราคาพอเหมาะ และถ้าสามารถผลิตพืชทดแทนมาเป็นพลังงานได้ เราก็จะลดนำเข้าสินค้าพลังงาน [4]
ส่วนการขยายพื้นที่เพาะปลูก มติ ครม.เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีแสดงความคิดเห็น โดยให้จัดหาที่ดินให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง โดยให้กระทรวงการคลังไปสำรวจพื้นที่ราชพัสดุทั่วประเทศ ที่ไม่ได้ใช้ทำกิจกรรม ไม่อยู่ในเขตป่าสงวน ให้นำมาจัดสรรให้เกษตรกรเช่าปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานในอัตรา 20 บาทต่อปี [5]
รวมถึงมีการมีการกระตุ้นกระทรวงมหาดไทยบังคับใช้ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตร 2524 อย่างเข้มงวด ป้องกันไม่ให้เจ้าของที่ดินบอกเลิกสัญญากับเกษตรกรอย่างกะทันหัน เพื่อฉวยโอกาสในช่วงราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้เกษตรกรเดือดร้อน เพราะหากเจ้าของที่ทำผิดกฎหมายมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 50,000-500,000บาท [6]
มองดูยุทธศาสตร์ CP ไม่กดสินค้าเกษตร รวมศูนย์พื้นที่ผลิตแบบทุนนิยม
ก่อนหน้านี้ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร และประธานกรรมการ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ได้เสนอวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” เมื่อที่ 6 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ หน่วยงานเทคโนแครตที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการกำหนดนโยบายของประเทศ

ยุทธศาสตร์ของเจ้าของบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรอันดับหนึ่งของประเทศไทยนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ในหลายๆ ประเด็น เช่น ควรกดราคาพืชผลทางการเกษตรเพื่อรับวิกฤตอาหารหรือไม่? และการบริหารจัดการกับอุตสาหกรรมเกษตรในสายตาของ CP เป็นอย่างไร? โดยธนินท์ได้เสนอทัศนะดังนี้ [7]
ในประเด็นราคาสินค้าเกษตร ธนินท์ ได้เสนอนอกมิติการทำให้สินค้าเกษตรที่นำมาเป็นอาหารถูกลงเพียงอย่างเดียว แต่เขาได้เสนอการเพิ่มกำลังจับจ่ายของประชาชน แทนที่การกดราคาสินค้าเกษตร และรัฐต้องทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น ที่เขาเรียกว่า “นโยบาย 2 สูง” มาใช้ โดยธนินท์คาดหวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ เกษตรกรก็จะมีเงินไปจับจ่าย ธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการปัญหาทางตรง
รวมถึงแนวทางการปฏิรูปพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรนั้น ธนินท์ เห็นว่าควรมีการปฏิรูปที่ดิน โดยการพัฒนาระบบชลประทาน ปรับปรุงดิน หาเมล็ดพันธุ์ที่ดี ใช้เทคโนโลยีทันสมัย จะช่วยให้ได้รับผลผลิตที่สูงขึ้นและมีความเสี่ยงน้อย รวมทั้งพิจารณาการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มเพื่อเพิ่มรายได้ของภาคเกษตรกรรม

โดยประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตร 130 ล้านไร่ มีพื้นที่ทำนา 67ล้านไร่ ธนินท์เห็นว่าควรแบ่งเอาพื้นที่จำนวน 25 ล้านไร่ มาปฏิรูปให้มีระบบชลประทานทันสมัยและครบถ้วนเพื่อใช้ปลูกข้าว หาพันธุ์ข้าวที่ดี เอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ จะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สูงขึ้นประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 30 ล้านไร่ใช้ปลูกยางพาราเพราะจีน อินเดีย ยุโรปตะวันออก มีความต้องการใช้ยางพารามากขึ้น ทำให้ยางพารามีราคาสูงขึ้น และพื้นที่อีก 12 ล้านไร่ซึ่งเป็นที่ลุ่มควรใช้ปลูกปาล์มเนื่องจากราคาปาล์มจะมีราคาเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ในทัศนะของธนินท์ ยังเห็นว่าควรมีการส่งเสริมการสร้างผลผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร มีการวางแผนอย่างรอบคอบระมัดระวัง เข้าใจถึงกลไกการตลาด เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเพราะเป็นสิ่งที่มีชีวิต และถ้ามีการผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมด้วยแล้ว ยิ่งต้องวางแผนตั้งแต่เริ่มต้นของการทำการเกษตรจนถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปทั้งนี้ จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
อ้างอิง
[1] มาเลย์ผุดแผนอู่ข้าวแก้วิกฤติอาหาร, ไทยรัฐ – 21 เมษายน 2551
[2] เปิดรายงาน ครม. รับมือวิกฤตอาหาร-พลังงาน, มติชน – 22 เมษายน 2551
[3] สรุปการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 เมษายน 2551
[4] ครม.ขอ12ปีใช้หมื่นล้านขึ้นมหาอำนาจทางเกษตร, แนวหน้า 22 เมษายน 2551
[5] อ้างแล้ว
[6] อ้างแล้ว
[7] ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย, บางกอกทูเดย์ – 18 มีนาคม 2551 และ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในมุมมองของ “เจ้าสัวซีพี”, สยามรัฐ – 30 มีนาคม 2551