หากทศวรรษที่ผ่านมา ภาพรวมของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอยู่ที่การสร้างอัตลักษณ์ของตนเองและสร้างความแตกต่างระหว่างงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับงานวิจัยประเภทอื่นๆ ทั้งในแง่วิธีวิทยา กระบวนการ และเป้าหมายของการวิจัย ในทัศนะของผู้เขียน ทศวรรษต่อไปของชุมชนวิจัยนี้คือการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลง รับมือและตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ และการพัฒนาที่เกิดจากอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองจากส่วนกลาง
การเปลี่ยนแปลงและวิกฤติการณ์
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญอะไรเกิดขึ้น และในทศวรรษที่จะมาถึงนี้ชุมชนท้องถิ่นจะเผชิญหน้ากับอะไรบ้าง ?
1. การเปลี่ยนแปลงการผลิตในภาคการเกษตรและผลกระทบต่อเกษตรกร
- การผลิตแบบบรรษัทเข้ามามีบทบาทในการผลิตสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ การผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยจะถูกแทนที่ด้วยการผลิตแบบบรรษัทซึ่งไม่ต้องการใช้แรงงานเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น การเลี้ยงไก่ของประเทศไทยนั้นใช้เกษตรกรเพียง 7,500 ครอบครัวเท่านั้น ในขณะที่การเลี้ยงกุ้งแบบสมัยใหม่ใช้คนเพียง 30,000 ครอบครัว [1] เกษตรกรถูกผลักไสให้ออกไปจากภาคเกษตรกรรมหรืออาจจะยังอาศัยอยู่ในท้องถิ่นแต่ต้องอยู่รอดด้วยการประกอบอาชีพอื่นจำนวนเกษตรกรที่เคยมีมากกว่าครึ่งหนึ่งลดเหลือเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากร และเวลาในการทำการเกษตรของเกษตรกรรายย่อยยิ่งน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้แรงงานทั้งหมด
- คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงจะรุนแรงยิ่งขึ้นในทศวรรษข้างหน้า เพราะบรรษัทกำลังรุกคืบเข้าไปควบคุมการทำนาซึ่งเป็นหัวใจของระบบการผลิตอาหาร เช่นเดียวกับที่ประสบผลสำเร็จในสาขาพืชผัก พืชไร่ และเลี้ยงสัตว์ โดยผลักดันให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงระบบการปลูกข้าว โดยหันมาใช้พันธุ์ข้าวลูกผสมที่ไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ข้าวไว้ได้อีกต่อไป[2] เกษตรกรจำนวนมากที่เหลืออยู่จะกลายสภาพเป็นเกษตรกรรับจ้างในระบบพันธสัญญา หรือตกอยู่ภายใต้พันธนาการเพราะต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต และระบบตลาดของบรรษัท
2. การเปิดเขตการค้าเสรีกับนานาประเทศ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ลงนามในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับประเทศจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี ลงนามในความร่วมมือ ACMECS กับประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน เข้าสู่กระบวนการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกำลังสานต่อการเจราเอฟทีเอกับยุโรปและสหรัฐอเมริกา กระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง
บรรษัทขนาดใหญ่ขานรับและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะพวกเขาสามารถนำข้าวโพด ถั่วเหลือง นม เนื้อ และอื่นๆเข้ามาโดยเสียภาษีน้อยที่สุดจนไม่ต้องมีกำแพงภาษีหรือโควต้า บรรษัทเหล่านี้ประกาศอย่างอหังการ์ว่าทรัพยากรและตลาดทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกเป็นของเขา ในขณะที่แรงงานที่ระบบเกษตรไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไปนั้น ควรไปเป็นพยาบาลดูแลคนป่วย คนครัว และหมอนวด(แผนไทย)ในต่างประเทศ และหากจะให้ดีกว่านี้เจ้าสัวคนดังยังเสนอว่า เราควรให้สัญชาติไทยแก่คนต่างชาติที่มีการศึกษาดีสัก 100,000 คน ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศ”ไฮเทค”ได้โดยไม่ต้องลงทุนพัฒนาการศึกษาเอง[3]
3. อาหารและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในกำมือบรรษัท
นอกเหนือจากระบบการผลิตแล้ว ระบบการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบค้าปลีกได้ถูกครอบครองโดยบรรษัท ดิสเคาท์สโตร์และคอนวีเนี่ยนสโตร์กระจายยึดครองถนนและสี่แยกสำคัญในกรุงเทพ ขยายเข้าไปในท้องถิ่น และรุกคืบเข้าไปถึงระดับหมู่บ้าน
ประมาณการว่าตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายอยู่ในมือของ “โมเดอร์เทรด” เหล่านี้แล้ว และกำลังขยายออกไปควบคุมตลาดส่วนใหญ่ได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ร้านค้าปลีกรายย่อย ตลาดสด ตลาดนัด แผงข้างถนน ถูกเบียดขับออกไปอย่างรวดเร็ว ขณะนี้บรรษัทเหล่านี้กำลังผลิตสินค้ายี่ห้อของตัวเองในสัดส่วนมากขึ้นๆ เช่นเดียวกับเริ่มต้นจ้างให้เกษตรกรทำการเกษตรในระบบพันธสัญญาเพื่อป้อนตลาดของตน
ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อประกาศว่าเครือข่ายร้านค้าของพวกเขานั้นมิใช่แค่เพียงเป็นร้านคอนวีเนี่ยนสโตร์ แต่เป็น “คอนวีเนี่ยนฟู้ดสโตร์”[4] นั่นหมายความว่าบทบาทของบรรษัทจะมิใช่แค่เพียงควบคุมระบบการผลิตอาหารเท่านั้นแต่เป็นควบคุมการกระจายอาหาร รวมถึงกำหนดวัฒนธรรมอาหารในท้ายที่สุดด้วย
ผลกระทบที่ลึกซึ้งที่เรามองไม่ค่อยเห็น ได้แก่การควบคุมระบบการตลาดดังกล่าว ส่งผลต่อระบบอาหารและวัฒนธรรมอาหารของท้องถิ่นทั้งระบบ เช่น ไม่มีพื้นที่สำหรับผักพื้นบ้านต่างๆ การลดลงของความหลากหลายของอาหารท้องถิ่น รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคที่จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามการกำหนดของบรรษัท สถานะของระบบอาหารและวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นจะเป็นอย่างไรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ ?
4. วิกฤติอาหารและพลังงาน[5]
อาจเป็นทั้งโชคดีและโชคร้ายที่เรามีโอกาสได้เห็นวิกฤติอาหารและพลังงานเมื่อปลายปี 2550-ต้นปี 2551 แม้คนจำนวนมากลืมเลือนปัญหาใหญ่นี้ไปชั่วขณะเพราะปัญหาความต้องการพลังงานลดลงชั่วคราวอันเป็นผลจากวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่ปัญหานี้คือวิกฤติการณ์ใหญ่ที่แท้จริงซึ่งจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างถาวรตลอดระยะเวลาหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้านี้[6] องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายของสหรัฐคาดหมายว่าระบบเศรษฐกิจโลกที่ยืนอยู่บนฐานของเชื้อเฟลิงฟอสซิลจะเปลี่ยนแปลงโดยสมบูรณ์ภายในอีกสองทศวรรษข้างหน้า
ปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญคือการขยายตัวของการปลูกพืชพลังงาน การลงทุนจากต่างชาติและบรรษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาแย่งชิงที่ดิน น้ำ และทรัพยากรชีวภาพของคนในท้องถิ่น เพื่อรองรับกระบวนการย้ายฐานของพลังงานดังกล่าว
5. วิกฤติเศรษฐกิจ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้พบวิกฤติการณ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจถึงสองครั้ง ครั้งแรกนั้นเริ่มต้นจากในประเทศของเราเองและลุกลามกลายเป็นวิกฤติของภูมิภาค ในขณะที่ครั้งหลัง เกิดขึ้นในประเทศศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลก ทั้งสองครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากสถาบันทางการเงินต้องการกำไรเกินพอดีปล่อยกู้แก่ผู้บริโภคที่มีความต้องการเกินตัว หรืออีกนัยหนึ่งมีสาเหตุมาจากความโลภของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลและความโลภของระบบและสถาบันที่มนุษย์สร้างขึ้น น่าแปลกที่วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมิได้นำไปสู่การแก้ปัญหาที่รากฐานของวิกฤติการณ์แต่ประการ เช่น การสร้างเศรษฐกิจภายในที่แข็งแกร่ง ทั้งในด้านการลงทุน การตลาด และการบริโภค โดยไม่ผูกติดกับต่างประเทศ
