บทวิเคราะห์

            1) ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาของการผลิตอาหารที่ไม่เพียงพอแต่มีปัญหาความไม่เป็นธรรมของระบบอาหาร กล่าวคือ

            ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ผู้ส่งออกสินค้าประมงอันดับ 3 ของโลก เป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลก เป็นผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูปอันดับ 1 ของโลก เป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปอันดับ 1 ของโลก เป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องและสับปะรดแปรรูปอันดับ 1 และไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปอันดับ 3 ของโลก) [1] โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ส่งออกอาหารของโลกทั้งหมด อันดับของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 7 ของโลก

            อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสำคัญของโลก แต่ประชาชนของประเทศจำนวนมากยังขาดความมั่นคงทางอาหาร จากข้อมูลของ FAO และ WFP ในระหว่างปี พ.ศ. 2547-2549 พบว่ามีจำนวน 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ[2] ตัวเลขของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานรายงานว่าเด็กนักเรียนที่อยู่ในสภาวะทุโภชนาการยังสูงถึง 7.3 % [3]      ปัญหาซับซ้อนมากกว่านั้นคือประชาชนและเด็กจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบทมีปัญหาการบริโภคเกิน ตัวอย่างเช่นชุมชนในชนบทมีปัญหาการขาดแคลนธาตุเหล็กและโปรตีน แต่กลับมีค่าใช้จ่ายอาหารถุงที่มีปัญหาทางโภชนาการ อาหารขยะ อันเป็นผลมาจากระบบการโฆษณาที่ไร้การควบคุม

            2) ปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบอาหารเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

            ปัญหาการถือครองที่ดิน/ปัญหาหนี้สิน/และการเข้าถึงทรัพยากรของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมามีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟู ประมาณ 300,000-400,000 ราย[4] มีมูลค่าหนี้มากกว่า 100,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีจำนวน 100,000 ราย ที่ที่ดินและทรัพย์สินกำลังจะถูกขายทอดตลาด[5] จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่าเกษตรกร 59.73 ต้องเช่าที่ดินทำกิน โดยภาคเหนือและภาคกลางถือครองที่ดินทำกินในสัดส่วนต่ำมากเพียง 24.7% และ 30% ตามลำดับ ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีตัวเลขการถือครองที่ดินของตนเองใกล้เคียงกันคือ 46.97 % และ 48.24 % ตามลำดับ[6]

            ปัญหาที่ดิน ความล้มเหลวทางการเกษตร และกลไกการตลาดที่ไม่เป็นธรรม จะกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคมมากขึ้นทุกขณะ

            เกษตรกรและคนยากจนยังขาดการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจทางนโยบายอย่างชัดเจน เราจะเห็นการตัดสินใจเรื่องนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ เช่น การทำเอฟทีเอกับประเทศจีนและออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์นั้น ทำให้เกษตรกรรายย่อยหลายสาขาต้องสูญเสียอาชีพ ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมใหญ่บางกลุ่มกลับได้รับประโยชน์

            น่าสนใจว่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาความไม่เป็นธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับโครงสร้างเหล่านี้กลับถูกละเลย ไม่ได้รับการกล่าวถึงในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

            3) การพึ่งพาเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

            ประเทศไทยมีฐานทรัพยากรพันธุกรรมที่หลากหลายและพัฒนาขึ้นจากความสามารถของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ดังที่เราเห็นได้จากข้าวหอมมะลิ และไม้ผลเมืองร้อนพันธุ์ดีของโลก ได้มาจากนวัตกรรมของชุมชนเกษตรกรรม และบางส่วนมาจากภาคการวิจัยสาธารณะ(กรณีข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย) แต่ปัจจุบันตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดกลับอยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่บริษัท

             แนวโน้มของพัฒนาการเมล็ดพันธุ์ซึ่งถูกผลักดันโดยบริษัทขนาดใหญ่            โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันข้าวลูกผสม และพืชดัดแปลงพันธุกรรมกำลังทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นฐานรากของระบบอาหาร ซึ่งจะนำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น การผูกขาด และการยึดครองทรัพยากรชีวภาพโดยบรรษัทข้ามชาติ ตัวอย่างเช่น

