น่าประหลาดใจหรือไม่ที่ไม่มีรายงานว่าเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African swine fever : ASF) ซึ่งมีการระบาดอย่างกว้างขวาง 15 ประเทศในเอเชีย ตามรายงานของ FAO แต่กลับไม่พบการระบาดในประเทศไทยเลย ?
https://www.fao.org/ag/againfo/programmes/en/empres/ASF/situation_update.html
ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ผู้เลี้ยงหมูระบุตรงกันว่าเกิดโรคระบาดจนหมูตายไป 50-70% ส่งผลกระทบต่อการผลิตเนื้อหมู และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหมูพุ่งสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ซึ่งถูกกล่าวขานว่าเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร เพราะมีปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์สุกรเกือบ 3 แสนตัว ได้ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ไขปริศนาว่า ทำไมหมูแพง ? โดยระบุว่า
“เนื่องจากหมูตายเกือบหมดประเทศไทยแล้ว ผมเลี้ยงหมูมา 30 กว่าปีถือว่าหนักสุด โรคระบาดส่งผลให้หมูแม่พันธุ์ทั้งประเทศไทยที่มีประมาณ 1.1 ล้านตัว ปกติผลิตลูกหมูหรือเรียกว่า“หมูขุน”ได้ 21-22 ล้านตัว ปัจจุบันโรคระบาดสร้างความเสียหายกว่า 50% เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว ผลิตหมูขุนได้ประมาณ 12-13 ล้านตัวต่อปี” “
วันนี้ผู้เลี้ยงทุกคน และทั่วโลกรู้ว่าไทยมีโรค ASF แต่กรมปศุสัตว์ประกาศเป็นโรคเพิร์ส(PRRS) ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ลักษณะของโรคคล้ายกัน แต่โรคเพิร์สมีวัคซีนป้องกัน แถมวันนี้มีการนำเข้าวัคซีนจากจีน และเวียดนามที่ใช้ไม่ได้ผลมาหลอกขายให้ผู้เลี้ยง ซึ่งไม่ได้ผลและทำให้หมูตายจำนวนมากขึ้น”
” ช่วงแรกที่เกิดการระบาดเราคิดว่าจะทำให้เกษตรกรไทยอยู่ได้ เอกชนจึงช่วยกันระดมเงินลงขันกันได้ 200 กว่าล้านบาทเก็บจากผู้เลี้ยงหมูขุนตัวละ 10 บาท แม่หมูตัวละ 30 บาทเอาไปช่วยภาคเหนือ ภาคอีสาน ไม่ใช่เงินงบประมาณเลย เราหวังว่าจะปกป้องโดยหมูฟาร์มไหนมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคก็ซื้อทำลาย วันนั้นเราหวังว่าจะหยุดการระบาดของโรคไม่ให้กระจายเข้ามาประเทศไทยจะปลอด ASF แต่ทำไปเงินก็เสีย สุดท้ายมาถึงวันนี้การประกาศโรคมันสายเกินไปแล้ว”
“แต่วันนี้ถามว่าเกิดอะไรขึ้นทำให้โรคมันลุกลามกระจายไปทั่วประเทศทำให้เกิดปัญหา เราไม่อยากโทษใคร “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติก็พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหา วันนี้อยากให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ กรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยง บริษัทใหญ่มานั่งคุยกันว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร แต่สุดท้ายมาถึงวันนี้จนได้ ก็บอกถ้าไม่ทำ อะไรจะเกิดขึ้น ภาครัฐทำเพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6-7 ชุดก็รอดูกันต่อไป อนาคตหมูปีหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าภาครัฐไม่ทำอะไร จะเหลือแต่ผู้เลี้ยงรายใหญ่”
อ่านคำให้สัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.prachachat.net/local-economy/news-833141
ในขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พะเยา พรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันอังคาร (4 ม.ค.) ว่า
“รัฐบาลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ด้วยการไม่ยอมรับว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (แอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์) ที่ระบาดในหลายทวีป ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย แต่กลับอ้างว่าเป็นโรคเพิร์ส ที่มีวัคซีนป้องกันแทน”
” แม้ไทยไม่ได้รายงานให้องค์กรระหว่างประเทศทราบ แต่ในที่สุดทางการไต้หวันตรวจพบการปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรในกุนเชียงที่ส่งออกไปจากไทย ถึงอย่างนั้น ภาครัฐของไทยก็ยังไม่ยอมรับ และกล่าวโทษว่ากุนเชียงดังกล่าวผลิตจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเพื่อนบ้าน ทั้งที่เคลื่อนย้ายนำเข้าจะต้องมีใบรับรองจากปศุสัตว์เสียก่อน”
“เราไม่รายงาน เราปกปิด เพื่ออะไรครับ เพราะก่อนหน้านี้ประเทศนี้ส่งออกหมูปีละประมาณ 20,000 ล้าน 20,000 ล้านนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นผมจึงสงสัย ได้รับฟังจากเกษตรกรทั้งประเทศเขาพูดว่ารัฐบาลนี้ทำเพื่อใคร เพื่อบริษัทใหญ่บางบริษัทใช่ไหม ถึงปกปิดข้อมูลกลัวว่าจะขายหมูไม่ได้ แต่วันนี้หลังจากปกปิดมา 3 ปี วันนี้หมูไทยไม่สามารถส่งออกได้แล้ว เพราะทั่วโลกเขารู้หมดแล้วครับ” อ่านคำให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่ https://www.sanook.com/news/8498026/
คำให้สัมภาษณ์ของอุปนายกผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และส.ส.พะเยา เป็นการตั้งคำถามต่อหน่วยงานของรัฐบาลเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ยืนยันว่าประเทศไทยปลอดจากโรคดังกล่าว โดยนายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวว่า
“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวหมูไทยเป็นโรค ASF โดยเฉพาะในพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา เพื่อหวังกดราคาหมูให้ต่ำลง ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าเป็นการพบเชื้อ ASF จากหมูที่ลักลอบนำเข้า ซึ่งไม่ใช่หมูจากประเทศไทย ทางฝ่ายไทยยืนยันกับหน่วยงานสุขภาพสัตว์และการผลิตราชอาณาจักรกัมพูชา (GDAHP) ว่ายังไม่มีการแพร่เชื้อนี้ในไทย พร้อมอธิบายแนวทางการป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 3 ปี ส่งผลให้ยอดส่งออกหมูมีชีวิตเพิ่มขึ้น 340% โดยเฉพาะกัมพูชาซึ่งเดิมเป็นตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตอันดับ 1 ของไทย มีหมูที่ส่งออกไปกัมพูชากว่า 58% ทำให้ทางการกัมพูชาได้ผ่อนปรนให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งหมูไปเพิ่มอีก 6 ราย จากเดิม 5 ราย รวมทั้งหมดเป็น 11 ราย โดยไม่มีการจำกัดปริมาณโควตาแล้ว คาดว่าการส่งออกหมูปีนี้โตต่อเนื่อง” https://dld.go.th/th/index.php/th/newsflash/341-news-hotissue/23715-hotissue-25640428-1
อนึ่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า “CPF กำไร พุ่ง 2.6 หมื่นล้าน โต 41 %” วิกฤตโควิด-โรค ASF ไม่สะเทือน ซีพีเอฟ รายงานกำไรสุทธิประจำปี 2563 จำนวน 26,022 ล้านบาท พุ่ง 41% จากปีก่อน” https://www.prachachat.net/economy/news-620179
และ “ปี 2563 จะเรียกว่าเป็นปีทองสุกร (หมู) ของไทยก็ว่าได้ ด้วยยอดการส่งออกที่เติบโตหลัก 100% ไม่ใช่ตัวเลขที่จะพบเห็นได้ง่าย ๆ เพราะเป็นจังหวะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF)” https://www.prachachat.net/economy/news-649731
เหตุการณ์นี้ซ้ำรอยกรณีไข้หวัดนก ซึ่งมีการระบาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2546-2547 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีการฆ่าไก่ทิ้งถึง 30 ล้านตัว และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกลับไม่พยายามเปิดเผยข้อมูลอย่างทันท่วงที เพื่อปกป้องการส่งออกของอุตสาหกรรมสัตว์ปีก โดยจากรายงานการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์รู้เรื่องการระบาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 แต่เพิ่งมีการเปิดเผยในวันที่ 23 มกราคม 2547 หลังจากแรงกดดันจากนานาชาติ
https://focusweb.org/the-politics-of-bird-flu-in-thailand/
https://www.upi.com/Top_News/2004/09/11/WHO-criticizes-Thailand-after-bird-flu-death/98611094916830/?ur3=1
ที่มา : BIOTHAI Facebook