หากรัฐบาลในอดีตทำผิดพลาดในการเอาเงินสำรองไปต่อสู้กับการเก็งกำไรค่าเงิน รัฐบาลปัจจุบันอาจทำผิดพลาดซ้ำสองโดยเอาเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภค โดยมิได้ตระหนักว่าการพัฒนาที่เอาประเทศไปผูกติดและพึ่งพาต่างประเทศทั้งในเรื่องการเงิน การลงทุน วัตถุดิบ และตลาดนั้นทำให้เราหาทางแก้ปัญหาของตัวเองได้น้อยลงๆทุกที

ที่มา : BIOTHAI Facebook
ข้อเสนอสำหรับการวิจัย
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในทศวรรษหน้าคือการทำความเข้าใจ รับมือ และตอบโต้กับคลื่นของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งในฐานะผู้ถูกระทำและในฐานะผู้กระทำด้วย ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นที่นิวยอร์ค หรือกรุงเทพ ก็จะเป็นโอกาสของแม่ลานคำ แม่กลอง บางปลาม้า สทิงพระ และสายบุรี ไปพร้อมๆกันด้วย ตราบใดที่ชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ถูกผนวกกันจนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมือง
ข้อเสนอนำร่องสำหรับการถกเถียงเพื่อแสวงหาทิศทางของการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในทศวรรษหน้า ควรจะประกอบไปด้วยเนื้อหาดังต่อไปนี้
1.การพึ่งพาตนเองในเรื่องเกษตรกรรม และอาหาร
เมื่อวิกฤติอาหาร พลังงาน และวิกฤติเศรษฐกิจปรากฏอยู่ข้างหน้า การสร้างระบบการพึ่งพาตนเองในเรื่องเกษตรกรรมและอาหารเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของคนในท้องถิ่น ดังการศึกษาพบว่าคนจนส่วนใหญ่นั้นมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด การสร้างระบบเกษตรกรรมที่ผลิตอาหารได้เพียงพอเป็นคำตอบของวิกฤติที่เกิดขึ้น
เกษตรกรรมยั่งยืนที่ไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมี และสารกำจัดศัตรูพืช รวมไปถึงการพัฒนาพันธุ์พืชขึ้นมาใช้เองต้องเป็นวาระหลักของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่ได้มีการดำเนินการมาบ้างแล้วในทศวรรษที่ผ่านมา
การพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารไม่ใช่ดำเนินการสำหรับครอบครัวเกษตรกรเท่านั้น เพราะในทศวรรษหน้าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีจำนวนมากเท่าๆกับในชนบท และแม้แต่สมาชิกในท้องถิ่นก็ประกอบไปด้วยประชากรที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลย การวิจัยเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารควรขยายขอบเขตไปถึงเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคในเมือง หรือกับแรงงาน เช่น การสร้างระบบ CSA (Community Support Agriculture) ขึ้นเป็นต้น
2.พลังงานบนฐานชีวภาพ
การร่วงโรยของยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล คือโอกาสของการฟื้นฟู และพัฒนาพลังงานบนฐานชีวภาพ ชุมชนท้องถิ่นและสังคมไทยต้องตระหนักว่าต้องเปลี่ยนวิกฤติการณ์เรื่องพลังงานให้กลายเป็นโอกาสของตนเอง โดยไม่ปล่อยให้บรรษัทและต่างชาติเข้ามาหยิบฉวยจากทรัพยากรและภูมิปัญญาของเราเหมือนดังในอดีต
พลังงานบนฐานชีวภาพมีขอบเขตกว้างขวางตั้งแต่การหันกลับไปใช้ชีวมวลแบบเดิม พืชพลังงาน(ซึ่งไม่ใช่พืชพลังงานที่ตอบสนองอุตสาหกรรม แบบปาล์มน้ำมัน เท่านั้น) การใช้จุลินทรีย์เพื่อย่อยเซลลูโลสหรือผลิตแกสชีวภาพ และอื่นๆ ชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสมากที่สุดที่จะสร้างต้นแบบของชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ในเรื่องพลังงาน โดยการวิจัยของท้องถิ่นอาจเป็นไปทั้งในสำรวจพืชพลังงานใหม่ๆ จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ระบบการผลิตอาหารที่สมดุลกับตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน การสร้างต้นแบบฟาร์ม หรือชุมชนที่พึ่งพาตนเองในด้านพลังงาน เป็นต้น
3.ตอบโต้ระบบตลาดใหม่และวัฒนธรรมอาหารสมัยใหม่ด้วยขบวนการอาหารท้องถิ่น