            ข้าวลูกผสม ซึ่งเป็นข้าวที่ชาวนาไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อได้เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ทั่วไปนั้น บริษัทเมล็ดพันธุ์โฆษณาว่าสามารถให้ผลผลิตได้ 1,500 กก/ไร่ (ขณะที่จริงๆแล้วสามารถให้ผลผลิตเพียง 958 กก/ไร่) นั้นมีราคาเมล็ดพันธุ์สูงถึงกิโลกรัมละ 1,200-1,500 บาท ในขณะที่คุณภาพข้าวแย่กว่าข้าวทั่วไปที่ปลูกอยู่ในภาคกลาง ประเด็นที่ไม่ได้ถูกวิเคราะห์ก็คือ หากรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลงการปลูกข้าวไปสู่แบบแผนการผลิตดังกล่าว จะต้องกันพื้นที่ประมาณ 30% ของพื้นที่นาทั้งหมดเพื่อทำเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ของบริษัท เพราะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม(F1) นั้นให้ผลผลิตที่เป็นเมล็ดพันธุ์เพียง 300-350 กิโลกรัม/ไร่เท่านั้น (เมื่อเทียบกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดซึ่งให้ผลผลิต 1,000 กก/ไร่) หากวิเคราะห์ในเชิงการจัดการทรัพยากร นี่คือการโอนอำนาจและแย่งชิงที่ดินและพันธุกรรมให้ไปอยู่ในมือบริษัท

            การส่งเสริมการลงทุน โดยให้บริษัทไบเออร์เข้ามาลงทุนผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจึงเป็นความผิดพลาดอย่างสำคัญของรัฐบาล แม้ว่าเมื่อเร็วๆนี้ มติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ระงับการส่งเสริมการลงทุนในสาขาการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชว้ชั่วคราวแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนและการส่งเสริมการลงทุน เป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งควรจะได้วิเคราะห์วิจารณ์แยกออกไปจากบทความนี้

            กรณีพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้นจะนำไปสู่การผูกขาดและการครอบครองทางพันธุกรรมได้อย่างไรนั้น ยกตัวอย่างกรณีมะละกอจีเอ็มโอ แม้ว่ามีการอ้างว่าการวิจัยนี้ทำโดยนักวิจัยไทย แต่เมื่อผลการวิจัยแล้วเสร็จและมีการปลูกในเชิงพาณิชย์แล้วมีการส่งออกเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ร่างความตกลง MOU ระบุว่า ต้องจ่ายค่าตอบแทน  35% ของมูลค่าการส่งออกให้กับมหาวิทยาลัยคอร์แนลเจ้าของสิทธิบัตร ทั้งๆที่มะละกอแขกดำ แขกนวล และไวรัสใบด่างจุดวงแหวนซึ่งใช้เป็นฐานพันธุกรรมสำหรับการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าว เป็นทรัพยากรชีวภาพของไทย

            4) ความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตพืชอาหารและการใช้พลังงาน

            นอกเหนือจากที่รายงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้วิเคราะห์ไว้แล้ว ยังมีประเด็นที่ควรพิจารณาคือ

            การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในระบบการผลิตอาหาร ในรูปของปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น การผลิตปุ๋ยไนโตรเจนหรือปุ๋ยยูเรียนั้น ต้องใช้วัตถุดิบจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยตรง โดยการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน 1 กิโลกรัม ต้องใช้ดีเซล 1.4-4.8 ลิตร รวมทั้งแกสธรรมชาติในกระบวนการผลิต

            ต้นทุนในการผลิตพืชของประเทศไทยนั้นเป็นปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรถึง 34% ค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยเมื่อเทียบกับราคาผลผลิตแล้วสูงมากกว่าหลายประเทศในเอเชีย

            กล่าวโดยสรุปคือ 1) การผลิตทางการเกษตรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของไทยพึ่งพิงกับเชื้อเพลิงฟอสซิล และ 2) แม้ความพยายามในการผลิตน้ำมันจากพืชมาทดแทนน้ำมันฟอสซิล แต่หากไม่เปลี่ยนแบบแผนการผลิตไปสู่แบบแผนจากเคมีวิถีแเป็นแบบชีววิถีก็ต้องพึ่งพาฟอสซิลอยู่ดี

ข้อเสนอ

          1) ประเทศไทยต้องการการปฏิรูปที่ดินและการขจัดปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยเร็วที่สุด

            หากรัฐบาลและกลไกของรัฐไม่ดำเนินการ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เป็นธรรมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า ขณะนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยคล้ายกับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาในหลายลักษณะ ตัวอย่างเช่น การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย ประชาชนยากจนจากชนบทที่อาศัยในเขตเมือง การขยายตัวของระบบการเกษตรพื้นที่ขนาดใหญ่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ หากไม่มีการกำจัดการถือครองที่ดินและไม่มีการกระจายการถือครองที่ดิน หรือปล่อยให้บรรษัทขนาดใหญ่เข้ามาถือครองที่ดินมากๆ หรือการจัดการปัญหาหนี้สินชาวนาล้มเหลว ประชาชนจะลุกขึ้นมาปฏิรูปประเทศโดยเขาเอง

            แน่นอนว่า การกระจายการถือครองที่ดินนั้น เป็นแค่บทเริ่มต้นของการปฏิรูประบบเกษตรเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่แบบแผนการผลิต และปัจจัยการผลิตถูกครอบงำโดยบรรษัท ที่ดินในมือของเกษตรกรก็จะหลุดลอยไปในที่สุด

            2) เปลี่ยนแบบแผนการผลิตไปสู่วิถีการผลิตแบบชีวภาพหรือชีววิถี

            เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ที่มีต้นทุนการผลิตจากปุ๋ยเคมีและต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากนั้น เป็นต้นเหตุสำคัญของการขาดทุน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของเกษตรกรและผู้บริโภค

            เราจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบการผลิตที่พึ่งพาน้ำมันไปสู่การพึ่งพาฐานทรัพยากรชีวภาพ อันได้แก่การฟื้นฟูและพัฒนาพันธุ์พืชท้องถิ่น จุลินทรีย์ การควบคุมแมลงโดยสมุนไพรและชีววิธี

            วิธีการเหล่านี้ได้ถูกพิสูจน์และได้ขยายผลออกไประดับหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลไกของรัฐ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถาบันกระแสหลักอื่น ตัวอย่างเช่น

            ประสบการณ์ ของเครือข่ายโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ชาวนาจำนวนมากปลูกข้าวแบบชีววิถีได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยมากกว่า 1,200 กิโลกรัม/ไร่ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแม้แต่เม็ดเดียว            

            ประสบการณ์ของ พ่อแดง หาทวี ชาวนา อ.สว่างวีรวงศ์ จ.อุบลราชธานี ที่คัดเลือกพันธุ์ข้าวเอง ฟื้นฟูระบบนิเวศ ใช้แนวทางแบบชีววิถี สามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตมากกว่า 2,000 กิโลกรัม/ไร่ โดยมีต้นทุนการผลิตไม่ถึง 500 บาท/ไร่ ศ. สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้เดินทางไปดูงานและศึกษาเรื่องนี้ด้วยตนเอง และชื่นชมกับประสบการณ์ของชาวนาผู้นี้มาก กระบวนการพัฒนาแนวทางนี้ได้พัฒนาขึ้นจากผู้นำชาวบ้าน ขบวนการขององค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการนอกระบบกลุ่มเล็กๆ แต่ถูกละเลยมาโดยตลอดจากกลไกรัฐตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

            ที่สำคัญคือการวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมของชาวบ้านนั้นมิได้เน้นแค่ผลผลิตเท่านั้นแต่ดูเรื่องคุณภาพ รสชาติ และโภชนาการด้วย เรื่องนี้ก้าวหน้ากว่าการวิจัยของสถาบันกระแสหลักต่างๆซึ่งส่วนใหญ่เน้นแต่การผลิตเชิงปริมาณเท่านั้น แผนงานฐานทรัพยากรอาหารได้ดำเนินการส่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวบ้านได้อนุรักษ์เอาไว้ไปตรวจคุณค่าทางโภชนาการ ผลที่ออกมาน่ามหัศจรรย์มากที่ข้าวพื้นเมืองส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวที่ส่งเสริมกันปลูกโดยหน่วยงานของรัฐ

          3) สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเป็นแนวทางหลักของยุทธศาสตร์การพัฒนาพันธุ์

            ประเด็นนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประเด็นแรก กล่าวคือเราเห็นความอ่อนแอของสถาบันการวิจัยและการพัฒนาพันธุ์พืชของรัฐตลอด 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น สถาบันวิจัยเกี่ยวกับข้าวโพดซึ่งเคยสนับสนุนการผลิตเมล็ดพันธุ์มากกว่า 90% แก่เกษตรกร บัดนี้ทำหน้าที่เป็นเพียงเป็นแหล่งสนับสนุนเชื้อพันธุกรรมให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ หรือคอยทดสอบเมล็ดพันธุ์ให้กับบริษัทต่างๆ  การวิจัยพันธุ์ข้าวมีการปรับตัวอยู่บ้างที่เริ่มให้ความสนใจการฟื้นฟูพันธุ์ข้าวท้องถิ่นแต่อาจช้าและไม่ทันการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับการปรับกลยุทธการพัฒนาพันธุ์ข้าวของเวียดนาม  ที่ได้สร้างกระบวนการวิจัยพันธุ์ข้าวที่เอากลุ่มชาวนาต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยอย่างกว้างขวาง

            การผูกขาดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวและการผลิตให้อยู่ในศูนย์วิจัยและอยู่ในมือของข้าราชการนั้น  นอกจากจะทำให้การวิจัยของภาคสาธารณะต้องอ่อนแอลงเป็นลำดับแล้ว  เราพบว่า การลงทุนทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดจะถูกผ่องถ่ายให้กับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่และเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ มากกว่าที่จะทำให้เกษตกร วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการในท้องถิ่นจะได้ประโยชน์

            ขณะนี้เกิดเครือข่ายของเกษตรกรนับพันๆคนรวมทั้งวิสาหกิจชุมชนจำนวนมากที่เริ่มวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์พืชขึ้นโดยตนเอง (เรื่องนี้แตกต่างอย่างมากกับการวิจัยเมล็ดพันธุ์โดยหน่วยงานรัฐ แล้วให้เกษตรกรมาทำหน้าที่ในขยายพันธุ์ให้มากขึ้น) เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นนอกกลไกของรัฐ และนี่อาจเป็นความหวังที่ของการสร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นอย่างแท้จริงจากฐานราก

             นอกเหนือจากศูนย์วิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของชาวนาซึ่งก่อตัวขึ้นและกระจายอยู่ในหลายจังหวัดแล้ว ยังมีกรณีตัวอย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ 2 กลุ่มซึ่งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม (Hybrid Seed)ซึ่งได้พัฒนามาด้วยตนเองกว่า 10 ปี และสามารถแข่งขันได้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ในภาคเหนือในบางจังหวัด แต่นอกเหนือจากไม่ถูกสนับสนุนแล้ว กลับถูกขัดขวางโดยกลไกทางกฎหมายและนโยบาย ซึ่งเอื้อเฟื้อต่อบริษัทยักษ์ใหญ่มากกว่า

            4) การส่งเสริมวิถีการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคเองในไร่นาและครอบครัว

            หลังเกิดวิกฤติอาหารระดับโลกในปี 2550-2551 เราได้เห็นแนวโน้มสำคัญ คือการผลิตเพื่อบริโภคเอง จากการสำรวจของ National Gardener Association ในปี 2009 ระบุว่ามีชาวอเมริกันมากถึง 37%  ที่ปลูกมะเขือเทศ แตงกวา และถั่วเอาไว้กินเอง ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสถิติเพียง  19% เมื่อปี 2008 ในขณะที่ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมนั้นครอบครัวเกษตรกรเพียง 30% เท่านั้นที่พึ่งพาอาหารที่ผลิตได้จากฟาร์ม ในบางพื้นที่นั้นเช่นภาคใต้ เกษตรกรเพียง 6% เท่านั้นที่พึ่งพาอาหารจากไร่นาของตนเอง

            สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครอบครัวคนส่วนใหญ่ในประเทศนั้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้นการสนับสนุนให้ผลิตอาหารไว้กินเองต้องเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่แค่เรื่องทำกันเล่นๆหรือส่งเสริมกันเล่นๆอีกต่อไป นักเศรษฐศาสตร์ ต้องบอกให้ได้ว่าการผลิตไว้กินเองนั้นดีอย่างไรในสถานการณ์ที่จะเกิดวิกฤติอาหารเกิดขึ้น ระบบและกลไกรองรับเพื่อเอื้ออำนวยให้คนผลิตเพื่อบริโภคเองต้องวางแผนและผลักดันให้เกิดขึ้น  หน่วยงานของรัฐและภาควิชาการไม่ควรปล่อยให้ระบบการผลิตและกระจายอาหารถูกผูกขาดโดยผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่ราย เหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

          5) ความจำเป็นที่จะต้องจัดทำรายงานว่าด้วยเรื่องการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (Food Self Sufficiency Ratio หรือ Food Self Sufficiency Status)

            รายงานที่บอกสถานะการพึ่งพาตนเองด้านอาหารทั้งระดับประเทศและระดับครอบครัวหรือชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร   เราควรเรียนรู้ในประเด็นนี้จากรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งมีการดำเนินการมาหลายปีแล้ว เพื่อยกระดับเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านอาหารให้เพิ่มขึ้นลำดับ

            รัฐบาลและสังคมไทยต้องใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการวางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ และผลกระทบอื่นๆ  เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การผลิตทางการเกษตรหลายสาขาของเราต้องเลิกไป ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อาจแข่งขันได้ในเรื่องราคาและต้นทุนจากสินค้าเกษตรของประเทศที่เรามีความตกลงการค้า

สรุปความ

            ประเทศไทยต้องสร้างสมดุลระหว่างการผลิตอาหารและการแปรพืชและพื้นที่เกษตรกรรมไปสู่การพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน แต่อย่างไรเสีย “อาหารต้องมาก่อนเสมอ (Food First Policy)” เสมอ

            ความหมายของ “อาหารมาก่อน” นั้นหมายถึง การพึ่งพาตนเองด้านอาหารของครอบครัวและชุมชนด้วย นัยของความมั่นคงทางอาหาร จึงไม่ใช่นิยามของเอฟเอโอที่บัญญัติอย่างแคบๆ แต่ต้องมองมิติของอิสรภาพและการพึ่งพาตนเองของชุมชนและประเทศเป็นสำคัญ ควาหมายของความมั่นคงทางอาหารจึงหมายถึง

“สภาวะที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิและได้รับอาหารที่เพียงพอ มีโภชนาการ และปลอดภัย โดยที่เกษตรกรรายย่อย ชาวประมง และชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถพึ่งพาตนเองในด้านปัจจัยการผลิต ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติในระดับสูง มีระบบการผลิต และการกระจายอาหารไปสู่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน เกื้อกูล และเป็นธรรม ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในทุกระดับ รวมทั้งสามารถสืบทอดวัฒนธรรมอาหาร และวิถีชีวิตของท้องถิ่นที่เกื้อกูลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมั่นคง”


[1] ข้อมูลจากสถาบันอาหาร http://fic.nfi.or.th/th/thaifood/default.asp (เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2553)[2]  รายงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 มกราคม 2553[3] แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน[4] ตัวเลขนี้ยังไม่แน่นอนเนื่องจากอาจมีเกษตรกรประมาณ 100,000 รายที่ทะเบียนไม่ถูกต้องตามระเบียบของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู[5]สัมภาษณ์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ รักษาการเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร/ส.ปชส.ตราด วันที่ 1/10/2551 20:09:08  [6] การสำรวจข้อมูลภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร ปีเพาะปลูก 2547/48 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำนวน 13,200 ครัวเรือนแทนประชากรภาคเกษตรทั่วประเทศ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจได้ถูกนำมาประมวลผลตามวิธีการทางสถิติ

FoodNationalPlan-11-1.ppt