นอกเหนือจากข้อเสนอหลักของหลายฝ่ายในการฟื้นฟูการเลี้ยงหมู ซึ่งได้แก่การแขวนหนี้สิน การสนับสนุนเงินกู้แก่เกษตรกรรายย่อยและรายกลาง และส่งเสริมสนับสนุนมาตรการสร้างความปลอดภัย/ความมั่นคงทางชีวภาพในการจำกัดควบคุมการระบาดแล้ว ไบโอไทยเห็นว่าการฟื้นฟูการเลี้ยงหมูอย่างยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับความเป็นธรรม ควรดำเนินการ ดังนี้

  1. สนับสนุนและส่งเสริมการผลิตอาหารการเลี้ยงสัตว์เองจากวัตถุดิบในท้องถิ่นแทนที่จะซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูป ซึ่งตลาดเป็นของบริษัทขนาดใหญ่ ประเทศไทยมีปลายข้าว รำข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อย่างมาก ทั้งนี้ไม่รวมถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ เช่น กล้วย กระถิน ฯลฯ เป็นต้น
  2. ควรสนับสนุนชุมชนชาติพันธุ์ หรือชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจากโรคระบาดให้สามารถขยายการเลี้ยงหมูเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจของครอบครัว/ชุมชนต่อไป ดังเป็นที่ทราบว่า การเลี้ยงหมูของชุมชนดังกล่าวค่อนข้างปลอดภัยจาก ASF เนื่องจากมีสภาพเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะ biosecurity โดยธรรมชาติ ไม่นับหมูพื้นบ้านส่วนใหญ่ที่มีฐานความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าสายพันธุ์หมูแบบอุตสาหกรรม
  3. หนึ่งในระบบการเลี้ยงสัตว์ที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นต่อผลกระทบของราคา/โรคระบาด สำหรับเกษตรกรรายย่อยคือการเลี้ยงในระบบเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งสามารถผสมผสานการเลี้ยงสัตว์บกกับสัตว์น้ำไปด้วยกัน รวมทั้งการปลูกพืชด้วย โดยรายงานการศึกษาของกระทรวงเกษตรฯและสภาพัฒน์พบว่าระบบเกษตรผสมผสานให้ผลตอบแทนมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือการเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว อีกทั้งเมื่อเกิดผลกระทบในกรณีเกิดโรคระบาดหรือการภัยพิบัติใดๆก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเกษตรทั้งหมดไปพร้อมกัน
    นอกเหนือจากนี้ ในหลายประเทศ ยังมีระบบการเลี้ยงหมูทางเลือกอื่นๆ เช่น หมูอินทรีย์ หมูปลอดสารปฏิชีวนะ หรือหมูที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ซึ่งนอกจากเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้ามาสู่ตลาดได้ ภายใต้ระบบตลาดที่มีบริษัทขนาดใหญ่มีอิทธิพลเหนือตลาดในระบบการเลี้ยงตามแบบแผน
  4. ส่งเสริมให้มีสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชำแหละและจัดส่งเนื้อสัตว์ไปยังตลาดท้องถิ่นต่างๆ เป็นการเพิ่มช่องทางให้แก่เกษตรกรรายย่อยในการขายหมูมีชีวิตไปยังสหกรณ์เพิ่มขึ้น แทนที่จะต้องผลิตป้อนบริษัทใหญ่ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้เกษตรกรมีอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้น
  5. ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงหมูในระบบเกษตรพันธสัญญาซึ่งขาดอำนาจการต่อรอง เช่น สัญญาส่วนใหญ่เกษตรกรต้องรับภาระความเสี่ยงเมื่อเกิดโรคระบาดและภัยพิบัติ เกษตรกรต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหาย ในขณะที่เมื่อหมูมีราคาแพงเพิ่มจาก 60 บาท เป็น 110-120 บาท เกษตรกรกลับไม่มีส่วนแบ่งใดๆกับผลกำไรที่เกิดขึ้น กรณีเช่นนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่ในการดูแล “สัญญากลาง” ควรมีหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกรรายย่อยมากขึ้น
  6. ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ให้คุ้มครองเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีอิทธิพลเหนือตลาดเหมือนที่เป็นอยู่ ดังตัวอย่างในบางประเทศที่เมื่อผู้ประกอบการบางรายมีสัดส่วนตลาดเกิน 30% หรือมีการควบรวมกิจการจนมีอิทธิพลเหนือตลาด จะต้องมีการขายกิจการบางส่วนออกไปเป็นต้น

ที่มา : BIOTHAI Facebook