โมเดอร์นเทรด อาหารจากร้านสะดวกซื้อ และเฟรนไชส์อาหารตะวันตกรูปแบบต่างๆเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันแม้จะสามารถเข้ามาเบียดขับระบบอาหารและวัฒนธรรมอาหารของท้องถิ่นได้ แต่โมเดอร์นเทรดเหล่านี้มีจุดอ่อนอยู่มาก เพราะโดยทั่วไปแล้วนอกจาก “ขายแพงกว่า หลากหลายน้อยกว่า”[7] ดังคำกล่าวจากปากของผู้บริหารกิจการเหล่านี้เองแล้ว คุณภาพยังแย่กว่า และเกื้อกูลต่อ “สุขภาวะ” น้อยกว่าระบบอาหารจากท้องถิ่น ตัวอย่างง่ายๆคือการเปรียบเทียบระหว่าง น้ำพริกกับแฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น[8]
งานวิจัยท้องถิ่นต้องใช้กระบวนการวิจัยเพื่อเปิดเผยความจริงเหล่านี้ออกมาให้สมาชิกในชุมชนเอง รวมทั้งสังคมไทยโดยรวมให้ตาสว่าง อีกทั้งแสดงคุณค่าของข้าวพื้นบ้านและอาหารท้องถิ่นให้เป็นที่ประจักษ์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ไม่หลงไหลไปกับการชวนเชื่อเรื่องโภชนาการจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมของบรรษัท
4.งานวิจัยท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางนโยบายและการสร้างขบวนการท้องถิ่น
งานวิจัยท้องถิ่นไม่ควรจำกัดการหาคำตอบหรือแสวงหานวัตกรรมเฉพาะเรื่องการกินอยู่ของท้องถิ่นเท่านั้น แต่ควรนำมาใช้ในการขับเคลื่อนทางนโยบายด้วย หรือนัยหนึ่ง ควรให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมของการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายไปพร้อมๆกัน งานวิจัยในเรื่องเหล่านี้อาจดำเนินการได้หลายๆแบบ เช่น การต่อยอดหรือเชื่อมโยงการวิจัยในเรื่องเดียวๆกันให้มีลักษณะเป็นภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายในระดับที่ใหญ่กว่าท้องถิ่น ( เช่น เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ เครือข่ายการจัดการป่าไม้ เป็นต้น) การติดตามหรือเปิดเผยความจริงที่เป็นผลจากการคุกคามจากภายนอก ( เช่น การเข้ามาถือครองที่ดินโดยต่างชาติ การรวมศูนย์การจัดการทรัพยากรโดยส่วนกลาง ) การประเมินผลของความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศจากมุมมองของท้องถิ่น[9] หรือการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของท้องถิ่นกับท้องถิ่นในระดับข้ามประเทศ เป็นต้น
ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้แสดงให้เห็นว่าก้าวมาถูกทางและได้รับการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ขบวนการของงานวิจัยนี้จะถูกจับตามากขึ้นว่าจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและวิกฤติการณ์ที่รออยู่เบื้องหน้า
[1] ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2550
[2] รายงานวิเคราะห์เรื่องข้าวลูกผสมของมูลนิธิชีววิถี 2551
[3] http://www.cpfworldwide.com/th/mdcntr/press_release_detail.aspx?id=540
[4] คำอภิปรายของนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ในการอภริปรายครบรอบ 60 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 21 มกราคม 2552
[5] ผู้เขียนเคยวิเคราะห์และเสนอแนะเรื่องนี้โดยตรงแล้วในบทความชื่อ “ข้อเสนอสำหรับประเทศไทยเพื่อให้พ้นภัยวิกฤติอาหาร”
[6] อ่านคาดการณ์เรื่องปริมาณน้ำมันได้จาก Terrence McNally, “How Many Earth Days Do We Have Left?”, AlterNet, posted 22 April 2008, www. alternet.org/module/printversion/83032; Kelpie Wilson, “Peak Oil and Politicians”, Truthout, posted 17 May 2008, www.truthout.org/docs_2006/printer_051708A.shtml
[7] คำอภิปรายของนายก่อศักดิ์ รัศมีภักดิ์ (อ้างแล้ว)
[8] โปรดอ่านบทความของมูลนิธิชีววิถีเรื่อง น้ำพริกสู้โลกาภิวัตน์
[9] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติให้การทำความตกลงระหว่างประเทศต้องเปิดเผยและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง