วิกฤติการณ์ข้าวของโลกซึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาสภาพอากาศของประเทศที่ปลูกข้าวรายใหญ่ของโลก เช่น จีน บังคลาเทศ และเวียดนาม รวมทั้งปัญหาราคาอาหารที่มีราคาสูงขึ้นอันเกิดจากความต้องการพืชอาหารเพื่อนำไปใช้เป็นพืชพลังงาน  ส่งผลให้ราคาข้าวและราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นเป็น 2 เท่าหรือมากกว่านั้นในอนาคตอันใกล้ สถานการณ์ดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและวิกฤติการณ์สำหรับเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมของไทย

วิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้น หากไม่มีการวางนโยบายที่เหมาะสมนั้นจะเกิดขึ้น ดังนี้

1.การระบาดของแมลงศัตรูพืชอย่างรุนแรงนับล้านไร่ที่กระทบต่อเกษตรกรโดยตรง

แม้ว่าขณะนี้จะพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่แคบๆก็ตาม แต่มีโอกาสสูงมากที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะระบาดรุนแรงนับล้านไร่ ตามวัฎจักรของเกษตรกรรมแบบเคมีซึ่งจะมีการระบาดรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทุกๆ 7-10 ปี

กราฟแสดงการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในประเทศไทย (ล้านไร่)

โดยในอดีตเกิดการระบาดรุนแรงมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2523 มีพื้นที่การระบาดประมาณ 600,000 ไร่ ปี 2535 มีการระบาดสูงถึง 3.5 ล้านไร่ และปี 2541 มีการระบาดในพื้นที่กว่า 1.8 ล้านไร่ โดยในสถานการณ์ที่ข้าวมีราคาสูงนั้นยิ่งจะทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เพราะแรงจูงใจด้านราคาจะทำให้ชาวนาปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง วงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดไม่ถูกรบกวน ในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากจะยิ่งทำให้ข้าวอ่อนแอลง ทำให้เกิดการระบาดที่สร้างความเสียหายเป็นปริมาณกว้าง

เกษตรกรนอกจากจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว หากมีการนำเอาสารเคมีที่มีพิษภัยร้ายแรงเข้ามาใช้เหมือนการระบาดในอดีต จะทำให้เกิดปัญหาผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทั้งสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย

2) เกษตรกรไร้ที่ดินจะถูกขับออกจากพื้นที่ทำกินและทำให้เกิดวิกฤติเรื่องที่ดินทำกิน

ราคาข้าวและสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นนั้นจะเป็นโอกาสของเกษตรกรที่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่เกษตรกรที่ต้องเช่าที่ดินจะได้ประโยชน์น้อย และมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกขับออกจากที่ดินของตนเอง ดังที่ขณะนี้ราคาค่าเช่าที่ดินในบางพื้นที่นั้นเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว  จากสถิติเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินถึง 811,871 ครอบครัว และมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ต้องเช่าที่ดินทำกิน จำนวน 1-1.5 ล้านครอบครัว[1]เมื่อราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นจะทำให้เจ้าของที่ดินหันมาลงทุนทำเกษตรกรรมเสียเอง   เนื่องจากการทำนาในปัจจุบันโดยเฉพาะในจังหวัดภาคกลาง ชาวนาส่วนใหญ่ทำนาโดยการจ้างไถดิน จ้างฉีดสารเคมีปราบศัตรูพืช และจ้างรถเก็บเกี่ยว เจ้าของที่ดินโดยทั่วไปสามารถเรียนรู้ที่จะทำนาแบบที่เป็นอยู่ได้ไม่ยากนัก   ในสถานการณ์ที่ข้าวมีราคาสูง แม้ขึ้นค่าเช่าที่ดินแล้วก็ตาม แต่เจ้าของที่ดินจะมีรายได้จากค่าเช่านาประมาณไม่เกิน  1,000 บาท/ไร่เท่านั้น แต่ถ้าเจ้าของที่ดินทำนาเสียเอง จะได้ค่าตอบแทนเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วสูงถึง 5,000-6,000 บาท/ไร่ สูงกว่าการจ้างคนอื่นทำนา 5-6 เท่าตัว  เกษตรกรเป็นจำนวนมากจึงมีแนวโน้มที่จะถูกขับให้ออกจากพื้นที่ทำกินที่ตนเองเคยเช่าใช้ประโยชน์อยู่แต่เดิม

นอกเหนือจากวิกฤติการณ์ในเรื่องที่ดินแล้ว การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำการเกษตรจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงด้วย ทั้งจากสาเหตุการขยายพื้นที่เพาะปลูกและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

3) ผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการเข้าถึงอาหารของกรรมกรและคนยากจนในเมือง    

ราคาอาหารที่สูงขึ้นอาจไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อข้าราชการซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับการเอาใจใส่มากกว่ากลุ่มอื่นๆจากรัฐบาล แต่ปัญหาเรื่องอาหารจะเป็นปัญหาสำคัญของกรรมกรและคนยากจนในเมือง[2]เกษตรกรสมควรที่จะมีโอกาสขายผลผลิตของตนในราคาสินค้าที่เป็นธรรมเพื่อมีโอกาสได้ชำระหนี้สินที่สะสมมานานตั้งแต่ระดับหลายหมื่นบาทจนถึงหลายแสนบาทต่อครอบครัว แต่รัฐบาลต้องมีนโยบายและวิธีปฎิบัติที่ชัดเจนเพื่อสร้างหลักประกันการเข้าถึงอาหารสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ

4) บรรษัทและอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่จะถือโอกาสผลักดันนโยบายของรัฐเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของตน

นโยบายต่างๆที่บรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรจะผลักดันประกอบไปด้วย

  1. การลดพื้นที่ปลูกข้าวลงและให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่บริษัทของตนได้ประโยชน์  เช่น การใช้พันธุ์ข้าวลูกผสม ซึ่งต้องการน้ำและปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก รวมทั้งต้องซื้อพันธุ์จากบริษัททุกฤดูกาลผลิต และอาจรวมถึงการถือโอกาสผลักดันเรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีข้าวโพด ถั่วเหลือง และรวมถึงข้าว ทั้งๆที่ยังไม่มีหลักฐานและผลการศึกษาใดๆยืนยันอย่างชัดเจนว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆที่ชัดเจนต่อเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทย
  2. ผลักดันให้มีการจัดสรรพื้นที่เกษตรกรรมใหม่เพื่อทำนิคมเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่ให้เกษตรกรมาเป็นแรงงานรับจ้างโดยอ้างว่าเพื่อรับภาระความเสี่ยงแทนเกษตรกร หรือขยายโครงการเกษตรพันธสัญญา ( Contract Farming) ออกไป โดยที่ดินยังเป็นของเกษตรกรแต่บริษัทควบคุมการผลิตและการตลาดไว้ในมือของตนแต่เพียงผู้เดียว
  3. การเปลี่ยนจากพื้นที่การผลิตอาหารมาเป็นพืชพลังงานที่เกษตรกรต้องขึ้นต่อบรรษัทขนาดใหญ่มากขึ้น และความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารลดน้อยลง ตัวอย่างเช่น สัดส่วนความสามารถในการพึ่งพาอาหารได้จากในไร่นาตนเองของเกษตรกรในภาคอีสานและภาคกลางจะลดลงจาก 37-39 % เหลือเพียง 6 % ซึ่งเป็นตัวเลขเฉลี่ยของเกษตรกรในภาคใต้ที่ปลูกยางพารา

ข้อเสนอแนะทางนโยบาย

เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน 4 องค์กร ขอเสนอแนะให้รัฐบาลยึดหลักการและแนวนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวนโยบายที่จะมุ่งดำเนินการให้ “ครัวเรือนเกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่งเสริมการขยายกระบวนการเรียนรู้ระบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร” โดย “เกษตรกรและชุมชนเป็นผู้กำหนดทิศทางและแนวทางด้วยตนเอง”[3] และ “อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญแก่การใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มสู่เศรษฐกิจระดับประเทศ” [4]

ทั้งนี้โดยมีข้อเสนอระยะสั้นและระยะยาว ดังต่อไปนี้

 ข้อเสนอระยะสั้น

1) เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยต้องยุติการแจกจ่ายสารเคมีการเกษตรและปุ๋ยเคมีโดยสิ้นเชิง

ผลจากรายงานวิจัยและประสบการณ์ในอดีต 3 ครั้งที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้สารเคมีการเกษตรไม่สามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้  เนื่องจากสารเคมีจะเข้าไปทำลายแมลงที่มีประโยชน์ในนาข้าว เช่น มวนดูดไข่, มวนจิงโจ้น้ำ , ด้วงเต่า, ด้วงดิน, จิ้งหรีดหนวดยาว,ตั๊กแตนหนวดยาว, แมลงปอเข็ม,แมลงวันตาโต, แมงมุมหลายชนิด  และแตนเบียน เป็นต้น ในขณะที่การใส่ปุ๋ยเคมีจะเร่งให้เพลี้ยกระโดดเข้าทำลายเพราะข้าวจะอวบน้ำแต่ไม่แข็งแรง

วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือการปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน ควบคู่กับการใช้สารสกัดจากพืช เช่น สารสกัดจากใบหรือเมล็ดสะเดาฉีดพ่น บำรุงรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์และมีภูมิต้านทานโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักจากจุลินทรีย์ที่ได้จากธรรมชาติ และหากเป็นไปได้ไม่ควรปลูกข้าวติดต่อกันโดยไม่พักดินเลย

2) ให้การคุ้มครองชาวนาและผู้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524

กลไกและหน่วยงานของรัฐมีบทบาทสำคัญที่จะคุ้มครองผู้เช่านาตามกฎหมายการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เนื่องจากมีหน่วยงานของรัฐเข้าเป็นกรรมการในคณะกรรมการค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คชก.) ทั้งระดับจังหวัด และระดับตำบล มากกว่าสัดส่วนของกลุ่มผู้ให้เช่า และผู้เช่าที่ดิน รัฐบาลจึงสามารถใช้กลไกภายใต้กฎหมายดังกล่าวคุ้มครองสิทธิของชาวนาไว้ระดับหนึ่ง เช่นในมาตรา 26 นั้น กำหนดให้การเช่านามีวาระคราวละไม่น้อยกว่าหกปี การเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลา หรือมีแต่ต่ำกว่าหกปี ให้ถือว่าการเช่านารายนั้นมีกำหนดเวลาหกปี  และแม้เมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่า แต่ถ้าผู้ให้เช่านามิได้บอกเลิกการให้เช่านาและผู้เช่านายังคงทำนาในที่นานั้นต่อไป ให้ถือว่าได้มีการเช่านานั้นต่อไปอีกคราวละหกปี  และในกรณีที่ผู้ให้เช่านามีสิทธิที่จะยกเลิกการให้เช่าโดยแจ้งการยกเลิกก่อนล่วงหน้าหนึ่งปี แต่คกช.ตำบล[5] สามารถจะวินิจฉัยให้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสองปี เป็นต้น3) ดำเนินการเพื่อสร้างหลักประกันให้ผู้มีรายได้น้อย เช่น กรรมกรในโรงงาน และคนยากจนในเมืองสามารถเข้าถึงอาหารที่มีราคาที่เป็นธรรมได้การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นการดำเนินการของรัฐ หรือการสนับสนุนกลไกอื่นๆ เช่น การจัดช่วงเวลาการทำงานที่แรงงานในโรงงานสามารถกลับไปช่วยครอบครัวทำการเกษตร การแลกเปลี่ยนผลผลิตโดยตรงระหว่างเกษตรกรในชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น 

ข้อเสนอระยะยาว

1) ผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

การแก้ปัญหาเกษตรกรรมที่มีผลอย่างยั่งยืนไม่อาจละเลยการปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ รัฐบาลรวมทั้งพรรคการเมืองที่คำนึงถึงการแก้ปัญหาของชนบทและในภาคเกษตรอย่างแท้จริง ต้องผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรที่ดินกว่า 800,000 คนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เกษตรกรทั่วประเทศที่ไร้ที่ดินทำกินต้องรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวให้เกิดการปฎิรูปที่ดินเพราะประสบการณ์ในอดีตชี้ว่านโยบายการปฏิรูปที่ดินที่รัฐบาลดำเนินการนั้น ไม่อาจสำเร็จได้หากเกษตรกรขาดการจัดตั้งและปราศจากพลังการต่อรองทางการเมือง

การจัดรูปที่ดิน การจัดการชลประทานตามข้อเสนอของบรรษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่โดยใช้งบประมาณแผ่นดินหลายแสนล้านบาท โดยที่ไม่แตะต้องการปฏิรูปที่ดินนั้น ไม่ก่อประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน แต่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ดินรายใหญ่และบรรษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่ในระยะยาว

การผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดินควรเป็นภารกิจของคนชั้นกลางและกลุ่มธุรกิจที่ต้องการเห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ก้าวหน้าและมั่นคงด้วย ทั้งนี้เนื่องจากรากฐานความอ่อนแอของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นจากรากฐานของการละเลยชนบทและการละเลยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั่นเอง

2) ปฏิรูประบบเกษตรกรรมโดยยึดแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนที่คำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรรายย่อย

  • ประเทศไทยต้องกำหนดพื้นที่การทำนาและการผลิตพืชอาหารในสัดส่วนที่มากกว่าพืชเพื่อพลังงานและอุตสาหกรรม ความเข้มแข็งและความมั่นคงทางอาหารของประเทศมีรากฐานมาจากเกษตรรายย่อยที่ปลูกพืชอาหาร การที่ประเทศอื่นๆหันไปผลิตพืชเพื่อพลังงานมากขึ้น เป็นสาเหตุประการสำคัญที่ทำให้เกษตรกรที่ผลิตอาหารได้รับราคาที่เป็นธรรมมากกว่าในอดีต รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องให้ข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจอนาคตการทำการเกษตรของตนเอง โดยไม่เป็นเหยื่อการโฆษณาของบรรษัทที่ต้องการเห็นเกษตรกรวัตถุดิบราคาถูกสำหรับอุตสาหกรรมของตน
  • สนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่เกษตรกรสามารถควบคุมได้ ไม่ตกอยู่ภายใต้การผูกขาดของบรรษัท  รัฐบาลต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรของเกษตรกร และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร เช่น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ปราชญ์ชาวบ้าน เครือข่ายของเกษตรกร และองค์กรภาคประชาชนได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากพืชเพื่อควบคุมแมลง ส่งเสริมน้ำหมักชีวภาพและคัดเลือกจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าเทคโนโลยีที่ส่งเสริมโดยบรรษัท และสถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศเสียอีก ขณะนี้ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมดังกล่าวได้แพร่ขยายไประดับหนึ่งแม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐ ก็ตาม

3) จัดประชุมวาระแห่งชาติว่าด้วยการปฏิรูปฐานทรัพยากร เกษตรกรรม และความมั่นคงทางอาหาร
สนับสนุนให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ทั้งนี้โดยการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่ม เช่น เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน เกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินเป็นของตนเอง เกษตรกรรายใหญ่ อุตสาหกรรมการเกษตร องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งระยะใกล้และระยะยาวของประเทศ


[1]ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินทำกินของเกษตรกร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ        

 [2] สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนมกราคม 2551 มีแรงงานในภาคเกษตร 12.47 ล้านคน แต่มีแรงงานนอกภาคการเกษตรสูงถึง 23.45 ล้านคน

[3] นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เสนอต่อรัฐสภา ด้านการเกษตรข้อ 3.2.1.4

 [4] แนวนโยบายเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อ 4.1

[5] คชก. ตำบล ประกอบด้วย กำนันเป็นประธาน เกษตรอำเภอหรือผู้แทน ที่ดินอำเภอหรือผู้แทน ประมงอำเภอหรือผู้แทน ปศุสัตว์อำเภอหรือผู้แทน ผู้แทนผู้เช่าสี่คน และผู้แทนผู้ให้เช่าสี่คน ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้ง เป็นกรรมการ และให้ปลัดอำเภอหรือพัฒนากรซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ ดังนั้นรัฐบาลสามารถใช้กลไกของรัฐผ่านคชก.ตำบลเพื่อคุ้มครองเกษตรกรได้ตามสมควร

ThuApril2008-9-22-6.doc