ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายการเกษตรที่สำคัญของรัฐบาลหลายคณะ มีการใช้เงินไปกับการอุดหนุนการเกษตรเป็นจำนวนเงินมหาศาล เริ่มตั้งแต่โครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ จนมาถึงการอุดหนุนหลากหลายรูปแบบในยุครัฐบาลผสมที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีแนวโน้มว่าประเทศไทยอาจไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักการแก้ปัญหาการเกษตรจากวิธีการใช้เงินอุดหนุนดังกล่าวได้ง่ายๆ

ตัวอย่างเช่น การศึกษาของ 101 PublicPolicy พบว่าในช่วง 3 ปีการผลิต (2562-2565) พบว่ารัฐบาลที่ผ่านมาใช้งบประมาณมากถึงเฉลี่ยปีละ 152.2 แสนล้านบาทสำหรับโครงการประกันรายได้และอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตร โดยในปี 2562/63 ใช้งบประมาณ 131,100 ล้านบาท ปี 2563/64 ใช้งบประมาณ 144,700 ล้านบาท และปี 2564/65 งบประมาณกระโดดไปถึง 180,700 ล้านบาท ! มิหนำซ้ำถ้าคำนวณเม็ดเงินที่เกษตรกรรายย่อยซึ่งมีที่ดินน้อยและมีผลผลิตน้อย ที่อยู่ในกลุ่ม 20% ล่างสุด คนกลุ่มนี้กลับได้รับความช่วยเหลือระหว่าง 1.8-2.5% ของเม็ดเงินทั้งหมดเท่านั้นเอง 

นโยบายเหล่านี้ไม่ได้แตะปัญหาต่างๆเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีสิทธิในที่ดิน ชลประทาน ผลผลิตต่อไร่ ยังคงย่ำแย่เหมือนเดิม โดยไม่จำเป็นต้องพูดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าเกษตรเชิงเดี่ยวราคาถูก ผ่านการอุดหนุนหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพดอาหารสัตว์ หรืออ้อยโรงงาน ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษ จนสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ตกอยู่ภายใต้วิกฤต

แต่สิ่งที่บทความนี้ต้องการพูดถึงก็คือ ภายใต้การใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ในอีกปลายด้านหนึ่งของระบบเกษตรและอาหาร ซึ่งหมายถึงชีวิตของผู้คนในประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารนั้น กำลังเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งในด้านสภาวะโภชนาการและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร

รู้หรือไม่ว่า บนแผ่นดินที่เรียกขานว่า “ครัวของโลก” แห่งนี้นั้น ข้อมูลจาก สำนักโภชนาการ กรมอนามัย. (2564)  กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า  มีเด็กไทยอายุ 0-5 ปี  มากถึง 11.7% และอายุ 6-14 ปี จำนวน 9.7% ที่อยู่ในสภาวะเตี้ยและแคระเกร็น ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลักคือการได้รับอาหารไม่เพียงพอและไม่มีโภชนาการครบถ้วน

ระดับความไม่ปลอดภัยทางอาหารก็เช่นกัน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) รายงานผลการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ปี 2565 เก็บตัวอย่างมกราคม-เมษายน 2565 รวม 268 ตัวอย่าง จากห้างสรรพสินค้า 5 แห่ง และตลาด 11 จังหวัด และส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi residue analysis ครอบคลุมสารพิษ 567 รายการ  พบว่ามีผักผลไม้ที่พบการตกค้างของสารพิษเกินมาตรฐานถึง 67% ในขณะที่หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงเช่น ในญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯนั้น หากวิเคราะห์สารพิตกค้างแบบเดียวกัน จะพบผักผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 3-5% เท่านั้น

ไม่น่าประหลาดใจเลยที่ดัชนีความมั่นคงทางอาหารของไทยกำลังดิ่งเหว โดยผลการสำรวจเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่สำรวจเป็นประจำทุกปีโดย “Economic Intelligence Unit(EIU)” หน่วยงานที่ทำหน้าที่วิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกพบว่า “ดัชนีความมั่นคงทางอาหาร” (global food security index) ของ 113 ประเทศทั่วโลกล่าสุดในปี 2565 พบว่าประเทศไทยได้คะแนนรวม 60.1คะแนน อันดับรวมลดลงมาอยู่ที่ 64 ของโลก ปรับลดลงจากในปี 2564 ที่เคยอยู่ที่ 51 โดยลดลงถึง 13 อันดับ ส่งผลให้อันดับความมั่นคงทางอาหารของไทยอยู่ในอันดับ 5 ของอาเซียนรองจาก สิงคโปร์ที่ได้อันดับ 28 มาเลเซียอันดับ 41 เวียดนามอันดับ 46 และอินโดนีเซียอันดับที่ 63   และหากวัดจากดัชนีย่อยในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร พบว่าประเทศไทยได้คะแนนในเรื่อง “คุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร” ต่ำสุด โดยได้รับเพียง 45.3 คะแนนเท่านั้น

หากเป้าหมายสูงสุดของการมีระบบเกษตรและอาหารที่ดีคือ การที่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กๆของเรามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งเป็นรากฐานของการมีทรัพยากรบุคคลที่จะเติบโตอย่างมีสติปัญญา  นั่นหมายความนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรรมและอาหารของเราซึ่งใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลต่อปีนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งตอนต้น ได้แก่การทำให้เกษตรกรและภาคการผลิตเข้มแข็ง  ไม่ได้ตอบโจทย์ตอนกลางได้แก่คุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร และไม่ได้ตอบโจทย์ตอนปลายที่วัดจากการมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงจากการมีอาหารที่ดีแต่ประการใด

ถึงเวลาแล้วที่การเลือกตั้ง 2566 ที่จะมาถึงนี้ พรรคการเมืองต่างๆจะได้นำเสนอแนวทางใหม่ๆ ในทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนงบประมาณมหาศาลเหล่านั้น ไปใช้กับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าถึงที่ดินและน้ำของประชาชนที่ขาดโอกาส การเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรกรรมที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตวัตถุดิบราคาถูกป้อนอุตสาหกรรมซึ่งเกษตรกรได้ผลตอบแทนน้อยนิด ไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศที่สร้างความหลากหลายของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัย หรือแม้แต่การจัดสรรงบที่อุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมาใช้สำหรับการสร้าง “สวัสดิการอาหาร” ให้กับเด็กทุกคนในประเทศ เพื่อจัดการปัญหาทุพโภชนาการที่เด็ก 10-12%  ยังขาดความมั่นคงทางอาหาร

มีตัวอย่างประเทศในสแกนดิเนเวีย ที่พวกเขาใช้งบประมาณไม่มากนัก เปลี่ยนจานอาหารของเด็กทุกคนในโรงเรียนให้เป็นอาหารที่มาจากการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  สร้างแรงจูงใจต่อเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนการเกษตรไปสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป็นการตอบโจทย์ทั้งเบื้องต้น ขั้นกลาง และบั้นปลาย

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ ยินดีเลือกและพร้อมจะสนับสนุนพรรคการเมือง ที่จะพาพวกเราไปสู่ประเทศที่มีระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและมีความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารมากกว่านี้